'สงกรานต์ 2566' เจ็บป่วยฉุกเฉินใช้สิทธิ 'บัตรทอง' รักษาทุกเหตุ
สปสช.แจ้งเจ็บป่วยฉุกเฉินใช้สิทธิ 'บัตรทอง' ช่วง 'สงกรานต์ 2566' รักษาทุกเหตุ ตามนโยบาย UCEP และรพ.เบิกค่ารักษา ตามอัตราที่กำหนดได้
"บัตรทอง" หรือบัตรสวัสดิการถ้วนหน้า คือ บัตรที่ทางสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ออกให้คนไทยทุกคนได้ใช้ในการรักษาพยาบาลพื้นฐานต่าง
เมื่อมีการแจ้งเกิดและลงทะเบียนตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) ใช้ได้กับโรงพยาบาลรัฐและหน่วยงานเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ และสามารถใช้ได้ตลอดชีวิต ยกเว้นว่าจะมีสิทธิประกันสังคม สิทธิรัฐวิสาหกิจ หรือบัตรข้าราชการ
เมื่อเทศกาลหยุดยาว สงกรานต์ 2566 ที่จะมาถึง ทำให้ทาง สปสช.ห่วงใยประชาชน สิทธิบัตรทองเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ หากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตถึงแก่ชีวิต เข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาล ที่อยู่ใกล้ ตามนโยบาย UCEP ส่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินแต่ไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่จำเป็นต้องรับการรักษา รวมถึงเจ็บป่วยทั่วไปใช้บริการ ปฐมภูมิ 30 บาทรักษาทุกที่ ย้ำเตือนเดินทางอย่าลืมพกบัตรประชาชน
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 นี้ เป็นช่วงที่มีวันหยุดยาวระหว่างวันที่ 13-17 เม.ย 66 ประชาชนส่วนหนึ่งจำเป็นต้องเดินทางกลับบ้านหรือเยี่ยมเยือนครอบครัว สปสช.ขอแจ้งผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ "บัตรทอง" 30 บาท หากเจ็บป่วยต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ในการเข้ารับบริการแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
1.กรณีเจ็บป่วยระดับฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ที่สถานพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ใกล้โดยเร็วที่สุด เป็นไปตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิ์ทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ของรัฐบาล โดยให้สถานพยาบาลที่ให้การรักษาเบิกค่าใช้จ่ายค่ารักษาจาก สปสช. ตามอัตราที่กำหนด แต่หากไม่แน่ใจว่าอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินของตนเป็นระดับวิกฤติหรือไม่ แนะนำให้เข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ใกล้ที่สุด
2.กรณีเจ็บป่วยที่ไม่ใช่ระดับฉุกเฉินวิกฤติ (สีเหลือง-เขียว) หรือกรณีผู้มีสิทธิบัตรทองที่เดินทางไปต่างถิ่นแล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาพยาบาล อาทิ มีความดันโลหิตขึ้นสูง ปวดศีรษะมาก เกิดภาวะท้องเสียรุนแรง เจ็บ ไข้ ไอ ปวด ทำแผล ยาหมด เป็นต้น
โดยประชาชนสามารถรับเข้าบริการกับหมอประจำครอบครัว ในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ หรือ 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายยกระดับ "บัตรทอง" ที่ได้ขยายบริการทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิในระบบบัตรทองที่อยู่ใกล้ที่สุด เพียงใช้บัตรประชาชนใบเดียว และไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวเหมือนในอดีต หรือเข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ใกล้ที่สุด
"บัตรทอง" ยังสามารถเข้ารับการรักษาตามมาตรฐานของโรงพยาบาลรัฐ และหน่วยงานเอกชนที่เข้าร่วมโครงการได้เลย โดยแค่ยื่นบัตรประชาชน สามารถครอบคลุมการรักษาได้ ดังนี้
- การคลอดลูก
- การผ่าตัด
- การทำหมัน
- การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค
- รักษาโรคมะเร็ง, เบาหวาน
- ถอนฟัน, อุดฟัน, ทำฟันปลอม
- สิทธิค่าห้องในโรงพยาบาล
- ค่าอาหาร
- คุ้มครองดูแลสุขภาพเด็ก
- ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพฟรี
การเข้ารับบริการรักษาพยาบาลในช่วงของการเดินทางอาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นเพื่อความสะดวกในการใช้ สิทธิบัตรทอง นอกจากเตรียมบัตรประจำตัวประชาชนที่เป็นหลักฐานสำคัญแล้ว ควรศึกษาข้อมูลหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่ระหว่างเดินทางและจุดหมายปลายทาง เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการเข้ารับบริการหากมีเหตุจำเป็น
เพื่อความไม่ประมาท ส่วนประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหอบหืด เป็นต้น ควรเตรียมพร้อมยารักษาโรคเพื่อให้เพียงพอสำหรับการเดินทางด้วย