ชีวิตดีสังคมดี

'แบตเตอรี่รถไฟฟ้า' กราฟีน ทางเลือกใหม่คนใช้ รถยนต์ EV ทั้งถูกและทน

'แบตเตอรี่รถไฟฟ้า' กราฟีน ทางเลือกใหม่คนใช้ รถยนต์ EV ทั้งถูกและทน

20 มี.ค. 2566

นวัตกรรม 'แบตเตอรี่รถไฟฟ้า' กราฟีน ทางเลือกใหม่คนใช้ รถยนต์ EV ทนทาน ปลอดภัย ชาร์จไฟฟ้าได้สูงสุด 10,000 รอบ อนาคตคนไทยซื้อได้ถูกลง 50-60%

เทรนด์การใช้ รถยนต์ไฟฟ้า ในประเทศไทยเริ่มเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น เนื่องจาก รถยนต์EV ช่วยประหยัดเงินในกระเป๋า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่ยังทำให้คนใช้ รถยนต์EV เป็นกังวลใจคือ ราคา "แบตเตอรี่รถไฟฟ้า" ปัจจุบันมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 70,000-80,000/โมดูล โดย  รถยนต์EV  1 คันจะให้แบตเตอรี่ประมาณ 16-20 โมดูล ซึ่งหากแบตเตอรี่เสื่อมสภาพเจ้าของรถก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินเปลี่ยนค่อนข้างแพง 
 

 

 

อย่างไรก็ตามการมีทางเลือก หรือ นวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับผู้ใช้ รถยนต์EV ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น โดย  รศ.ดร. เชรษฐา รัตนพันธ์ หัวหน้าหน่วยวิจัยนวัตกรรมและวัสดุอัจฉริยะ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ให้สัมภาษณ์กับ คมชัดลึก ถึงนวัตกรรม "แบตเตอรี่รถไฟฟ้า" กราฟีน ว่า เพื่อเป็นการรองรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถEV ที่ในอนาคตจะมีประชาชนเลือกใช้รถบนประเภทนี้มากยิ่งขึ้น ดังนั้น  สจล.จึงได้คิดค้น แบตเตอรี่กราฟีน ขึ้นมา เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใช้ รถEV ให้มีแบตเตอรี่รถยนต์ ที่มีประสิทธิภาพสูง ทนทานมีความปลอดภัยและมีราคาถูกลงกว่า "แบตเตอรี่รถไฟฟ้า" ที่มีขายอยู่ทั่วไป  

 

 

สำหรับ  "แบตเตอรี่รถไฟฟ้า" กราฟีน ที่ สจล.คิดค้นขึ้นมานั้น กราฟีน มีความสามารถในการกักเก็บประจุไฟฟ้าได้มากขึ้น และมีอัตราการอัดประจุได้ที่รวดเร็วขึ้นกว่าแบตเตอรี่แบบเดิม (Fast Charge) ยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่ได้เท่าตัว ราคาถูก ไม่ติดไฟ ไม่ระเบิด จึงปลอดภัยต่อการใช้งาน ทั้งนี้ตั้งเป้าว่า หากสามารถผลิต  "แบตเตอรี่รถไฟฟ้า" กราฟีน ได้สำเร็จจะทำให้ผู้ใช้รถยนต์ EV ในประเทศไทยสามารถซื้อแบตเตอรี่ได้ในราคาที่ถูกลง กว่า 50-60 %  เนื่องจากกราฟีนที่จะนำมาทำแบตเตอรี่นั้นไม่ได้มีการนำเข้าจากต่างประเทศเหมือนกับแบตเตอรี่ลิเธียมจึงทำให้มีราคาถูกลง

 

แบตเตอรี่กราฟีน   
 

นอกจากนี้สร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัสดุการเกษตรเหลือใช้ภายในประเทศ กระจายรายได้สู่ซัพพลายเชนกว้างยิ่งขึ้น สนับสนุนแนวเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ลดปริมาณขยะในสิ่งแวดล้อม ลดการนำเข้า มีประสิทธิภาพสูง แต่ราคาถูกกว่าลิเธียมไอออนมาก เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve Industry) และประเทศไทยก้าวเป็นฮับ EV รวมทั้งสังคมที่ยั่งยืน 
    

 

รศ.ดร. เชรษฐา กล่าต่อว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้  สจล.ได้มีการคิดค้นและวิจัย  "แบตเตอรี่รถไฟฟ้า" กราฟีน ในระดับห้องปฏิบัติการ โดยก่อนที่จะทดลองใช้ในรถยนต์ EV จะมีการทดลองในเฟสที่ 3 กับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า  รถตุ๊ก ตุ๊ก คาดการณ์ว่าจะเริ่มทดลองได้ในช่วงปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567  ก่อนที่จะขยายการวิจัยและนวัตกรรมสำหรับ ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า EV เพื่อเป็นแบตเตอรี่ทางเลือกที่ปลอดภัย ไม่ติดไฟ ไม่ระเบิด ใช้ชีววัสดุจากการเกษตรในประเทศ คงทน อายุการใช้งานยาวนาน ช่วยลดภาระขยะในสิ่งแวดล้อม

 

 

สำหรับคุณสมบัติของ กราฟีน นั้น ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกราไฟท์(Graphite)  มีโครงสร้างที่เป็นผลึกความหนาหนึ่งชั้นของอะตอมคาร์บอน บางที่สุดในโลกจนไม่สามารถมองเห็นด้วยสายตา แข็งแกร่งกว่าเพชรและเหล็กกล้าถึง 200 เท่า นำไฟฟ้าได้ดีเยี่ยมมากกว่าทองแดงหลายล้านเท่า นำความร้อนได้ดีมาก โดยกราฟีน 1 กรัม จะมีพื้นผิวเท่ากับ 10 สนามเทนนิส จึงช่วยในเรื่องการเก็บประจุไฟฟ้าได้มากขึ้น 

 

แบตเตอรี่กราฟีน