'ญี่ปุ่น' ขาดแคลนแรงงาน ไทยรุกส่งออกแรงงาน เปิดสเปกนายจ้างที่นี่!
ประเทศญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ปัญหาที่ตามมาคือการขาดแคลนแรงงาน จึงเป็นโอกาสดีที่แรงงานไทยต้องการทำงานต่างประเทศ ญี่ปุ่นอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
"นายไพโรจน์ โชติกเสถียร" อธิบดีกรมการจัดหางาน ให้สัมภาษณ์กับ "คม ชัด ลึก" ว่า แนวโน้มตลาดแรงงานประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการแรงงานไทยเป็นแรงงานในระบบฝึกงาน (ทำงานปกติ) แรงงานทักษะฝีมือ และแรงงานทักษะเฉพาะ โดยตั้งเป้านำเข้าแรงงานต่างชาติที่มีทักษะเฉพาะถึง 3-4 แสนคน ภายในช่วงเวลา 5 ปี จาก 9 ประเทศ ดังนี้ ประเทศจีน เวียดนาม ไทย กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย เนปาล ฟิลิปปินส์ และมองโกเลีย
หลังจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 (โควิด 19) คลี่คลาย ประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจึงมีความต้องการแรงงานจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะ "ส่งออกแรงงานไทย" ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น
แรงงานที่ประเทศญี่ปุ่นต้องการส่วนใหญ่ต้องการแรงงานที่มีทักษะทางด้านภาษาเพื่อใช้สื่อสารในการปฏิบัติงาน ร่างกายสุขภาพแข็งแรง ไม่มีประวัติอาชญากรรม
"ในอดีตญี่ปุ่นต้องให้สอบคณิตศาสตร์ สอบความรู้ด้านช่าง และสอบสัมภาษณ์ด้วย แต่ปรากฏว่า มีคนผ่านเกณฑ์น้อย ซึ่งสวนทางกับความต้องการแรงงาน ไทยจึงขอเจรจากับองค์กร IM Japan และเห็นตรงกันว่ายกเลิก เหลือแค่ทดสอบเฉพาะภาคความรู้ความสามารถด้านภาษาญี่ปุ่น และการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย และจากเดิมที่ใช้เวลาสอบ 2 วัน เหลือสอบ 1 วัน" " นายไพโรจน์" ระบุ
ประเภทงานและตำแหน่งงานที่ตลาดแรงงานญี่ปุ่นต้องการ ได้แก่ งานอุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้าง เช่น ช่างเชื่อม งานหล่อโลหะ งานปั๊มขึ้นรูปโลหะ งานหล่อพลาสติก เครื่องจักร งานกลึง งานก่อสร้าง เป็นต้น
การ "ส่งออกแรงงานไทย" ต้องผ่านการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย ผู้ชายต้องวิ่งระยะทาง 3 กิโลเมตร ไม่เกิน 15 นาที การลุกนั่ง ทำต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 25 ครั้ง ดันพื้นทำต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 35 ครั้ง
ผู้หญิง วิ่งระยะทาง 1,200 เมตร ไม่เกิน 8 นาที ลุกนั่ง 2 ชุด ชุดละ 10 ครั้งต่อเนื่องกัน พักไม่เกิน 1 นาที การดันพื้น ทำต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 15 ครั้ง
"นายไพโรจน์" เปิดเผยอีกว่า หากไทยสามารถ "ส่งแรงงานไทย" ได้ตามเป้าในปีงบประมาณนี้ (2566) จำนวน 50,000 คน จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ และดึงเม็ดเงินเข้าประเทศไม่ต่ำแสนล้านบาท
ในรอบเกือบ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2566 (ต.ค. 65 - มี.ค. 66) กรมการจัดหางานได้รวบรวมสถิติแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ จำนวน 449,337 คน เฉลี่ยปีละ 74,890 คน มีรายได้ส่งกลับเข้าประเทศเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 1,081,205 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 180,201 ล้านบาท
ข้อมูลเฉพาะปี 2565-2566 ส่งออกแรงงานไทยไปต่างประเทศกว่า 1 แสนคน ส่งกลับประเทศผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย สร้างรายได้เข้าประเทศ 299,077 ล้านบาท
ภาวะ "สังคมผู้สูงอายุ" มาพร้อมกับความต้องการแรงงาน จึงเป็นโอกาสดีของแรงงานไทย แม้ประเทศไทยเองกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว แต่การทำงานต่างประเทศในเวลาเท่ากัน หรืออาจน้อยกว่า และใช้แรงงานเหมือนกันแต่ได้ค่าตอบแทนสูงกว่า