ชีวิตดีสังคมดี

สถานการณ์  บูลลี่ในไทย รุนแรง วิกฤต ออนไลน์ทำร่องรอยกลั่นแกล้งอยู่นานขึ้น

สถานการณ์ บูลลี่ในไทย รุนแรง วิกฤต ออนไลน์ทำร่องรอยกลั่นแกล้งอยู่นานขึ้น

09 ม.ค. 2566

สถานการณ์ บูลลี่ในไทย รุนแรงเข้าขั้นวิกฤต ทุกคนเคยผ่านการถูก บูลลี่ มาเกือบ 100% สังคมออนไลน์สร้างร่องรอยการกลั่นแกล้งให้อยู่นาน และขยายวงกว้างมากขึ้น

จากพฤติกรรมการ บูลลี่ ที่ปัจจุบันเริ่มมีมากขึ้นจนส่งผลกระทบไปถึงสุขภาพจิตของผู้ที่ถูก บูลลี่ สร้างความเสียหายต่อ ครอบครัว สังคมไทยอย่างมาก โดยเฉพาะในปัจจุบัน ที่เกิดการ บูลลี่ จนทำให้สังคมเกือบมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือความปกแล้วนั้น  ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และผู้จัดการสายด่วนอินเทอร์เน็ตไทยฮอตไลน์  ภาคีเครือข่าย สสส. ให้สัมภาษณ์กับ คมชัดลึกออนไลน์ ถึงสถานการณ์การ "บูลลี่ในไทย" ว่า  ปัจจุบันสถานการณ์การ "บูลลี่ในไทย" เริ่มเข้าขั้นวิกฤต

 

จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า ไทยมีการ บูลลี่ มากเป็นอันดับสองของเอเชียรองจากประเทศญี่ปุ่น และการ "บูลลี่ในไทย" ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่มีโลกออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตคนในสังคม โดยจากการที่ตนได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรม พบว่าเกือบ 100% ทุกโรงเรียนมีการ บูลลี่ เกิดขึ้นเป็นประจำ และข้อมูลที่น่าตกใจคือ ครู หรือผู้ใหญ่ รวม บูลลี่ ด้วย เด็ก ๆ หลายคนล้วนแล้วแต่เคยผ่านการถูก บูลลี่ มาแล้วเกือบทั้งสิ้น

ดร.ศรีดา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ตนยังพบว่า สังคมออนไลน์มีส่วนทำให้การ "บูลลี่ในไทย" มีความรุนแรงและมีผลกระทบต่อบุคคลที่ถูก บูลลี่ มากกว่าที่ผ่านมา เพราะในอดีตการ บูลลี่เริ่มต้นและจบลงในสถานที่นั่น ๆ เช่นโรงเรียน หรือที่ทำงาน  แต่สังคมออนไลน์ทำให้ร่องรอยการถูกบูลลี่อยู่นานขึ้น และคงอยู่ตลอดไป อีกทั้งยังสามารถกระจายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะบุคคลที่ 3 ที่ไม่ได้ถูก บูลลี่ โดยตรงแต่อาจจะมีคนที่มีลักษณะเดียวกันเกิดการมีอารมณ์ร่วม และเข้ามาเขียนคอมเมนต์ เพราะเกิดความรู้สึกว่าโดนทำร้ายไปด้วย จนทำให้เกิดการทะเลาะที่รุนแรงในโลกออนไลน์ นอกจากนี้การบูลลี่ในโลกออนไลน์ หรือ social bullying ยังส่งผลกระทบไปถึงครอบครัวของผู้ที่โดนบูลลี่ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า สังคมออนไลน์ทำให้การ "บูลลี่ในไทย" ขยายวงกว้าง มีความรุนแรง และรุกลาม มากกว่าที่ผ่านมา

ดร.ศรีดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนใหญ่การ "บูลลี่ในไทย" ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน และที่ทำงานนั้น จะเป็นการพูดถึงลักษณะภายนอก เช่น อ้วน ดำ รวมไปปมด้อยทางร่างกาย การเหยียดรสนิยมทางเพศ การด่าทอบุพการี ซึ่งตนเห็นว่า คุณครู รวมไปถึงผู้ปกครอง ไม่ควรจะมองเรื่องการ บูลลี่ เป็นเรื่องธรรมดา และปล่อยให้เด็กจัดการกันเอง เนื่องจากบางครั้งเด็กๆม่สามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ และอาจจะสร้างนิสัยการใช้ความรุนแรงในช่วงวัยเด็ก ต่อเนื่องมาจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งจะก่อให้เกิดการเป็นอัธพาล และนำมาซึ่งอาชญากรรมในอนาคต

 

 

ดังนั้น สถาบันครอบครัว และโรงเรียนจึงจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับการที่เด็กถูก บูลลี่ มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ได้มีการส่งเสริมให้เด็กเกิดภาวะการปกติตัวเองจากการ บูลลี่ และไม่ให้ความสำคัญกับการ บูลลี่ รวมไปถึง การสร้างให้บุคคลภายนอกตื่นตัวที่จะลุกขึ้นมา คอมเมนต์ เพื่อปกป้องผู้ที่กำลังถูก บูลลี่ อยู่ ซึ่งตนเชื่อว่า หากมีคนลุกขึ้นมาแสดงความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คน บูลลี่ กำลังทำอยู่ และโต้แย้งเตือนสติคนที่กำลัง บูลลี่ คนอื่นอยู่ จะช่วยลดพฤติกรรมการ "บูลลี่ในไทย" ลง เพราะตนเห็นว่า ไม่ว่าสถานการณ์ "บูลลี่ในไทย" ณ ตอนนี้จะถูกจัดอันดับให้อยู่ที่เท่าไหร่ แต่ก็ไม่ควรจะมีการบูลลี่คนอื่นในสังคมอีกเลย

 

 

ด้านข้อมูล จาก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า  เด็กกว่า 91% เคยถูกบูลลี ตบหัว ล้อพ่อแม่ พูดจาเหยียดหยาม พบ 43% คิดจะตอบโต้เอาคืน 18% ไม่มีสมาธิเรียน 15% ไม่อยากไปโรงเรียน 13% ซึมเศร้า  โดยเด็กอายุ 10 – 15 ปี ใน 15 โรงเรียน พบว่า ร้อยละ 91 เคยถูกบูลลี่ ซึ่งวิธีการที่ใช้มากที่สุด คือ การตบหัว ล้อชื่อพ่อชื่อแม่ ถูกเหยียดหยาม ล้อปมด้อย พูดจาเสียดสีสารพัด ทั้งนี้การกลั่นแกล้งมักเกิดขึ้นที่โรงเรียน ในเวลาหลักเลิกเรียน ที่สนามเด็กเล่น ลานอเนกประสงค์ หรือแม้แต่เส้นทางกลับบ้านของนักเรียน