ชีวิตดีสังคมดี

วิเคราะห์สิทธิ 'ลาปวดประจำเดือน' ต้องแยกจากลาป่วยปกติ มีผลดีมากกว่าผลเสีย

วิเคราะห์สิทธิ 'ลาปวดประจำเดือน' ต้องแยกจากลาป่วยปกติ มีผลดีมากกว่าผลเสีย

17 พ.ย. 2566

นักวิชาการวิเคราะห์สิทธิ 'ลาปวดประจำเดือน' ควรแยกชัดเจนจากลาป่วยปกติ มีผลดีมากกว่าผลเสีย ระเบียบของมธ. หากดีอนาคตเป็นแนวทางในการแก้กฎหมายแรงงานได้

ยังคงเป็นเรื่องราวที่สร้างประเด็นถกเถียงกันในสังคงถึงรูปแบบและวิธีการให้ "ลาปวดประจำเดือน" หลังจากที่องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เผยแพร่ประกาศกำหนดให้มีวันลาหยุดสำหรับผู้มีประจำเดือน โดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถือว่าเป็นหน่วยงานแรกที่ได้ริเริ่มและเห็นถึงความสำคัญของเพศสภาพและเพศสภาวะ และความเท่าเทียมรวมไปถึงสิทธิที่นักศึกษาหญิง และผู้หญิงควรจะได้รับโดยไม่ส่งผลกระทบต่อทั้งเรื่องงานและเรื่องเรียน 

 

 

 

เกี่ยวกับแนวคิดการ "ลาปวดประจำเดือน"  ดูเหมือนจะเป็นไปในทิศทางที่ดีต่อสังคมไทยมากกว่าเสีย เพราะสิทธิในการลา หรือการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำสามารถเริ่มต้นขึ้นได้จากความใส่ใจในรายละเอียดของคนทุกเพศทุกวัน ซึ่ง รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมสาสตร์ ผู้ขับเคลื่อนด้านรัฐสวัสดิการแรงงาน ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ 

 

 

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ระบุว่า เป็นแนวคิดที่ดีที่ฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีแนวคิดที่ให้สิทธินักศึกษาหญิง "ลาปวดประจำเดือน" ได้ แต่ในประกาศดังกล่าวยังคงให้อำนาจและให้ดุลยพินิจแก่ครูผู้สอนในการพิจารณาอยู่ และหากเปรียบเทียบกรณี "ลาปวดประจำเดือน" ก็เป็นการลาป่วยนั้น  หากการลาป่วยไม่ได้ตรงกับวันสอบ หรือวันสำคัญก็ไม่ต้องยื่นใบรับรองแพทย์  ทั้งนี้ตนมองว่ากรณีนี้ต้องการที่จะแสดงให้เห็นว่าเราไม่ต้องการให้เรื่องเพศสภาพหรือเพศสภาวะ มาเป็นอุปสรรคในการเรียนการสอน  หรือวัดความได้เปรียบเสียเปรียบ 

 

 

ดร.ษัษฐรัมย์ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็น "ลาปวดประจำเดือน" เพิ่มเติมว่า ระเบียบดังกล่าวถือว่าเป็นนเรื่องที่ดี แต่อาจจะต้องทำให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะขณะนี้ยังคงใช้ดุลยพินิจของครูผู้สอนอยู่ดังนั้นในอนาคตจะต้องมีการกำหนดการลาที่ชัดเจนไปเลย โดยเฉพาะในรายวิชาที่เป็นวิชาปฏิบัติหรือการลงพื้นที่ รวมไปถึงกรณีขาดสอบ เพราะปวดท้องประจำเดือนที่อาจจะต้องให้สอบใหม่หรือสอบซ่อมได้หรือไม่ ตนมองว่าอนาคตจะต้องมีการกำหนดเกณฑ์ให้ชดเจนและรอบด้านมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ระเบียบดังกล่าวก็ได้สะท้อนความก้าวหน้าในการสร้างความเท่าเที่ยมในสังคมให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ดร.ษัษฐรัมย์ ยังบอกอีกว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อาจจะเป็นต้นแบบให้กับภาคส่วนอื่นๆ ได้ หากทำไปแล้วมีการวัดผลว่ากรณีให้ "ลาปวดประจำเดือน" ทำให้ผลการสอบ หรือผลการเรียน เป็นไปในทิศทาที่ดีขึ้น  อนาคตอาจจะกลายมาเป็นแนวทางในการแก้ไขกฎหมายของกระทรวงแรงงาน และเป็นแนวทางให้สส. นำไปพิจารณาปรับแก้กฎหมายได้เช่นกัน ทั้งนี้ตนคิดว่าแนวคิดการให้ "ลาปวดประจำเดือน" ไม่ได้ส่งผลเสียต่อการเรียนหรือการทำงาน  เพราะไม่ได้มีผลทำให้นักศึกษา หรือพนักงานลากันจำนวนมากมาย แต่สำหรับตนมองว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้นด้วยซ้ำ