ชีวิตดีสังคมดี

'องค์กรครู' ขอคำตอบพรรคการเมือง ประกาศจุดยืนต่อ 'ร่างพ.ร.บ.การศึกษา'

'องค์กรครู' ขอคำตอบพรรคการเมือง ประกาศจุดยืนต่อ 'ร่างพ.ร.บ.การศึกษา'

24 เม.ย. 2566

'องค์กรครู' ขอคำตอบจากทุกพรรคการเมือง ต่อ 'ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ' หากได้เป็นรัฐบาลแล้ว มีจุดยืนอย่างไร เพื่อประกอบการตัดสินใจ จะเทคะแนนให้พรรคไหนในศึก เลือกตั้ง66

นายธนชน มุทาพร เลขาธิการสมาคมผู้บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน(แห่งประเทศไทย) อุปนายกสมาคมพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริหาร ครูแลบุคลากรทางการศึกษา ที่ปรึกษาชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย แกนนำเครื่อข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) เปิดเผย “คมชัดลึก” ว่า เกี่ยวกับการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ รัฐบาลชุดใหม่ ควรนำ "ร่างพ.ร.บ.การศึกษา" ที่ตกไปแล้ว นำมาพิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนด เพราะ "ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ" ที่ตกไปนั้นมีรากเหง้า มาจาก "คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา" หรือ กอปศ.ที่กฎหมายรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้

แต่ถ้ารัฐบาลใหม่ไม่นำ "ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ" ทีสภาตีตกไปแล้วมาพิจารณาใหม่ เกรงว่าจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะรัฐบาลมีอำนาจเสนอกฎหมายปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้ แต่ตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลไม่มีอำนาจร่างกฎหมายปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

 

นี่คือสาระสำคัญของกฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงขอเสนอข้อคิดเห็นให้แกนนำองค์กรครูทั่วประเทศ คำนึงถึงประเด็นนี้ ในการเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ ได้คำนึงถึงอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าใครคือผู้มีอำนาจร่างกฎหมายการศึกษาของชาติ

 

ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่สามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 147 วรรคสอง เพื่อร้องขอให้รัฐสภาพิจารณาต่อ ภายในเวลา 60 วัน จะต้องพิจารณานำ ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ตกไป นำขึ้นมาพิจารณาใหม่ อย่างน้อยจะมีที่มาที่ไปที่มีรากเหง้ามาก กอปศ.ได้ยกร่างไว้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

 

เพราะถ้าไม่นำร่างเดิมขึ้นมา จะต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ กอปศ.ชุดเดิมก็หมดอำนาจไปแล้ว และกอปศ.ชุดใหม่ที่แต่งตั้งขึ้นมาแทน ก็ยังไม่รู้ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติไว้ในกรณี กอปศ.ชุดแรกหมดอายุ จะสามารถแต่งตั้งชุดที่สองแทนได้หรือไม่

 

“ผมเสนอให้รัฐบาลใหม่นำร่างเดิมมาพิจารณา แล้ว องค์กรครู จึงเสนอให้แก้ไขในสาระสำคัญที่เป็นข้อขัดแย้งทั้งหมด และให้คงสาระสำคัญที่มีประโยชน์เห็นพ้องต้องกันทุกฝ่าย น่าจะดีกว่าไปยกร่างใหม่ เพราะเกรงว่าจะไม่เป็นการร่างกฎหมายปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ”

 

ที่ ณ เวลานี้ ยังไม่เห็นพรรคการเมืองใด ได้พูดถึงเรื่อง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่จะเกิดขึ้นในรัฐสภาที่จะถึงนี้ ว่ามีทิศทางแนวโน้มอย่างไร จะนำข้อเสนอขององค์กรครูที่เรียกร้องให้แก้ไขให้ดีกว่าเดิมอย่างไร หรือไม่ หรือยืนยันว่า จะไม่แก้ไข จะยึดตามร่างเดิมของ กอปศ.ทั้งหมด

 

"องค์กรครู อยากได้คำตอบจากทุกพรรคการเมืองทุกพรรค ในเรื่องของ การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เมื่อพรรคท่านได้เป็นรัฐบาลแล้ว พรรคการเมืองของท่าน มีจุดยืนอย่างไร"

 

คำตอบเหล่านี้ ยังไม่มีพรรคการเมืองใดตอบคำถามให้กับองค์กรครู เพราะเป็นคำตอบสำคัญในการตัดสินเพื่อพิพากษาว่าพี่น้ององค์กรครูทั่วประเทศจะนำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองใดเข้าสภาให้มากที่สุด ในวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 นี้

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเลือกตั้ง2566 พบว่าเกือบจะทุกพรรคการเมือง เข็นนโยบายการศึกษามาประชันกันมากมาย  ไล่เรียงมาตั้งแต่ เพื่อไทย ก้าวไกล ประชาธิปัตย์ ไทยสร้างไทย ชาติพัฒนากล้า ชาติไทยพัฒนา ฯลฯ

 

ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคเพื่อไทย มี ‘ดร.อ้อ’ ณหทัย ทิวไผ่งาม ประธานคณะทำงานด้านนโยบายการศึกษาและพัมนาศักยภาพมนุษย์ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ มี ‘ดร.เอ้’ ศ.ดร.สุชัชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หัวหน้าทีมการศึกษาทันสมัย ส่วน ‘ไอติม’ พริษฐ์  วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกลโดยมีหน้าที่วางแผนนโยบายในเชิงการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่ต้องเข้าถึงและยึดโยงกับประชาชน