'รฟม.' เดินหน้าเชื่อมระบบ EMV ขานรับนโยบายคมนาคมเร่งเปิดบริการสายสีชมพู
'รฟม.' เดินหน้าเชื่อมระบบ EMV เดินทางระบบแบบไร้รอยต่อ ขายรับนโยบายเร่งเปิดให้บริการ รถไฟฟ้าสายสีชมพู พร้อมสร้างระบบขนส่งคมนาคม เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม มีนโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัด โดยมุ่งเน้นความสุขของประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัย การให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยได้มอบหมายให้ รฟม. ดำเนินการ ให้บริการรถไฟฟ้า ให้ครอบคลุมในทุกมิติทั้งภาคบริการประชาชน การเร่งรัดงานก่อสร้างรถไฟฟ้าให้เสร็จตามแผน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งตนได้ให้แนวทาง ดังนี้
1.สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล เรื่อง รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย โดย รฟม. ควรติดตามประเมินความคุ้มค่าด้านจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มมาในระบบเปรียบเทียบกับรายได้ หลังจากดำเนินมาตรการลดค่าโดยสารของรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) แล้ว และในระยะต่อไปให้ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ร่วมกับ รฟม. ศึกษาแนวทางและจัดทำข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายที่เหมาะสมสำหรับการกำหนดอัตราค่าโดยสาร โดยอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เป็นภาระทางการเงินของหน่วยงานภาครัฐในอนาคต ควบคู่กับการจัดทำแผนในการเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้เพิ่มเติม ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้บริการ
2. สนับสนุนให้ รฟม. เสนอขอแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของหน่วยงานให้ทันสมัย สามารถพัฒนาภารกิจของหน่วยงานต่อไปได้ โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ และเป็นช่องทางการเพิ่มรายได้ให้แก่ รฟม. ในอนาคต
3. เร่งรัดการดำเนินการโครงการ การก่อสร้างที่ค้างอยู่ เพื่อจะสามารถตอบสนองความต้องการและการใช้ประโยชน์ของประชาชนที่รอรับบริการจากภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ รฟม. ควรพิจารณาเร่งรัดการคืนผิวจราจรหรือให้ใช้พื้นผิวจราจรสำหรับกิจกรรมก่อสร้างเท่าที่จำเป็น และไม่กระทบต่อการสัญจรของประชาชนหรือให้กระทบน้อยที่สุด ตลอดจนให้มีการประสานบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนให้ได้มากที่สุด รวมถึงกำกับดูแลให้มีการลอกท่อระบายน้ำในแนวก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขัง และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงฤดูฝน
4. ยกระดับการให้บริการ กระตุ้นให้ประชาชนใช้บริการของ "รฟม." เพิ่มมากขึ้น อาทิ พัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างประสบการณ์ในการเข้าถึงข้อมูลและบริการต่างๆ ของ รฟม. ให้สอดคล้องกับกระแสโลกยุคปัจจุบันมากขึ้น, จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในสถานี เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม ทุกประเภท สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เป็นต้น
5. สนับสนุนการเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า ทางเดินคนโดยสาร หรือทางเข้า-ออกสถานีรถไฟฟ้า กับอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าของ รฟม.
อีกทั้งยังได้เน้นย้ำให้ "รฟม." ดำเนินการตามแผนงานที่สำคัญของหน่วยงานให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในกรอบเวลาที่ชัดเจน โดยเร่งรัดการเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (MRT สายสีชมพู) ให้เร็วขึ้น จากแผนเปิดให้บริการภายใน มิ.ย. 2567 ดำเนินกิจการของหน่วยงานอย่างสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย พัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เชื่อมโยงการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นได้อย่างไร้รอยต่อ เพื่อประโยชน์สูงสุดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตลอดจนเป็นหน่วยงานที่สามารถสร้างรายได้พี่งพาตนเองได้เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาระการเงินของประเทศ
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า "รฟม." เตรียมบูรณาการทำงานร่วมกับ รฟท. และธนาคารกรุงไทย จำกัด ในการพัฒนาการเชื่อมต่อระบบ EMV Contactless ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อรองรับการจัดเก็บค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ของ รฟม. และ รถไฟชานเมือง สายสีแดง ของ รฟท. ในอัตราค่าโดยสาร 2 สาย สูงสุด 20 บาท รวมถึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า สูงสุดไม่เกิน 20 บาท ของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม พร้อมกันนี้จะเร่งรัดกำกับการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของ รฟม. ทุกสายให้มีความก้าวหน้าตามแผนงาน เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
นอกจากนี้ "รฟม." ยังนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาบริการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชนอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการ MRTA Smart Parking ระบบบริหารจัดการที่จอดรถอัจฉริยะ ให้ผู้ใช้บริการเข้า-ออก บันทึกส่วนลด ชำระค่าบริการ ตรวจสอบข้อมูลช่องจอดว่างและอื่นๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น, โครงการ Taxi EV พัฒนาระบบ Feeder สำหรับผู้โดยสารรถไฟฟ้าเดินทางถึงที่หมายในชุมชนได้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สามารถเรียกรถได้บนแอพพลิเคชัน MRTA Parking, โครงการ Smart Pier จัดทำระบบประชาสัมพันธ์ข้อมูลดิจิทัลบริเวณท่าเรือสถานีสะพานพระนั่งเกล้า ที่บูรณาการข้อมูลการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งล้อ เรือ รางไว้อย่างครบครัน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทาง ฯลฯ ซึ่งทุกโครงการข้างต้นจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2567
ตลอดจนยึดหลัก Universal Design เป็นหัวใจสำคัญในการออกแบบก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าเพื่อสามารถรองรับผู้ใช้บริการทุกคน ทุกประเภทได้อย่างเท่าเทียม ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมในการออกแบบก่อสร้างตามหลักการ Green Construction ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องตามโยบายของกระทรวงคมนาคมด้าน “คมนาคม เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น” (Green Transport) ป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ ทั้งในระยะก่อสร้างและระยะดำเนินการ อาทิ การนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Hydraulic Cement) ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตต่ำ เข้ามาใช้ทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (Portland Cement) รูปแบบเดิม สำหรับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) และโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)