ชีวิตดีสังคมดี

'ปรับ​ค่าแรงขั้นต่ำ​ ปี​ 2566'​ เสนอ​ 425-723​​ นักวิชาการหนุนปรับ​ 5% 

'ปรับ​ค่าแรงขั้นต่ำ​ ปี​ 2566'​ เสนอ​ 425-723​​ นักวิชาการหนุนปรับ​ 5% 

26 มี.ค. 2566

ผู้นำลูกจ้างเสนอ 'ปรับค่าแรงขั้นต่ำปี​ 2566'​ เป็น 425-723​ บาท​ ด้านนักวิชาการหนุนปรับ​ 5%  ให้ค่าจ้างโตทันเงินเฟ้อ​ พบในรอบ​ 50​ ปี​ 'ค่าแรงขั้นต่ำ'​ เพิ่ม​มา 321  บาท

นายชาลี ลอยสูง ผู้แทนลูกจ้าง​ จากสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย​ (สสรท.) Thai Labour Solidarity Confederation (TLSC)  หรือ​ "คณะกรรมการสมานฉันท์" บอกว่า​ ตอนนี้ยังยืนยัน​ตัวเลขเดิมขั้นต่ำที่​ 492​ บาท และข้อ​เสนอเชิงนโยบายคือต้องเปลี่ยน​คำนิยามจาก  "ค่าแรงขั้นต่ำ" เป็น "ค่าจ้างแรกเข้า"  และให้​รัฐบาล​ออกกฎหมาย​ให้ทุกบริษัท​มีโครงสร้างค่าจ้าง​ หมายความว่า​ จะต้องให้แต่ละบริษัท ​"ปรับค่า​แรงขั้นต่ำปี​ 2566" รายปีตามผลงานประเมิน​ อย่างน้อยต้องไม่น้อยกว่าอัตรา​เงินเฟ้อของแต่ละปี​ และบวกด้วยการประเมินผลงานของแต่ละคนตามโครงสร้าง​

 

นายชาลี ลอยสูง ผู้แทนลูกจ้าง​ จากสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย​ (สสรท.)

 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันรัฐบาลได้เปลี่ยนคํานิยาม "ค่าแรงขั้นต่ำ" ใหม่ว่าหมายถึง “อัตราค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน 1 คน (ไม่รวมสมาชิกในครอบครัว) ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น

 

นิยามใหม่นี้ทำให้มาตรฐานการคุ้มครองลูกจ้างลดต่ำลงจากนิยามแรกที่รวมถึงการครองชีพของคนในครอบครัวที่อาจไม่ได้ทำงานที่ได้รับค่าแรงถึง​ 2​ คน เช่น แม่บ้านที่ต้องดูแลลูก หรือบิดามารดาที่ป่วยหรือสูงอายุจนไม่สามารถทำงานได้ รวมไปถึงไม่สอดคล้องกับแนวคิดค่าแรงขั้นต่ำระดับนานาชาติในปัจจุบันที่กำหนดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ต้องครอบคลุมทั้งความต้องการของแรงงานและครอบครัวด้วย

 

  • ค่าแรงขั้นต่ำลูกจ้างต้องการ

-คณะทำงานฯ กมธ.การแรงงาน 723 บาท
-เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน 495 บาท
-สมาพันธ์​สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.)  492  บาท
-สมัชชาแรงงาน​ 425  บาท

 

  • ค่าแรงขั้นต่ำพรรคการเมืองเสนอ

พรรคเพื่อไทย​เสนอที่ 600​ บาท​ ภายในปี​ 2570​ และเงินเดือนวุฒิปริญญาตรี เริ่มต้น 25,000 บาท ซึ่งมากกว่านโยบายหาเสียงเลือกตั้งปี​ 2562 ของพรรคเพื่อไทย ที่เสนอที่ 400 บาทต่อวัน และเงินเดือนปริญาตรี เริ่มที่ 18,000 บาทต่อเดือน

 

