ชีวิต 'เด็กไทย' หลังโควิด เลือกตั้ง เผชิญกับ 6 ปัญหา เสี่ยงซึมเศร้าโดนทำร้าย
เปิดผลสำรวจคุณภาพชีวิต 'เด็กไทย' หลังโควิดและเลือกตั้งหลายชีวิตเผชิญกับ 6 ปัญหาใหญ่ เสี่ยงซึมเศร้า โดนทำร้าย การเรียนถดถอย จี้รัฐต้องเร่งดูแล
การดูแลเด็กไทยยังคงเป็นอีกโจทย์ใหญ่และความท้าทายหลังเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า "เด็กไทย" บอบช้ำมาค่อนข้างมาก ทั้งจากการเปลี่ยนนโยบายด้ายการศึกษา ปัญหาโควิดระบาด รวมทั้งปัญหาการเมืองที่ยึดโยงระบบการศึกษาเอาไว้ ส่งผลให้ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล เด็กไทย ก็จะต้องเริ่มนับหนึ่งกับนโยบายการศึกษา ใหม่ทันที
ดังนั้นการสร้างความมั่นคงด้านการศึกษาให้ "เด็กไทย" หลังปัญหาโควิด-19 และหลังการเลือกตั้งจึงเป็นจุดเรื่มต้นสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องให้ความสำคัญ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดยความร่วมมือระหว่างสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กับศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 Public Policy Think Tank : 101 PUB) จัดเสวนาสาธารณะ เด็กและครอบครัวไทยใน 2 ทางแพร่ง ได้รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2566 เผยแพร่รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2566
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่เด็กและครอบครัวไทยเผชิญกับความพลิกผันของทั้งสังคมโลกและสังคมไทย 2 เรื่องใหญ่ หรือ สองทางแพร่ง คือสถานการณ์ หลังโควิด และ หลังเลือกตั้ง ดังนั้น รัฐบาลใหม่ควรดำเนินนโยบายเด็ก เยาวชน และครอบครัวอย่างไรจึงจะสนับสนุนคุณภาพชีวิต และสุขภาวะของเยาวชนและครอบครัวได้ดีที่สุด ผ่านมุมมองของผู้แทนเยาวชน นักการเมือง และนักวิชาการ พร้อมสำรวจความคิดเห็นเยาวชน 20,000 คน ที่จะทำให้เราเข้าใจตัวตน-ความคิดของ เด็กสมัยนี้อย่างแท้จริง
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 2 กล่าวว่า ในปี 2565 มีอัตราเด็กเกิดใหม่ต่ำสุดในประวัติศาสตร์เพียง 502,000 คน ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 595,965 คน มีอัตราผู้สูงอายุเพิ่มกว่า 800,000 คน "เด็กไทย" ในปัจจุบันต้องเผชิญกับการแข่งขัน และความท้าทายต่างๆ มากขึ้น จากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหารากเหง้าของสังคมเหมือนภูเขาน้ำแข็ง ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะเรื่องรายได้ แต่รวมถึงโอกาส อำนาจ สิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยมีเด็ก 40% ที่พ่อแม่ต้องทิ้งให้อยู่กับปู่ยาตายาย ทิ้งภาคการเกษตรไปหารายได้ในภาคอุตสาหกรรม เชื่อมโยงเป็นปัญหาครอบครัวและสังคม
"เด็กไทย" และครอบครัวไทยกำลังเผชิญ 2 ทางแพร่ง ได้แก่ ทางแพร่งหลังโควิด และหลังเลือกตั้ง โดย นายวรดร เลิศรัตน์ และ นายสรัช สินธุประมา นักวิจัยและบริหารการวิจัย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว นำเสนอรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023 ของ คิด for คิดส์ อธิบายเพิ่มเติมว่า มี 6 สถานการณ์สำคัญ
1.เติบโตในครอบครัวเปราะบางซ้ำซ้อนและยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤต รายได้ครัวเรือนหดหาย เป็นหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีเด็กฟื้นตัวยากกว่าจนกระทบกับคุณภาพชีวิตและการพัฒนา
2.เยาวชนมีงานที่ดีและสอดคล้องกับความฝันได้ยากขึ้น 15% ไม่มีงาน ไม่ได้รับการจ้างงาน ไม่ได้เรียน หรือฝึกทักษะ ส่วนหนึ่งเพราะหางานที่ดีได้ยาก และต้องดูแลที่บ้านเป็นหลัก
3.ไม่ได้รับการฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอยและพัฒนาทักษะจำเป็นจากระบบการศึกษา การปิดสถานศึกษาช่วงโควิดทำให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย
4.เผชิญปัญหาเครียดและซึมเศร้า แต่เข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้ไม่ทั่วถึง บริการดูแลสุขภาพจิตเหลื่อมล้ำสูง กระจุกในเมืองใหญ่
5.ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจำนวนมากขึ้น ในรูปแบบซ่อนเร้นยิ่งขึ้น ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา และเปราะบางต่อภัยคุกคามออนไลน์มากขึ้น
6.เด็กและเยาวชนฝันถึงสังคมใหม่ สังคมที่คุ้มครองเสรีภาพทางความคิด ทลายระบบอุปถัมภ์-เส้นสาย แก้ทุจริต ปฏิรูปเศรษฐกิจให้ทุกคนกินดีอยู่ดี มีโอกาสเสมอกัน