ชีวิตดีสังคมดี

'สมรสเท่าเทียม' เกิดไม่เกิด พม.พูดแล้ว

'สมรสเท่าเทียม' เกิดไม่เกิด พม.พูดแล้ว

25 ส.ค. 2566

10 ปีผลักดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิต หรือ "สมรสเท่าเทียม" แต่ยังไม่สำเร็จ ล่าสุดถึงขั้นตอนนี้แล้วแต่ถูกขอเลื่อนเข้าสภา ด้าน พม.มั่นใจว่าต้องได้รับรองโดยเร็ว

"น.ส.แรมรุ้ง วรวัธ" อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงการเรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมประเด็น "พ.ร.บ.คู่ชีวิต" ("สมรสเท่าเทียม") ว่า การจัดทำกฎหมายรับรองเพศไม่เปิดกว้างให้ใช้คำนำหน้านามในเอกสารราชการที่ไม่ตรงกับเพศสภาพ เขามองว่ากระทบต่อชีวิตต่อกลุ่ม  "LGBTQ+"  อย่างมาก

 

 

 

น.ส.แรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ระหว่างปาฐกถาพิเศษ : ความหลากหลายและเท่าเทียมในสังคมยุคใหม่ ในงาน Equity for All เพราะทุกคนเท่ากัน ที่โรงภาพยนตร์ที่ 6 พารากอน ซีนีเพล็กซ์ จัดโดยโพสต์ทูเดย์ และเครือเนชั่น กรุ๊ป เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2566

 

 

 

นอกจากนี้ ยังรวมถึงปัญหาการเข้ารับบริการทางการแพทย์ ทั้งภาครัฐและเอกชน การสมรส การรับรองเพศสภาพ เรื่องเหล่านี้ พม.กำลังรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และมั่นใจว่า ต้องได้รับรองโดยเร็ว
 

"น.ส.แรมรุ้ง" อธิบายต่อว่า พม.ได้ประกาศเจตนารมย์ เรื่องการส่งเสริมความความเสมอภาค ไม่เลือกปฎิบัติ ความไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ร่วมกับอีก 63 หน่วยงานทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และพรรคการเมืองทั้งหมดแสดงจุดยืนเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมแห่งความเท่าเทียมระหว่างเพศ เช่น การแต่งกายตามสภาวะเพศสภาพของบุคคล เป็นต้น

"ผู้บริหาร พม.มีนโยบาย ชัดเจนว่า ถ้าเราเลือกแล้วว่าจะเป็นเพศใดให้ข้าราชการและบุคคลากรทุกคนสามารถแต่งกาย ได้ตามเพศที่เราเลือก เพื่อสร้างความมั่นใจในตัวตนของบุคคลนั้นๆ ซึ่งจะมีความสุขและมีประสิทธิภาพในการทำงาน" "น.ส.แรมรุ้ง" อธิบาย 

 

 


"น.ส.แรมรุ้ง" บอกต่อว่า พม.ให้ความสำคัญ เคารพในคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียมกันไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีเชื้อชาติใด สีผิวแบบไหน เพศอะไร ใช้ภาษาใด นับถือศาสนาใด รวมถึงความเชื่อทางการเมืองที่ไม่เหมือนกัน

 

 

 

และไม่ว่า สถานภาพอื่นๆ ที่ติดตัวมา ทั้งเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้ที่พึ่ง กลุ่มชาติพันธุ์ หรือผู้ที่มีความหลากหลายในสถานะทั้งหลาย ที่อยู่ในประเทศไทยและในโลกนี้ ท่ามกลางสังคมปัจจุบันที่มีทั้งความหลายหลายและความเคลื่อนไหว และความเห็นที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็เพื่อผลักดันให้สังคมเต็มไปด้วยความเสมอภาคในทุกมิติ

 

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กฎหมาย "สมรสเท่าเทียม" ขณะนี้ร่างกฎหมายอยู่ระหว่างรอเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลชุดใหม่ หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียที่อนุญาต "สมรสเท่าเทียม" ส่วนประเทศแรกคือ ไต้หวัน

 

 

 

"น.ส.แรมรุ้ง" ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมในการกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "ความหลากหลายและเท่าเทียมในสังคมยุคใหม่" ในงาน Equity for All เพราะทุกคนเท่ากัน ณ โรงภาพยนตร์ที่ 6 พารากอน ซีนีเพล็กซ์ จัดโดยโพสต์ทูเดย์และเครือเนชั่น กรุ๊ป อีกว่า จากรายงานการศึกษาและประเมินความก้าวหน้า การขับเคลื่อน SDG (เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน) ของแต่ละประเทศ พร้อมกับการจัดอันดับ SCG INDEX 2023 พบว่า ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 44 จากทั้งหมด 163 ประเทศ เมื่อเทียบกับในระดับภูมิภาคเอเซีย ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 3 รองจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยประเทศไทยอยู่อันดับที่ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรั้งอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียนมาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน