ชีวิตดีสังคมดี

เครียดสะสมนานๆ ทำป่วยจิตเวช เปิดอาวุธสำคัญค้นหาผู้ป่วย หยุดการฆ่าตัวตาย

เครียดสะสมนานๆ ทำป่วยจิตเวช เปิดอาวุธสำคัญค้นหาผู้ป่วย หยุดการฆ่าตัวตาย

04 เม.ย. 2566

เครียดสะสมนานๆ เสี่ยงป่วยจิตเวชฆ่าตัวตาย เปิดอาวุธค้นหาภาวะเครียด ง่ายๆ แค่ปลายนิ้วกับ 'Smart​Pulse​' หยุดโรคทางจิตเวชได้ทันก่อนสายเกินแก้

ช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโรค "โควิด 19" ในประเทศไทยมีปัญหาสุขภาพจิตในภาพรวมที่ส่งผลต่อความเครียด ทำให้ "ผู้ป่วยจิตเวช" เฉพาะ "โรคซึมเศร้า" เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว ตัวเลขนี้มาจากกลุ่มตกงาน รายได้น้อย ประสบปัญหาธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชจากกรรมพันธุ์ การค้นหาผู้ป่วยมีข้อจำกัด สำคัญๆ  คือ การเข้าไม่ถึงตัวบุคคล และผู้ป่วยปิดกั้นตัวเอง แต่เมื่อมีเครื่องมือ "Smart​Pulse​" (สมาร์ทพัลส์) การค้นหาผู้ป่วยจิตเวชกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นทันที 

 

ทีมส่งเสริมสุขภาพจิต (นสช.) ลงพื้นที่ตรวจวิเคราะห์ ติดตามการดูแลผู้ป่วยจิตเวช

 

 

แต่ใช่ว่าง่ายเหมือนปลอกกล้วยเข้าปาก เพราะเครื่องมือดีแค่ไหนแต่ใช้ไม่เป็นก็ไม่มีค่า ดังนั้น คนที่เข้าถึงผู้ป่วยจิตเวชได้ต้องเป็นคนใกล้ชิด ปฏิบัติการค้นหา "ผู้ป่วยจิตเวช" เริ่มต้นขึ้นจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าติดอาวุธกับทีมเยี่ยวยาจิตใจ โรงพยาบาลศรีธัญญา ปฏิบัติการในนาม "นักส่งเสริมสุขภาพจิต" หรือ นสช. นำร่องที่ชุมชนบางกรวย วัดเชิงกระบือ จ.นนทบุรี 

 

ชุมชนนี้ส่วนใหญ่เป็นชุมชนแออัด แต่มีความเข้มแข็ง บ้าน วัด โรงเรียน และโรงพยาบาลเป็นหนึ่งเดียว โดยเฉพาะ อสม. และ นสช. สามารถเข้าถึงผู้ป่วยจิตเวชได้โดยไม่ถูกมองว่าเป็นคนอื่น 

 

 

ทีมเยียวยาจิตใจ รพ.ศรีธัญญา ร่วมเสนอผลงานต่อสมาชิกเครือข่ายองค์การอนามัยโลก แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO-SEARO) มาศึกษาดูงาน

 


ครั้งแรกที่ "ผู้ป่วยจิตเวช" เห็นเครื่องมือ "Smart​Pulse​" ทีม นสช. บอกว่า ผู้เข้ารับการตรวจวิเคราะห์รู้สึกตื่นเต้นคล้ายเป็นของเล่น ไม่ปฏิเสธการเข้าใกล้  นสช. ทำงานง่ายขึ้น ให้ผลดีเกินคาด กลุ่มเป้าหมายให้ความร่วมมือ ใช้นิ้วชี้สอดเข้าไปในเครื่อง "Smart​Pulse​" ใช้เวลา 1 นาที  เครื่องแสดงผลตรวจวิเคราะห์ร่างกาย  อ่านค่าย้อนหลังการใช้ชีวิตช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้า บอกความเครียดทางร่างกายและจิตใจ แต่ไม่ใช่การตรวจวินิจฉัยหรือทดแทนการตรวจรักษาของแพทย์ 

