'วัณโรค' คร่าชีวิตปีละกว่าหมื่นคน ควบคุมเข้มงวดสมุทรสาคร, ตาก
สธ. ห่วงสถานการณ์ 'วัณโรค' หลังพบเสียชีวิตมากกว่าหมื่นรายต่อปี พื้นที่เสี่ยงสมุทรสาคร ตาก วงแผนสกัดโรคจากต้นทางแรงงานข้ามชาติ แถบประเทศเพื่อนบ้าน
"วัณโรค" ฟังดูเหมือนเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่ในทางการแพทย์คือความท้าทายจากอุปสรรครอบด้าน ทั้งการแพร่เชื้อที่ควบคุมได้ยาก เนื่องจากการโยกย้ายถิ่นฐานของ "แรงงานข้ามชาติ" อีกทั้งวินัยทานยาวัณโรคที่หย่อนยาน ทำให้เกิดการดื้อยา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้วางแผนยุติวัณโรคให้ได้ภายในปี 2578
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) ในฐานะประธานคณะกรรมการ MIU (MOPH Intelligence Unit) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทำให้แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะประเทศแถบเพื่อนบ้าน โยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยอยู่ที่ประเทศไทย กำแพงด้านภาษาและวัฒนธรรม ทำให้ไม่สามารถคัดกรอง "วัณโรค" ได้อย่างครอบคลุม
อีกทั้ง อัตราการรักษาสำเร็จต่ำ อัตราการขาดยาสูงกว่าคนไทยหลายเท่า และส่งผลกระทบต่อการดูแลป้องกันวัณโรคในคนไทย "วัณโรค" จึงยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของไทย
ทุกๆ ปีมีผู้เสียชีวิตจาก "วัณโรค" มากกว่า 10,000 ราย โดยปี 2564 ไทยสามารถออกจากรายชื่อประเทศที่มีปัญหาวัณโรคดื้อยามากที่สุดในโลกได้สำเร็จ แต่ยังอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่สูงสุด และมีวัณโรคร่วมกับโรคเอดส์สูงสุด
"เรามีแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อยุติ "วัณโรค" ตั้งแต่ปี 2560 มีเป้าหมายยุติวัณโรคให้ได้ภายในปี 2578 ซึ่งตอนนี้บรรลุผลในระดับหนึ่ง อุปสรรคคือ ปัญหาวัณโรคในแรงงานข้ามชาติ ที่ประมาณการว่ามีมากถึง 4.5 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีอัตราป่วยวัณโรคสูงกว่าไทย" นพ.รุ่งเรือง ระบุ
นพ.รุ่งเรือง อธิบายต่อว่า ทีมวิจัยด้านสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการสาธารณสุข ได้ทำโครงการ “วัณโรคไร้รัฐกับแรงงานไร้พรมแดน : มิติสังคมวัฒนธรรมของวัณโรคในบริบทการพัฒนาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กับความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศไทย” วิจัยปัญหาและพัฒนาข้อเสนอการควบคุม "วัณโรค" ในประชากรแรงงานข้ามชาติ ดำเนินการในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และ จ.สมุทรสาคร
ได้พบว่า 1. อุปสรรคในการคัดกรอง "วัณโรค" การรักษาที่ต่อเนื่อง และการป้องกันการแพร่เชื้อ คือ ปัจจัยส่วนบุคคลทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรม การขาดความรู้เกี่ยวกับโรค การเคลื่อนย้าย ขาดการดูแลคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่เหมาะสมในการทำงาน ขาดความต่อเนื่องของสิทธิรักษาจากปัญหาสถานะบุคคล
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นายจ้างและนายหน้าจัดหาแรงงาน ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ "วัณโรค" จึงขาดการป้องกันตนเองอย่างเหมาะสม ละเลยการปฏิบัติตามกระบวนการคัดกรองและรักษาวัณโรคตามแนวทางที่กำหนด และขาดความใส่ใจดูแลแรงงานที่มีความเสี่ยงหรือป่วยเป็นวัณโรค
และ 3. การได้รับยารักษาวัณโรคจากระบบบริการสาธารณสุขของไทยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย มีการติดตามต่อเนื่องโดยภาคประชาสังคม มีส่วนทำให้แรงงานข้ามชาติที่ป่วย "วัณโรค" ให้ความร่วมมือรับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนหายขาด
นพ.รุ่งเรือง กล่าวสุดท้ายว่า ภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ต้องช่วยกันพัฒนาระบบการดูแลและป้องกันวัณโรคที่ครอบคลุมการคัดกรองและดูแลรักษาที่ต่อเนื่อง ต้องร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ และกองทุนโลก เพิ่มความครอบคลุมการคัดกรองโรคและให้ยารักษา "วัณโรค" โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
และควรร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศ พัฒนาแนวทางการสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้านการควบคุมวัณโรคใน "แรงงานข้ามชาติ" ซึ่งเป็นประเด็นด้านความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