ภาวะเสื่อมร่างกายคนสูงวัย ความท้าทายสาธารณสุขไทย สู่สังคมผู้สูงอายุ
ไทยติดอันดับโลกที่มี "คนสูงวัย" รวดเร็ว สาธารณสุขไทยเตรียมรับมือด้านสุขภาพ เน้นภาวะเสื่อมทางร่างกาย เอกชนลงทุนนวัตกรรม เครื่อง "ไบเพลน" รักษาหลอดเลือดสมอง-หัวใจ ไม่ต้องผ่าตัด ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว ด้านภาครัฐเดินหน้าสร้างคลินิกผู้สูงอายุทุกโรงพยาบาลสังกัด สธ.
อีก 8 ปีข้างหน้า ประเทศไทยเข้าสู่ "สังคมสูงวัย" ระดับสุดยอดเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 28 เป็นประเทศ "คนสูงวัย" อันดับ 1 ของโลก หมายความว่า ปี 2574 คนไทย 100 คน จะมีผู้สูงอายุ 28 คน ขณะที่อัตราเด็กเกิดใหม่ปี 2565 มีเพียง 5.02 แสนคน ถือเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในรอบ 71 ปี สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ ที่ทุกๆ 1 ปีจะมีผู้สูงอายุเกษียณ 1 ล้านคน แน่นอนว่า ประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงาน และอีกปัญหาสำคัญ คือ ด้านสุขภาพ เพราะโรคกับ "คนสูงวัย" เป็นของคู่กัน โดยเฉพาะ "โรคเสื่อม" (Degenerative disease)
"โรคเสื่อม" คือ ความเสื่อมถอยของการทำงานหรือโครงสร้างเนื้อเยื่ออวัยวะลงเมื่อเวลาผ่านไป ความเสื่อมก่อให้เกิดโรคทำลายระบบหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง นำไปสู่ "โรคหลอดเลือดสมอง-หัวใจตีบหรือตัน" โรคนี้พบอัตราการเสียชีวิตน้อยมาก แต่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของโรคที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด เพราะตัวเลขผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาอยู่ในภาวะทุพพลภาพก่อนเสียชีวิตไม่แพ้ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
"นพ.ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา" อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคหลอดเลือดสมอง อธิบายถึง "โรคหลอดเลือดสมอง" ว่า อัมพฤกษ์หรืออัมพาต เกิดจากหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงสมองเกิดการอุดตันหรือแตก ทำให้เกิดอาการปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก บางรายเดินเซ พูดไม่ชัด เวียนศีรษะ เห็นภาพซ้อนหรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง หากเกิดอาการเหล่านี้ให้รีบไปพบแพทย์
คำถามก็คือว่า "ทำไมหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงสมองเกิดการอุดตันหรือแตก" "นพ.ชาญวิทย์" อธิบายว่า การอุดตันเกิดจากเส้นเลือดเสื่อมสภาพ เพราะสะสมไขมัน ทำให้เกิดการอุดตันจนเลือดไหลผ่านไม่สะดวก ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดหลอดเลือดสมองอุดตัน เช่น อายุ 45 ปีขึ้นไป, พันธุกรรม, ไขมันในเลือดสูง, ความดันโลหิตสูง, รับประทานอาหารหวาน มัน เค็ม และไขมันสูง, ไม่ออกกำลังกาย, สูบบุหรี่, ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
"ไขมันที่เกาะเส้นเลือด พบได้ที่บริเวณคอ ถ้าเกาะถึง 60% มีความเสี่ยงหลอดเลือดสมองตีบหรือตัน ดังนั้น ถ้าคิดว่ามีปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่ 2-3 ข้อขึ้นไปแนะนำให้รีบตรวจคัดกรอง เพราะถ้าเจอไขมันเกาะเยอะๆ จะได้รักษาเลย นวัตกรรมทางการแพทย์ที่ชื่อว่า "ไบเพลน" สามารถตรวจพบไขมันเกาะ และวินิจฉัยไปพร้อมกับรักษา แค่ฉีดสีเข้าร่างกาย แต่ฉีดไม่เยอะเหมือนเครื่องก่อนๆ เพราะเครื่อง "ไบเพลน" สร้างภาพ 3 มิติของหลอดเลือด