ชีวิตดีสังคมดี

มหากาพย์ 5 ปี กว่าจะได้ 'รถเมล์ไฟฟ้า' ประกาศ EV 100% เมื่อไรครบ

มหากาพย์ 5 ปี กว่าจะได้ 'รถเมล์ไฟฟ้า' ประกาศ EV 100% เมื่อไรครบ

24 เม.ย. 2566

แผนปฏิรูปรถเมล์ไทย 5 ปี ได้ "รถเมล์ไฟฟ้า" ปี 65 จำนวน 1,250 คัน ปีนี้จะรับอีก 1,850 คัน และภายในก.ค.67 กระทรวงคมนาคม ประกาศรถเมล์ไฟฟ้า ต้อง 100% แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เราไปย้อนดูเส้นทางการปฏิรูปที่รื้อแผนนับครั้งไม่ถ้วน ด้วยสาเหตุอะไร "คมชัดลึก" สรุปรวบรวมมาไว้ที่นี่

  • ต้นตอปัญหารถเมล์ไทยสู่ "รถเมล์ไฟฟ้า"

ปัญหาขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เฉพาะรถโดยสารสาธารณะประจำทาง หรือรถเมล์ ภายใต้การบริหารงานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ในขณะนั้น เริ่มจากภาวะขาดทุนสะสมมาตั้งแต่ปี 2519 เพราะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2516 พ่วงหลายปัญหาล้มเป็นโดมิโน่ ทั้งคุณภาพการบริการ คุณภาพรถเมล์ การวิ่งทับซ้อนเส้นทาง รวมถึงสภาพรถเก่าใช้งานไม่ต่ำ 30 ปี ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ อย่างฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) 
 

ประชาชนรอใช้บริการรถเมล์ในเขตกรุงเทพฯ

 

 

 

  • วิจัยระบุ "PM 2.5" กทม.มาจากไอเสียรถ

ฝุ่นในกรุงเทพฯ เกิดจากยานพาหนะ 60% และ 90% ของไอเสียรถคือ ฝุ่น "PM 2.5" เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง เพราะ "รถเมล์" ที่ให้บริการสภาพเก่าปล่อยควันไอเสีย กระทบสุขภาพประชาชน อีกทั้ง การบริการที่พูดได้ว่าเหมือนขอนั่งฟรี ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงต่อเนื่อง ซ้ำเติมภาระหนี้สิน ขสมก.พุ่งถึง 1.2 แสนล้านบาท สุดท้ายนำไปสู่การปฏิรูปรถเมล์ทั้งระบบ ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) ได้รับการถ่ายโอนการกำกับดูแลรถเมล์จาก ขสมก.ตามมิติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2559 

  • แผน 5 ปี (2560-2564)

แผนการปฏิรูป "รถเมล์" วางเป้าหมายเพิ่มเส้นทางการเดินรถให้ครอบคลุมเส้นทางใหม่ที่ประชาชนอาศัยอยู่มากขึ้น ภาพรวมเส้นทางจะเพิ่มขึ้นจาก 202 เป็น 269 เส้นทาง และมีระยะทางเพิ่มขึ้นจาก 6,437 กิโลเมตร เป็น 7,833 กิโลเมตร ระยะทางเฉลี่ยต่อเส้นทางปรับลดลง 3 กิโลเมตร แผนปฏิรูปนี้เริ่มต้นจากการพัฒนาระบบเลขสายใหม่ โดย ขบ.มอบสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกแบบระบบเลขสายใหม่ และคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง เห็นชอบประกาศใช้ระบบเลขสายใหม่ในปี 2563 ถือเป็นความสำเร็จก้าวแรกแห่งการปฏิรูปรถเมล์ ทว่ากว่าจะเดินหน้ามาถึงจุดนี้ ขบ.ได้ปรับปรุง "แผนปฏิรูปรถเมล์" มาแล้วถึง 4 ครั้ง

 

 

 

 

  • รื้อแผนกำหนดเส้นทางใหม่

"แผนปฏิรูปรถเมล์" 269 เส้นทางสำเร็จ โดย ขสมก.เดินรถ 108 เส้นทาง รวมกับเส้นทางรถเอกชนร่วมบริการ 54 เส้นทาง แต่ส่วนที่เหลือไม่มีเอกชนร่วมเดินรถเข้าเกณฑ์ตามที่ ขบ.กำหนด จึงจัดหารถเอกชนร่วมบริการวิ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน แต่เปิดเส้นทางใหม่ได้ไม่นาน มีเสียงสะท้อนทั้งจากผู้ประกอบการรถเอกชน และผู้โดยสารว่า ปฏิรูปไม่ตอบโจทย์สภาพความเป็นจริง ยกตัวอย่างปัญหาการทับซ้อนของสายรถเมล์ คือรถเมล์ที่วิ่งในกรุงเทพฯ เฉพาะแค่ถนนพหลโยธินผ่านหน้าห้างดังย่านลาดพร้าว มีรถเมล์ทั้ง ขสมก. และรถร่วมบริการวิ่งทับกัน 30 สาย สมมติเฉลี่ยสายละ 30 คัน รวมกันยาว 10 กว่ากิโลเมตร เพราะรถเมล์หนึ่งคันยาว 12 เมตร ทำให้รถติดและรถขาดช่วง ปล่อยให้ผู้โดยสารยืนรอด้วยความหวัง

