ชีวิตดีสังคมดี

'โควิด19' ติดเชื้อพุ่ง 2.5 เท่า หลังเล่นน้ำมีอาการเหล่านี้ตรวจ ATK ทันที

'โควิด19' ติดเชื้อพุ่ง 2.5 เท่า หลังเล่นน้ำมีอาการเหล่านี้ตรวจ ATK ทันที

16 เม.ย. 2566

สถานการณ์โควิด 'โควิด19' พบป่วยพุ่ง 2.5 เท่า คาดหลังสงกรานต์คนติดเชื้อเพิ่มอีก เล่นน้ำแล้วมีอาการต่อไปนี้ตรวจ ATK ทันที

กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์โรค "โควิด19" ใกล้ชิดโดยกองระบาดวิทยาคาดการณ์ว่าหลังเทศกาลสงกรานต์จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และจำนวนอาจมากกว่าช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เนื่องจากประชาชนมีการทำกิจกรรมร่วมกันช่วงสงกรานต์ และการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ทำให้ใกล้ชิดผู้คนจำนวนมาก

 

 

ภายหลังประเทศไทยผ่อนคลายมาตรการ ไม่ได้มีการตรวจโควิดก่อนเข้าร่วมกิจกรรม การสวมหน้ากากน้อยลง  ทำให้เสี่ยงรับเชื้อเมื่อมีการอยู่ใกล้ผู้ติดเชื้อ หลังวันหยุดสงกรานต์ขอให้ประชาชนสังเกตอาการอย่างน้อย 7 วัน เลี่ยงการสัมผัสอยู่ใกล้ชิดผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรค "โควิด19" ประจำสัปดาห์ที่ 15 ปี 2566 ระหว่างวันที่ 9-15 เม.ย. 2566 พบผู้ป่วยรายใหม่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้วทั้งหมด 435 ราย เฉลี่ยวันละ 62 ราย ซึ่งมีแนวโน้มพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 2.5 เท่าของสัปดาห์ก่อนหน้า นอกจากนี้มีรายงานผู้ป่วยปอดอักเสบ 30 ราย และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 19 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 58 และร้อยละ 36 ตามลำดับ เปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อน

 

 

โดยสัปดาห์ล่าสุดมีรายงานผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น นานเกินกว่า 3 เดือนแล้ว จึงขอย้ำให้กลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทั้งนี้ สถานบริการจะปรับการให้บริการรูปแบบวัคซีนโควิดประจำปีตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป

ส่วนกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์โควิด โอไมครอน XBB.1.16 ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก พบเชื้อแล้วใน 22 ประเทศโดยเฉพาะประเทศอินเดีย เชื้อสายพันธุ์ล่าสุดนี้มีความสามารถในการติดต่อสูงกว่าเชื้อสายพันธุ์ในอดีต เป็นที่จับตาขององค์การอนามัยโลก แต่ข้อมูลขณะนี้พบว่าอาการไม่ได้รุนแรงเพิ่ม ทั้งนี้ ฐานข้อมูล GISAID มีรายงานการตรวจพบสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย 6 ราย จากที่มีรายงานทั่วโลกเกือบ 3 พันราย (ข้อมูล ณ วันที่ 13 เม.ย. 2566)

 

 

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานผู้ป่วย "โควิด19" ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลระยะนี้ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง เนื่องจากได้รับวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาแล้ว ทำให้ยังมีภูมิคุ้มกันป้องกันอาการหนักได้แน่นอน แม้จะไม่ได้ป้องกันติดเชื้อได้ 100% พร้อมแนะนำว่า หลังสงกรานต์ขอให้เฝ้าระวังสังเกตอาการตัวเองอย่างน้อย 7 วัน หลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากจำเป็นให้สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เมื่อเริ่มมีอาการป่วย เช่น มีไข้ เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก ให้ ตรวจ ATK หากผลเป็นบวกก็ให้ปรึกษาแพทย์รักษาตามสิทธิและตามระดับอาการ ไม่แนะนำให้ ตรวจ ATK ขณะที่ยังไม่มีอาการ ทั้งนี้ โรงพยาบาล มียา เวชภัณฑ์ เตียงเพียงพอในการรองรับผู้ป่วยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

ด้าน กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับผู้ป่วย "โควิด19" ที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นหลังจากช่วงเทศกาล โดยการเพิ่มประสิทธิภาพโรงพยาบาลให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  (รองผู้ว่าฯกทม.) เปิดเผยว่า จากช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีประชาชนเดินทางและเข้าร่วมกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์เป็นจำนวนมาก อาจมีบางรายมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยร่างกาย ปวดศีรษะ ควรตระหนักว่าตนอาจจะติดเชื้อโควิด 19 ได้ ดังนั้นผู้ที่มีอาการดังกล่าวควรตรวจ ATK ทุกราย  หากมีผลบวกให้เข้ารับการตรวจรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว

 

 

กทม. ได้สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 11 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง เตรียมความพร้อมของยา เวชภัณฑ์ และระบบการรักษาพยาบาล เพื่อรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วย "โควิด19" ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งจากการคาดการณ์อาจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อและที่ตั้งโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. ทั้ง 11 แห่ง คลิกที่นี่