ให้ภาพคมชัด แสดงการไหลเวียนเลือด ผนังหลอดเลือด การดึงเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกมา ด้วยการใส่สายสวนเข้าทางหลอดเลือดแดงใหญ่พร้อมขดลวดที่ขาหนีบไปจนถึงจุดที่เกิดการอุดตันแล้วลากลิ่มเลือดออกมา เปิดรูของหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัด เรามองเห็นสายสวนหลอดเลือดที่ขนาดเล็กมากได้ชัดเจน การรักษาง่ายขึ้น สะดวกแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว นอนโรงพยาบาล 2 วันก็กลับบ้านได้" "นพ.ชาญวิทย์" ระบุ
"นพ.ชาญวิทย์" บอกต่ออีกว่า ในกรณีที่มีอาการปากเบี้ยว ร่างกายชาครึ่งซีก ให้รีบเข้ารับการรักษารวดเร็วที่สุด อย่าทิ้งเวลาเกิน 4.5 ชั่วโมง เพราะการปล่อยเวลาไว้นาน เซลล์สมองยิ่งถูกทำลาย ถ้าอยู่ในห้วงเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมงแพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือด และใส่สายสวนตามเส้นเลือดแดงใหญ่ลากลิ่มเลือดที่ปิดทางหลอดเส้นออกมาได้ทันเวลา ช่วยให้เลือดสามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองส่วนที่ขาดเลือด สมองได้มีโอกาสฟื้นตัว กลับมาทำงานได้ดีขึ้น โอกาสกลับไปใช้ชีวิตปกติก็มีสูงขึ้น
กรณีมาช้าเกิน 4.5 ชั่วโมง โอกาสกลับไปใช้ชีวิตปกติมีน้อยลง เพราะถ้าเกิน 5-6 ชั่วโมงขึ้นไป เซลล์สมองถูกทำลายไปมากแล้ว ผู้ป่วยบางรายมารักษาด้วยอาการแขนขาชามา 3 วัน มาถึงโรงพยาบาลก็สายไปแล้ว ต้องตกอยู่ในภาวะทุพพลภาพชั่วชีวิต
""โรคหลอดเลือดสมอง" รอไม่ได้ มีอาการตอนตี 2 ก็ต้องรีบมาโรงพยาบาลตอนตี 2 อย่ารอให้เช้า ถ้ารอสมองถูกทำลายไปเยอะแล้ว ถ้าจะให้ดีคือ ประเมินตัวเองก่อนว่ามีความเสี่ยงถึง 2-3 ข้อไหม ผมอยากเน้นคนที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป เพราะอายุเฉลี่ยโอกาส "ภาวะเสื่อม" มีมาก ตรวจที่โรงพยาบาลนครธนใช้เงินหลักพันต้นๆ ถ้าพบไขมันเกาะคอก็เอาออก แล้วกลับไปใช้ชีวิตดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ ลดหวาน มัน เค็ม ไขมันสูง ลดภาวะเสื่อมก่อนสายเกินแก้" "นพ.ชาญวิทย์" กล่าวในที่สุด
ขณะเดียวกัน "โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน" มีลักษณะโรคเหมือนกันกับโรคหลอดเลือดสมอง กระบวนการคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาด้วยเครื่องเอกซเรย์สำหรับตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดชนิดสองระนาบ (Biplane Digital Subtraction Angiography (Biplane DSA)) หรือ "ไบเพลน ดีเอสเอ" เหมือนกัน แตกต่างแค่อาการเบื้องต้นที่เจ็บแน่นหน้าอกอย่างรุนแรง กระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น
"พญ.พัชรี ภาวศุทธิกุล" อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ อธิบายถึง "โรคหลอดเลือดหัวใจ" ว่า เป็นภาวะเสื่อมที่นำไปสู่โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ รักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด หรือ Transcatheter Aortic Valve Implantation (TAVI) เป็นการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจเดิมที่เสื่อมสภาพหรือใช้การไม่ได้ ด้วยเครื่อง "ไบเพลน" โดยการใช้สายสวนผ่านหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ แล้วใช้ลิ้นหัวใจแบบเนื้อเยื่อยึดติดกับขดลวดพิเศษ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพื่อลดภาวะแทรกซ้อน ลดความเสี่ยงอันเกิดจากการผ่าตัด ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้รวดเร็ว