 

 


 

  • ปรับแผนใหม่ใช้รถเมล์ NGV-ไฮบริด

ขบ.ออกแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ปี 2563 รับกระแสโพล "รถเมล์แบบไหนถูกใจคนกรุงฯ" หลังพบแผนปฏิรูปเดิมมีบางข้อไม่ตอบโจทย์ผู้โดยสาร โดยจัดหารถใหม่พลังงานไฟฟ้า NGV และไฮบริด มีบริการที่สะอาด สะดวก สบาย ปลอดภัย ผ่านการตรวจสอบคุณภาพตัวรถทั้งระบบคันเร่ง เบรก เป็นอย่างดี และเป็นรถเย็น ติดแอร์ทั้งหมด ทำให้พนักงานขับรถไม่รู้สึกเครียด

 

 

 

 

ราคาค่าบริการเหมาจ่ายทั้งวัน 30 บาท สามารถโดยสารกี่เที่ยวก็ได้ไม่จำกัด ทั้งรถของ ขสมก. และรถเอกชนร่วมบริการ ส่วนคนที่ขึ้นเที่ยวเดียวคิดราคาเพียง 15 บาท ปัญหาการจราจรลดลงเนื่องจากจะมีจำนวนรถประจำทางลดลง จาก 6,000 คัน เหลือเพียง 2,500 คัน เท่ากับการลดพื้นที่การใช้ถนนลง รถเมล์วิ่งตามโปรแกรมคำนวณจากระบบคอมพิวเตอร์ของ ขบ.ทำให้รถไม่ต้องวิ่งทับเส้นทางกันเอง ระยะเวลารอรถสั้นลง 5-10 นาที โดยการปรับเส้นทางวิ่งระยะสั้น แต่มีความถี่เพิ่มขึ้น ประชาชนโดยรวมทั้งประเทศ ไม่มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น เนื่องจากหนี้สินเดิมได้มีการจัดการ หากทำตามแผนที่วางไว้ มีการคำนวณว่าจะขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐเป็นระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2571 และในปี 2572 ขสมก.จะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่เป็นภาระให้ภาครัฐในอนาคตนับเป็นการเตรียมแผนสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

 

 

 

 

รถเมล์ NGV จากประเทศจีน ให้บริการที่กรุงเทพฯ ในช่วงเวลาหนึ่ง

 

 

 

 

  • รถเมล์ NGV ทยอยเสีย-ผู้โดยสารรอนาน


"แผนปฏิรูปรถเมล์" ฉบับใหม่เดินหน้า แต่ไม่ตอบโจทย์ความเป็นจริง รถเมล์ NGV ที่ให้บริการผลิตจากประเทศจีนทยอยเสีย และเกิดเหตุไฟไหม้บ่อยครั้ง ภาระขาดทุนหนี้สินสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 แสนล้านบาท ขณะที่สถานการณ์การเดินรถของ ขสมก.ที่มีเส้นทางรถเมล์ในมือ 109 เส้นทาง และช่วยเอกชนร่วมบริการอีก 19 เส้นทาง ทำให้ ขสมก.ต้องวิ่งให้บริการประชาชนอยู่วันละ 19,000 เที่ยว/วัน แต่มีรถเมล์ให้บริการ 2,800 คัน มีเสียงสะท้อนจากผู้โดยสารถึงปัญหาการรอรถเมล์นาน 

 

 

 

 

รถเมล์ไฟฟ้ารอบแรกจำนวน 1,250 คัน โดยบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด
 

 

 

 

  • รื้อแผนฟื้นฟูใหม่จัดหา "รถเมล์ไฟฟ้า"

แผนปฏิรูปรถเมล์ถูกปรับนับครั้งไม่ถ้วน แม้ล่วงเลยเข้าปีที่ 6 (ปี 2565) ขบ.ยังรื้อแผนฟื้นฟูอีกรอบ ด้วยการจัดหารถเมล์ใหม่ให้เป็น "รถเมล์ไฟฟ้า" จำนวน 3,200 คัน ภายใน 3 ปี โดยไม่ต้องหางบประมาณซื้อใหม่ แต่ใช้รูปแบบจ้างเหมาเอกชนวิ่งแทน ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

 

 

 

 

รถเมล์ไฟฟ้าให้บริการ 1,250 คัน ใน 122 เส้นทาง ครบตามเป้าหมายในปี 2565

 

 

 

 

  • ปลายปี 65 รถเมล์ไฟฟ้าเข้า 1,250 คัน

บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด เอกชนเจ้าแรกส่ง "รถเมล์ไฟฟ้า" ให้บริการ 1,250 คัน ใน 122 เส้นทาง ครบตามเป้าหมายในปี 2565 มีการเชื่อมโยงการเดินทางที่ตอบโจทย์ประชาชน โดยจากสถิติการเดินทางพบว่า มีผู้นิยมใช้บริการในแต่ละวันเฉลี่ยมากกว่า 10,000 คน

 

 

 

 

  • ผู้โดยสารบ่นรอนาน-เลขสายจำยาก

ผู้โดยสารร้องเรียนว่าจำนวนรถเมล์มีน้อย รอรถนานเป็นชั่วโมง และยังเลิกวิ่งเที่ยวสุดท้ายไว โดยพบว่า รถในหลายเส้นทางหมดเที่ยวสุดท้ายเวลา 18.00 น. หรือ 19.00 น. จากเดิมที่วิ่งบริการไปถึง 21.00 น. นอกจากนี้ ยังมีเสียงสะท้อนอีกว่า เลขสายระบบใหม่มีความซับซ้อน จดจำได้ยาก ขบ.จึงปรับแผนวิ่งรถเมล์ โดยปล่อยรถคันสุดท้ายออกจากท่าปลายทาง 21.00 น. พ่วงเพิ่มเที่ยววิ่ง วันธรรมดา 22,000 เที่ยว/วัน และวันหยุดวันเสาร์-อาทิตย์ 18,000-20,000 เที่ยว/วัน

 

 

 

 

  • ปี 66 ส่ง "รถเมล์ไฟฟ้า" อีก 1,850 คันลงถนน 

ตามแผนปฏิรูปรถเมล์ฉบับแก้ไขล่าสุด ต้องส่งมอบ "รถเมล์ไฟฟ้า" จำนวน 1,850 คัน และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 3,500 คันภายในปี 2566 หรือตั้งแต่ปี 2565-2567 จะมี "รถเมล์ไฟฟ้า" จำนวนรวม 8,000 คัน แบ่งเป็นรถเอกชนร่วมบริการ จำนวน 3,000 คัน โดยภายในปี 2565 จำนวน 1,250 คัน และในปี 2566 อีกประมาณ 1,850 คัน ขณะที่ ขสมก. มีแผนจัดหารถเมล์ไฟฟ้าจำนวน 3,000 คัน ซึ่งจะทยอยรับมอบในปี 2566 จำนวน 400 คัน และปี 2567 ประมาณ 2,600 คันะทำให้ในปี 2566 นี้ประเทศไทยจะมี "รถเมล์ไฟฟ้า" ถึง 4,000 คัน จากทั้งหมดในระบบประมาณ 7,000 คัน โดยเป้าหมายจะมีการเปลี่ยน "รถเมล์ไฟฟ้า" ให้ได้ 100% ใน 1 ปี 6 เดือนนับจากนี้ (ครบกำหนดเดือนก.ค. ปี 2567)

 

 

 

 

ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร

 

 

 

 

  • สภากรุงเทพฯ เห็นชอบร่างกม. "รถเมล์ไฟฟ้า" ทั่วกรุง

ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เห็นชอบญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ พ.ศ. … วาระที่ 1 ด้วยคะแนน 33 ต่อ 3 เสียง มีเนื้อหากำหนดให้รถเมล์ใหม่ในกรุงเทพฯ ทุกคันต้องเป็น "รถเมล์ไฟฟ้า" และภายใน 7 ปี รถเมล์ในกรุงเทพฯ ต้องเป็น "รถเมล์ไฟฟ้า" ทั้งหมด

 

 

 


หากเป็นไปตามแผน "รถเมล์ไฟฟ้า" ทั้ง 7,000 คันภายในเดือนก.ค. ปี 2567 จะสามารถช่วยลด PM2.5 ลดก๊าซเรือนกระจกได้ไม่ต่ำ 1,000,000 ตัน และแก้ปัญหา 108 ของ ขสมก. ฟื้นเรียงตัวเป็นโดมีโน่ อย่างไรก็ดี ต้องติดตามกันต่อว่าปีนี้ "รถเมล์ไฟฟ้า" จำนวน 1,850 คัน คนไทยจะได้ใช้บริการตามเป้าหมายที่ ขบ. ประกาศไว้หรือไม่