 


เครื่อง  "Smart​Pulse​" วิเคราะห์อัตราการเต้นของหัวใจ การทำงานและการเต้นของหัวใจ การเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ ประเมินความผิดปกติของการสูบฉีดเลือดในหัวใจ ประเมินการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ประเมินเลือดที่คงค้างในหัวใจ

 

 

วิเคราะห์ความเครียด วัดความทนทานต่อความเครียด ค่าเฉลี่ยความเครียดโดยรวม ประเมินการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ รวมถึงวิเคราะห์สุขภาพหลอดเลือด ค่าเฉลี่ยของสภาพหลอดเลือดทั่วร่างกาย ประเมินไขมัน,คราบพลัคที่เกาะตามผนังหลอดเลือด ประเมินความยืดหยุ่นของหลอดเลือด ซึ่งภาวะเหล่านี้จะสามารถบอกแนวโน้นการเกิดโรคในอนาคตได้ เช่น เส้นเลือดสมอง เส้นเลือดหัวใจตีบ แตก ตัน เป็นต้น ล้วนเป็นภัยเงียบ 

 

 

นพ.ศุภเสก วิโรจนาภา นายแพทย์ชำนาญการ รพ.ศรีธัญญา

 

 

"นพ.ศุภเสก วิโรจนาภา" นายแพทย์ชำนาญการ รพ.ศรีธัญญา ขยายความว่า เครื่องมือที่สำคัญที่สุดคือ นสช. เพราะถ้าเข้าถึง "ผู้ป่วยจิตเวช" ได้ เป็นประตูด่านแรก และตัวผู้ป่วยเองต้องยอมรับว่าตัวเองว่าเครียด กล้าพูด กล้าเปิดใจ กล้าเล่าก็สามารถรักษาหายได้  นสช. เองต้องแนะนำตัวเอง เมื่อตรวจวิเคราะห์แล้วเห็นว่ามีปัญหา "สุขภาพจิต" นำไปสู่ขั้นตอนการส่งต่อ ผ่านการประเมิน 3 ระดับ ระดับดูแลเบื้องต้นไม่ต้องส่งต่อ ปานกลางส่งโรงพยาบาลในพื้นที่ และระดับรุนแรงส่งต่อไปที่โรงพยาบาลศรีธัญญา 

 

 


"การส่งต่อมีความสำคัญมากๆ  หากค้นพบแต่ไม่มีการรักษา และการกินยาต่อเนื่องก็ไม่เกิดประโยชน์ ตรงนี้ดีมาก ตำรวจพื้นที่เข้ามาร่วมทำงานกับเรา ถ้าผู้ป่วยรุนแรงต้องพึ่งตำรวจนำตัวส่ง "ศรีธัญญา" รักษาหายเป็นปกติ ผู้ป่วยสามารถกลับเข้าบ้าน เข้าชุมชนได้ปกติ พูดคุยกับคนในชุมชนได้ จากอดีตคนในชุมชนจะกลัว แต่หลังจาก สสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สนับสนุนงบอบรมหลักสูตรสร้าง นสช. และส่งนสช. เข้าไปทำงาน ชุมชนกล้าให้เข้า เป็นสัญญาณที่ดี ชุมชนดูแลกันเอง เราขยายผลไปถึงกลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งอนาคตคนไร้บ้านแนวโน้มลดลง" นพ.ศุภเสก กล่าวในที่สุด

 

 

ร.ต.อ.พลวัฒน์ เตวิน รองสรวัตรปราบปราม สถานีตำรวจภูธรบางกรวย

 

 

"ร.ต.อ.พลวัฒน์ เตวิน" รองสรวัตรปราบปราม สถานีตำรวจภูธรบางกรวย กล่าวว่าด้วย  นอกจากเข้าไปมีส่วนร่วมในการส่งต่อผู้ป่วย และให้ความมั่นใจในความปลอดภัยกับทีม นสช. ขณะปฏิบัติหน้าที ด้วยการลงพื้นที่ไปกับทีม นสช.ด้วยแล้ว ยังได้ประโยชน์จากโครงการนี้ โดยให้ตำรวจเข้ารับการตรวจด้วยเครื่อง "Smart​Pulse​" เพื่อค้นหาตำรวจที่อาจมีความเครียดสะสม เพื่อป้องกัน "โรคซึมเศร้า"

