ฝุ่น 'PM 2.5' ไร้พรมแดน ตั้งกฎหมายอาเซียนเอาผิดต้นตอมลพิษ แก้ได้จริง?
ฝุ่นพิษ 'PM 2.5' หมอกควันปกคลุมน่านฟ้าทางตอนเหนือของไทยยาวนานเกือบ 30 ปี ผู้คนเผชิญกับสภาพอากาศที่เลวร้าย ล้มป่วยกระทบสุขภาพระยะยาว ปัญหาเรื้อรังยังไม่มีทางแก้ แลหาคนรับผิดชอบไม่มี 'กฎหมายอาเซียน' คือทางออกหรือไม่
"มลพิษทางอากาศ" ไม่มีขอบเขตพรมแดน ภาคเหนือของไทยต้องเผชิญ กับคุณภาพอากาศที่เลวร้าย หมอกควัน ฝุ่น "PM 2.5" ในช่วงฤดูหลังเก็บเกี่ยวข้าวโพดของไทยและรัฐฉาน ประเทศเมียนมา
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา (20-29มี.ค.) จุดความร้อนสะสมสูงสุดยังอยู่ที่ประเทศเมียนมา จากอิทธิกระแสลมที่พัดผ่านเข้ามาต่อเนื่อง แนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นไปจนถึงวันที่ 2 เม.ย.นี้ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (ฝุ่น "PM 2.5" ) พุ่งสูงถึง 770 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก. /ลบ.ม.) ที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย เกินค่ามาตรฐานถึง 14 เท่า (มาตรฐานของไทยไม่เกิน 50 มคก. /ลบ.ม.)
ประชาชนทยอยล้มป่วยด้วยโรค "ฝุ่นพิษ" ยอดสะสม 1 สัปดาห์เกือบ 3,500 คน เป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่เคยถูกแก้ไขอย่างยั่งยืน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2550 รัฐบาล "พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์" ได้ประกาศให้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือเป็นวาระแห่งชาติ จากวิกฤตฝุ่นควันที่รุนแรงมากที่สุดปีหนึ่ง จนถึงปีนี้รัฐบาล "พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ได้ประกาศเมื่อเดือน ก.พ. ยกระดับการแก้ปัญหาฝุ่นพิษให้เป็นวาระแห่งชาติอีกรอบ ซึ่งในขณะนั้นมีปัญหาฝุ่นละอองฝุ่น "PM 2.5" ในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งหลายจังหวัดภาคเหนือ แต่จนถึงขณะนี้ใกล้สิ้นมีนาคม ปัญหากลับรุนแรงมากขึ้น
ต้นตอปัญหาถูกพุ่งเป้าไปที่การเผาเศษวัสดุหลังเก็บเกี่ยวข้าวโพด ภายใต้เกษตรพันธสัญญาส่งบริษัทอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ เกษตรกรถูกบังคับด้วยกฎหมายส่งข้าวโพดแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้
เกิดคำถามตัวโตๆ ว่า "ใครคือผู้รับผิดชอบกับปัญหานี้" เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดส่งภาคอุตสาหกรรม บริษัทอุตสาหกรรม หรือรัฐบาลประเทศก่อมลพิษ เป็นคำถามที่ไร้คำตอบ
ข้อมูลจาก "กรีนพีซ" ประเทศไทย พบความเข้มข้นของจุดความร้อนบริเวณภาคเหนือตอนบนประเทศไทย และรัฐฉาน ประเทศเมียนมา จากการวิเคราะห์ดาวเทียม Suomi-NPP ระบบ VIIRS
การวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือ Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer (MODIS) ที่ติดตั้งบนดาวเทียม Terra and Aqua ของนาซาเมื่อปี 2562 พบว่า การเพาะปลูกข้าวโพดครอบคลุมพื้นที่กว่า 3,646,620 ไร่ ในภาคเหนือของประเทศไทย และ 7,524,550 ไร่ในรัฐฉานของเมียนมา และระหว่างธ.ค. ปี 2561 ถึงพ.ค. ปี 2562 ภายในพื้นที่ปลูกข้าวโพดระดับอุตสาหกรรมนี้ ปรากฎข้อมูลจุดความร้อน 6,879 จุด ที่ภาคเหนือตอนบนของไทย และ 14,828 จุด ที่รัฐฉานของเมียนมา