พรรคก้าวไกล​เสนอที่​ 450​  บาท ทั่วประเทศทันทีหลังจากได้รับเลือกเป็นรัฐบาล​  โดย​ช่วง​ 6 เดือนแรก รัฐบาลจะช่วยสมทบเงินประกันสังคมในส่วนของผู้ว่าจ้าง และสำหรับแรงงานที่ถูกกระทบโดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และจะปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นทุกปี โดยการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ปี 2541 มาตรา 87  โดยคำนึงถึงค่าครองชีพ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ระหว่าง 2 ปัจจัยนี้ หากปัจจัยใดเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า ก็ให้นำมาเป็นฐานในการคำนวณปรับ​ "ค่าแรงขั้นต่ำ" ขั้นต้น ที่จะนำไปพิจารณาหารือในคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ในแต่ละปี เป็นต้

 

หาก "ค่าแรงขั้นต่ำ" เป็นจริงได้ตามที่พรรคการเมืองเสนอ​ นั้นหมายความว่า อัตรา​ "ปรับค่าแรงขั้นต่ำปี​ 2566" ในห้วงเวลา​ 50​ ปี​ที่ผ่านมา ค่าจ้างขึ้นมา​ 438​ บาท​ และ​ 588  ในห้วง​เวลา 54​ ปี​ (คำนวณตาม​ตัวเลข 600​ บาทภายในปี​ 2570)  และตัวเลขปัจจุบันอยู่ที่​ 321 บาท​ เพราะประเทศไทยได้ประกาศอัตราค่าแรงขั้นต่ำขึ้นบังคับใช้เป็นครั้งแรกวันที่ 16 เม.ย. ปี 2516 โดยตั้งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันที่ 12 บาทต่อวัน​

 

 

รศ.ดร.กิติยา​ กุลกลการ​ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวด้วยว่า ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อมากกว่าผู้ที่มีรายได้สูง ฉะนั้น​ ในสถานการณ์ที่ค่าครองชีพสูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งถึงระดับ 7% จึงถือเป็นเรื่องดีที่จะมีการปรับขึ้น​ "ค่าแรงขั้นต่ำ" ทั่วประเทศ โดยสัดส่วนการปรับ 5% ตามมติคณะกรรมการค่าจ้างนั้นจะสามารถช่วยแรงงานได้ระดับหนึ่ง

 

รศ.ดร.กิติยา​ กุลกลการ​ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

รศ.ดร.กิริยา กล่าวต่อไปว่า เงินส่วนใหญ่ของคนจนหรือคิดเป็น 45% ของรายได้ ต้องถูกใช้ไปสำหรับการบริโภคอาหาร ขณะที่คนรวยจะมีค่าใช้จ่ายค่าอาหารคิดเป็นเพียง 27% ของรายได้เท่านั้น ตรงนี้สะท้อนว่าในความเป็นจริงแล้วคนจนได้รับผลกระทบจากภาวะ​ "เงินเฟ้อ" ที่สูงกว่า 7% ด้วยซ้ำ

 

รศ.ดร.กิริยา​ กล่าวเสริมอีกว่า​ หากเปรียบเทียบอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่กำลังจะปรับใหม่กับอัตรา​ "ค่าแรงขั้นต่ำ" ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าคนจนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเพียง 15 บาทต่อวันเท่านั้น โดยในอดีตกลุ่มคนจนจะจับจ่ายใช้สอยอยู่ที่ 318 บาทต่อวัน ขณะที่ค่าจ้างใหม่จะทำให้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 333 บาทต่อวันเท่านั้น

 

"ถ้าคิดต่อปี 22 วันต่อเดือนแล้วคูณ 12 เดือนเข้าไป เบ็ดเสร็จเขาสามารถจะใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 3,960 บาทต่อปี ซึ่งก็คิดเป็นประมาณ 4.72% ทีนี้ถ้าเราไปดูจีดีพี ซึ่งคือรายได้รวมของทั้งประเทศ 10 ปีตรงนี้มันโต 20% ฉะนั้นมันก็เหมือนว่ารายได้ของกลุ่มคนรายได้น้อยโตช้ากว่าเศรษฐกิจที่มันโตขึ้น มันก็สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำตรงนี้และชีวิตที่ค่อนข้างจะลำบาก” รศ.ดร.กิริยา ระบุ

 

ข้อมูล:องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

ภาพ:เว็บไซต์​มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​