 


คงไม่มีข้อกังขาหากตั้งชุมชนบางกรวยเป็น "โมเดลระบบดูแลส่งต่อ ส่งเสริมสุขภาพจิต" ล่าสุดสมาชิกเครือข่ายองค์การอนามัยโลก แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO-SEARO) มาศึกษาดูงานเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอด ดูแลผู้ป่วยทางจิตเวชที่มีตัวเลขน่าเป็นห่วงเช่นกัน

 

 

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยข้อมูล "โรคซึมเศร้า" ปี 2565 ระบุว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดจากความเครียดของปัญหารอบด้าน เช่น ภาวะเศรษฐกิจ โรคระบาด การแข่งขันในสังคม รวมถึงปัจจัยทางชีวภาพและกรรมพันธุ์ ทำให้มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยกว่า 1.5 ล้านคน เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 4,000 รายต่อปี และพยายามคิดสั้นถึง 53,000 คนต่อปี ซึ่งการป้องกันความรุนแรงของโรคและยับยั้งการฆ่าตัวตายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนถือเป็นสิ่งสำคัญ

 

 

ข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตคนไทย  Mental Health Check in ซึ่งให้คนไทยประเมินตนเองด้านสุขภาพจิต  ตลอดปี 2564 พบสัดส่วนผู้มีภาวะเครียดสูง เสี่ยง "โรคซึมเศร้า" และเสี่ยงฆ่าตัวตายในกลุ่มประชากรทั่วไปถึงร้อยละ 14.5 16.8 และ 9.5 ตามลำดับ

 

 

โดยปัญหาดังกล่าวนี้ มีสัดส่วนสูงมากในกลุ่มเด็กและเยาวชนวัยเรียนอายุไม่ถึง 20 ปี และ 20-29 ปี โดยความกังวลใจส่วนใหญ่เป็นเรื่องเชื่อมโยงกับครอบครัว การเรียนและอนาคตของตนเอง ด้านผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากการตกงาน สูญเสียรายได้เป็นกลุ่มที่ต้องการดูแลและเยียวยาทางจิตใจ เนื่องจากพบว่ามีความเครียดสูง เสี่ยง "โรคซึมเศร้า" และเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า

 

 

ปัญหาสุขภาพในวัยแรงงานมักเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมทางสุขภาพที่ไม่เหมาะสมทั้งพฤติกรรมทางสุขภาพกายและสุขภาพจิต ซึ่งพฤติกรรมสุขภาพกาย ได้แก่ การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ไม่ออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

 

ส่วนพฤติกรรม "สุขภาพจิต" ได้แก่ ภาวะเครียดและวิตกกังวล (กรมสุขภาพจิต, 2563) ปัจจุบันพบปัญหาด้านสุขภาพจิตและจิตเวชที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และจากข้อมูลแบบประเมินสุขภาพจิตออนไลน์ MENTAL HEALTH CHECK-IN ช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 พบว่า ในประเทศไทยมีปัญหาสุขภาพจิตในภาพรวมที่ส่งผลต่อความเครียด ร้อยละ 10.38 เสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 12.29 เสี่ยงฆ่าตัวตาย ร้อยละ 6.91 และมีภาวะหมดไฟ ร้อยละ 4.71

 

 

ข้อมูล "สุขภาพจิต" ในกลุ่มเปราะบางทางสังคม (ตกงาน/รายได้น้อย/ประสบปัญหาธุรกิจ) จากผู้ประเมินเข้ามาพบว่ามีความเครียด ร้อยละ 32.44 เสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 37.38 เสี่ยงฆ่าตัวตาย 23.59 และมีภาวะหมดไฟ ร้อยละ 31.53 (ข้อมูลจากการประเมินสุขภาพจิตคนไทย เว็บไซต์ MENTAL HEALTH CHECK-IN ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 – 31 มกราคม2565)