"พญ.พัชรี" กล่าวต่อว่า "ไบเพลน" สามารถตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพื่อหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ คำนวณหาปริมาณแคลเซียมที่เกาะภายในผนังหลอดเลือดแดง หากพบแคลเซียมเกาะปริมาณมาก แพทย์สามารถประเมินสถานการณ์และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมได้
"คนที่มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ จะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกร้าวไปไหล่ซ้ายและแขนซ้าย บางรายอาจร้าวขึ้นไปตามคอ อาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อออกแรงแต่เมื่อนั่งพักจะดีขึ้น ในรายที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบมากจนตัน จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอย่างรุนแรง จนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกอย่างรุนแรง กระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น หากนำส่งโรงพยาบาลไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้" "พญ.พัชรี" กล่าว
อย่างไรก็ตาม "โรคหลอดเลือดสมอง" และ "หลอดเลือดหัวใจ" เป็นภัยเงียบที่เป็นอันตรายถึงชีวิต และไม่แสดงอาการเตือนล่วงหน้า ทำให้โรงพยาบาลรัฐและเอกชนหลายแห่งมีเครื่อง "ไบเพลน" เพื่อรองรับผู้ป่วย เช่น โรงพยาบาลที่มีนักศึกษาแพทย์ เช่น ศิริราช เป็นต้น, โรงพยาบาลพญาไท 1, โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล, เครือโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล รวมถึงโรงพยาบาลนครธน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนหันมาดูแลสุขภาพ "นพ.วิโรจน์ ตระการวิจิตร" ผู้อำนวยการสายงานแพทย์ โรงพยาบาลนครธน ได้เปิดโอกาสให้ผู้มีความเสี่ยงเข้ารับการตรวจคัดกรองเฉพาะทางจำนวน 100 คน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 พ.ค. 2566 สมัครและดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/3Mf6KZv
ในส่วนของภาครัฐ "นายอนุทิน ชาญวีรกุล" รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บอกว่า ได้ปรับแผนงานรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยประกาศให้ปี 2566 เป็น "ปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย" มีนโยบายให้ "ผู้สูงอายุ" ได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและทั่วถึงทั้งร่างกายและจิตใจ ประกอบด้วย การคัดกรองสุขภาพ "คนสูงวัย" โดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ให้ครอบคลุมผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคน ให้โรงพยาบาลทุกระดับของ สธ. มี "คลินิกผู้สูงอายุ" เพื่อให้เข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการดูแลสุขภาพของ "ผู้สูงอายุ" ได้แก่ แว่นสายตา 500,000 อัน ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ 5 ล้านชิ้น ฟันเทียม 50,000 ชุด และรากฟันเทียมสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการใส่ฟันเทียม 5,000 ราก เพื่อส่งเสริมสุขภาพ เพิ่มความสุขให้ผู้สูงอายุมีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพ ช่วยสนับสนุนให้ครอบครัวมีพลังในการดำเนินชีวิต เกิดความเข้มแข็งทางสุขภาพ ซึ่งถือเป็นต้นทุนในการสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจของประเทศ นำไปสู่เป้าหมาย "ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง"