ชีวิตดีสังคมดี

ดราม่าไข่ต้ม สู่การขุดตำรา 15 ปี 'ภาษาพาทีป.5' ก้าวข้ามกระแสวิจารณ์

ดราม่าไข่ต้ม สู่การขุดตำรา 15 ปี 'ภาษาพาทีป.5' ก้าวข้ามกระแสวิจารณ์

25 เม.ย. 2566

เจ้ากระทรวงศึกษา "ตรีนุช เทียนทอง" รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) นั่งไม่ติด สั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทบทวนบทเรียน "ภาษาพาทีป.5" สพฐ.เมินกระแสวิจารณ์เพราะบทเรียนสอนวรรณกรรมให้เด็กรู้คิดวิเคราะห์ ขณะชาวเน็ตขุดไม่จบถูกวิจารณ์ตำราล้าสมัย

"ตรีนุช เทียนทอง" รมว.ศึกษาธิการ พูด​ถึงประเด็นโลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์บทเรียนในหนังสือ "ภาษาพาทีป.5"  ว่า​ ศธ.ยินดีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแบบเรียนนี้ และนำเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแบบเรียนในอนาคตให้ได้แบบเรียนที่มีคุณภาพ

 

  น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ

และล่าสุดร้อนไปถึงหู "เกศทิพย์ ศุภวานิช" รองเลขาธิการ กพฐ. ได้สั่งตรวจสอบเนื้อหาในตำราเรียน "ภาษาพาทีป.5" และสั่งการให้คณะกรรมการสำนักวิชาการ หารือกับผู้เขียน แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหา เพื่อการสื่อสารทำความเข้าใจให้ชัดเจนเรื่องโภชนาการอาหารใหม่ ในประเด็นที่ถูกวิจารณ์ว่า ให้เด็กกินข้าวไข่ต้มครึ่งซีกคลุกน้ำปลาเป็นอาหารที่ไม่ครบ 5 หมู่ โดยจะมีการเติมข้อความย้ำว่า เป็นเพียงการยกตัวอย่างเท่านั้น

 

 

 

สื่อการสอน ภาษาพาทีป.5 หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

 

 

ด้าน "นายอัมพร พินะสา" เลขาธิการ กพฐ. บอกว่า​ เรื่องนี้ต้องดูที่เจตนารมณ์ของการจัดการเรียนรู้ว่า สพฐ.มีเป้าหมายให้บทเรียนแต่ละบทเรียนสอนเรื่องอะไร โดยกระบวนการเรียนรู้มีขั้นตอนให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้และสื่อประกอบการจัดการเรียนรู้ ประเด็น "ภาษาพาทีป.5" ที่เกิดขึ้นเป็นสื่อประเภทหนึ่งที่ใช้ประกอบการจัดการเรียนรู้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นหนังสือเรียน ซึ่งบทเรียนนี้​ สพฐ.ต้องการให้นักเรียนนำภาษาไปใช้และการแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดและเห็นคุณค่าของความสุขผ่านบทวรรณกรรม

 

 

 

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.

 

 

 

ดังนั้น​ คนเขียน "ภาษาพาทีป.5" บทเรียนนี้จึงออกแบบด้วยการกำหนดตัวละครขึ้นในชีวิตจริง มีทั้งคนจนและคนรวย และคนที่เลือกเกิดไม่ได้ ซึ่งเป็นบทบาทสมมติของครอบครัวที่ร่ำรวยอยู่สุขสบายแต่หาความสุขไม่เจอ แต่อีกครอบครัวที่ยากลำบากมีไข่ชิ้นเดียวแบ่งปันกันด้วยความสุข ซึ่งไข่ต้มในบทวรรณกรรมนั้นไม่พูดถึงโภชนาการ แต่เล่าถึงความสุขง่ายๆ จากการแบ่งปัน

 

 

 

"ไม่อยากให้มีเรื่องดราม่าเกิดขึ้น เพราะการเรียนรู้เรื่องหลักโภชนาการของนักเรียนที่ต้องเรียนรู้มีอยู่ในหลักสูตรวิชาสังคมศึกษา หมวดสุขศึกษาอยู่แล้ว บทเรียนนี้เป็นการเปรียบเทียบให้เด็กวิเคราะห์ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ตรงไหนมากกว่า สพฐ.ไม่กังวลว่าดราม่าที่เกิดขึ้น จะเบี่ยงประเด็นไปในรูปแบบไหน เพราะ เราอยู่ภาคการศึกษา ยินดีที่จะรับฟัง เพราะทุกความคิดมีประโยชน์และทุกคนมีวิจารณญาณในการวิเคราะห์" "นายอัมพร​" กล่าว

 

 

ภาพประกอบบทเรียนเรื่อง "ชีวิตมีค่า" ซึ่งเป็น 1 บทเรียนในหนังสือภาษาพาทีป.5

 

 

 

"นายอัมพร​" บอกต่ออีกว่า​ การจัดทำหนังสือหนึ่งเล่ม​ สพฐ.ไม่ได้ทำคนเดียว ต้องผ่านกระบวนการการตั้งคณะกรรมการและการตรวจสอบจากนักวิชาการ เข้าใจดีว่า เมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์ผ่านไป อาจจะต้องปรับเนื้อหาหนังสือให้มีความทันสมัยมากขึ้น

 

 

 

อย่างไรก็ตาม บทเรียน "ภาษาพาทีป.5" สพฐ.เปิดโอกาสให้สำนักพิมพ์เสนอขอปรับปรุงสื่อการสอนของตัวเองมาได้ ซึ่งสื่อที่ผลิตใหม่นำเสนอใหม่ ถ้ามีหลักสูตรใหม่เกิดขึ้นมา หลักสูตรเก่าก็ต้องไม่มีการใช้สอนอยู่แล้ว

 

 

 

ดราม่าไข่ต้ม สู่การขุดตำรา 15 ปี \'ภาษาพาทีป.5\' ก้าวข้ามกระแสวิจารณ์

 

 

 

แม้ สพฐ.ออกมาจี้แจงแล้ว แต่ดูเหมือนว่า ประเด็น "ภาษาพาทีป.5" จะยังไม่จบลงง่ายๆ ล่าสุด ชาวเน็ตได้เปิดตำราเล่มนี้ และพบบทเรียนเรื่อง "ภัยเงียบ" เรื่องราวของ "แพน" ให้ "พี่เจี๊ยบ" ยืมเงิน 6,000 บาท โดยโอนผ่านเครื่องฝากเงินอัตโนมัติ แต่ "พี่เจี๊ยบ" เงียบหายไป 3 เดือน "แพน" จึงเข้าใจได้เองว่าคงถูกหลอก "พี่ทศ" พี่ชายของ "แพน" สอนน้องสาวว่า "เงินเสียแล้วก็เสียไป หาใหม่ได้ ถ้าแพนต้องเสียตัวหรือเสียชีวิต ครอบครัวเราคงทนไม่ได้แน่ ภัยมีอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง มันมาโดยที่เราไม่รู้ตัว ไม่ทันระวัง ถือเป็นบทเรียนแล้วกันนะน้อง" 

 

 

 

ชาวเน็ตได้อ่านเรื่องนี้แล้วแสดงความเห็นว่า แทนที่จะสอนน้องให้แก้ปัญหาให้ถูกจุดกับสถานการณ์สังคมปัจจบัน เช่น การไปแจ้งความ แต่กลับปล่อยผ่าน แถมยังยัดเยียดคำสอนที่ว่า เงินทองเป็นของนอกกาย ไม่ตายก็หาใหม่ได้

 

 

 

ดราม่าไข่ต้ม สู่การขุดตำรา 15 ปี \'ภาษาพาทีป.5\' ก้าวข้ามกระแสวิจารณ์

 

 

 

อีกหนึ่งบทเรียน "ภาษาพาทีป.5" คือ "ประชาธิปไตยใบกลาง" เรื่องราวของ "ภาณุ" และ "มีดี" ทั้ง 2 ลงสมัครประธานนักเรียน "ภานุ" เป็นคนมีน้ำใจชอบช่วยเหลือ และเป็นนักกีฬาฟุตบอลกองหน้า ส่วน "มีดี" เป็นคนร่ำรวย ชอบให้เงินเพื่อนๆ ซื้อขนม และใช้เงินแก้ปัญหา บทเรียนนี้สรุปให้ทุกคนเลือกคนดีมีความซื้อสัตว์ เป็นประธานนักเรียน

 

 

 

ชาวเน็ตมองว่า การลงคะแนนเลือกตั้งเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล ควรให้ความเคารพสิทธิทุกคน และควรสอนว่า ควรออกไปใช้สิทธิของตัวเองให้มีพลัง ส่วนจะเลือกใครเป็นสิทธิส่วนบุคคล

 

 

 

บทการสอนในหนังสือ "ภาษาพาทีป.5" เนื้อหาแสดงคำภาษาต่างประเทศในภาษาไทย

 

 

 

ขณะที่สื่อการสอน "ภาษาพาทีป.5" เล่มนี้ มีเนื้อหาบอกถึงคำภาษาต่างประเทศในภาษาไทย เนื้อหาได้บรรจุคำที่คนไทยมักเขียนผิด

 

 

 

อย่างไรก็ดี พอจะสรุปได้ว่า บทเรียน "ภาษาพาทีป.5" มีหลายมุมมองแสดงความคิดและทัศนคตินักวิชาการด้านการศึกษา และผู้คร่ำหวอดแห่งวงการศึกษา ผ่านกระบวนการการตั้งคณะกรรมการและการตรวจสอบก่อนจะบรรจุเป็นสื่อการเรียนและตีพิมพ์ จะทันสมัยหรือล่าสมัย คำตอบอยู่ที่แต่ละบุคคลมอง ส่วน สพฐ.ได้เปิดโอกาสให้สำนักพิมพ์เสนอขอปรับปรุงสื่อการสอน และจัดทำขึ้นใหม่ได้