จากการศึกษานี้ พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดที่รัฐฉานของเมียนมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลา 6 เดือน จากในธ.ค. ปี 2561 ซึ่งมีพื้นที่ 4,006.60 ตารางกิโลเมตร เพิ่มเป็นถึง 12,069.33 ตารางกิโลเมตรในพ.ค. ในขณะที่ในภาคเหนือของประเทศไทย พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดครอบคลุมมากที่สุดอยู่ที่ 5,836.81 ตารางกิโลเมตรในเม.ย. ปี 2562 พื้นที่ดังกล่าวนั้นไม่สามารถระบุได้เลยว่าใครเป็นเจ้าของพื้นที่ที่เกิดไฟป่าและก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศจาก "หมอกควัน"
สถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น ทำให้หลายๆ ฝ่ายต่างไม่ทานทนกับผลกระทบ ชาวอ.แม่สาย จ.เชียงราย รวมตัวกันเกือบ 200 คน บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอ เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐช่วยแก้ปัญหาฝุ่น "PM 2.5" เร่งด่วน เพราะผู้คนล้มป่วย ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัว
เช่นเดียวกับ เพจเฟซบุ๊ก "เรียนหมอ" ได้เผยแพร่ภาพแสดงออกถึงผลกระทบที่ได้รับ แม้จะอยู่ในบ้านแต่ฝุ่น "PM 2.5" ยังตามทำร้ายถึงในห้องนอน และวอนขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ รู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เป็นสิ่งที่ต้องทำให้ได้ อากาศที่ดีควรจะเป็นสิ่งที่ทุกคนควรได้รับ ไม่ควรจะเป็นสิ่งที่ต้องใช้เงินซื้อ หรือต้องมาอยู่แค่ภายในที่พัก
"ดร.สนธิ คชวัฒน์" ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้ออกมาส่งเสียงอีกคนว่าภาครัฐต้องประกาศเป็นภัยพิบัติสาธารณภัย ตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติป้องกันและสาธารณภัย 2550
เร่งทำห้องปลอดฝุ่นพิษให้กับกลุ่มคนเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ โดยห้องปลอดฝุ่นต้องทำด้วยแผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง ที่สามารถกรองฝุ่น "PM 2.5" ได้ รัฐต้องทำ ก่อนที่ประชาชนจะเจ็บป่วยมากไปกว่านี้ และถ้าประกาศเป็นภัยพิบัติรัฐบาลก็สามารถนำเงินออกมา เพื่อซื้อหน้ากาก N95 มาแจกให้กับประชาชน และสั่งให้ทำงานที่บ้าน เรียนที่บ้าน และต้องมีมาตรการชดเชยรายได้
อย่างไรก็ตาม ข้อกฎหมายป้องกันและสาธารณภัย มลพิษทางอากาศไม่เข้านิยามคำว่า "สาธารณภัย" ซึ่งครอบคลุม ได้แก่ อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง โรคระบาดในมนุษย์ โรคระบาดสัตว์ โรคระบาดสัตว์น้ำเท่านั้น
"กรีนพีซ" เสนอทางออกท่ามกลางหมอกควันพิษ คือ การที่รัฐภาคีในกลุ่มอาเซียน ร่วมมือกันรวบรวมข้อมูลจัดทำแผนที่และขอบเขตของพื้นที่สัมปทานของผู้ประกอบการ และห่วงโซ่อาหารของเกษตรพันธสัญญา เพื่อปรับปรุงนโยบายความโปร่งใส และการรับผิดชอบของบริษัทต่อการก่อหมอกควันพิษ และการเปลี่ยนแปลงผืนป่า
ประชาชนควรมีสิทธิ์รับรู้ข้อมูลว่าใครคือผู้ที่ก่อไฟสร้างมลพิษในอากาศที่เราหายใจ และสามารถติดตามกดดันให้ภาครัฐลงมือตามมาตรการเอาผิดบริษัทอุตสาหกรรม เพื่อที่จะดับต้นไฟและหยุดการก่อหมอกควันพิษได้อย่างแท้จริง
การทำธุรกิจดังเช่นที่เคยเป็นมาไม่ควรจะเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้ต่อไป หากขาดกฎหมายเอาผิดบริษัทต่อการก่อเกิดไฟ เราก็จะถูกปิดหูปิดตาด้วยหมอกควันพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรมเช่นต่อไป
ข้อมูล:กรีนพีซ, air4thai