'สูงวัย' แบบไหนนะ? ที่นายจ้างต้องการ เช็กสเปกได้ที่นี่
อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทุกๆ 100 คน จะมี "สูงวัย" 28 คน อนาคตประเทศไทยขาดแคลนแรงงานแน่นอนหากรัฐไม่เตรียมความพร้อม ขณะเดียวกันคนสูงวัยเองต้องตั้งรับ จะตั้งรับอย่างไร ผู้ประกอบการต้องการผู้สูงอายุแบบไหน และจะหางานได้ที่ไหน เช็กข้อมูลได้ที่นี่
"น.ส.บุณยวีร์ ไขว้พันธุ์" รองอธิบดีกรมการจัดหางาน เล่าถึงภาพตลาดแรงงานในอนาคตว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" ระดับสุดยอดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า กระทบต่อตลาดแรงงาน ขณะนี้มีประชากร "สูงวัย" ทั่วประเทศประมาณ 12.5 ล้านคน หรือราวๆ 15% จากประชากรทั้งหมด แต่ในปี 2577 จะมีประชากรผู้สูงอายุ 28% หมายความว่าใน 100 คน มีผู้สูงอายุ 28 คน การเตรียมความพร้อมรับมือสังคมผู้สูงอายุทุกภาคส่วนต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน
ปัจจุบัน "สูงวัย" ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีความสนใจทำงานหลังเกษียณมากขึ้น เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีความถดถอยจากปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด สถานการณ์ทางการเมือง ภาวะเงินเฟ้อ ภาพชัดเจนหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย มี "สูงวัย" เข้าสู่ตลาดงานเพิ่มมากขึ้น
ข้อมูล "สูงวัย" เข้าสู่ตลาดงานในช่วง 5 ปีย้อนหลัง พบว่า สถิติผู้สูงอายุเข้าสู่ตลาดงาน 5 ปีย้อนหลัง ปี 2560 จำนวน 4.1 ล้านคน, ปี 2561 จำนวน 4.4 ล้านคน, ปี 2562 จำนวน 4.3 ล้านคน, ปี 2563 จำนวน 4.8 ล้านคน, ปี 2564 จำนวน 4.9 ล้านคน, และปี 2565 จำนวน 4.7 ล้านคน
การจ้างงาน "สูงวัย" ตามระดับการศึกษา ผลสำรวจพบว่า อันดับ 1 ประถมศึกษา, อันดับ 2 มัธยมศึกษา และปริญญาตรี ตามลำดับ
ส่วนโอกาสมีงานทำของ "สูงวัย" ตามระดับการศึกษา พบว่า ปริญาตรี มีโอกาสขยายตัวร้อยละ 39.25, อาชีวศึกษา มีโอกาสขยายตัวร้อยละ 35.78 และสูงกว่าปริญาตรี มีโอกาสขยายตัวร้อยละ 34.11
"น.ส.บุณยวีร์" บอกต่อว่า เพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ "กรมการจัดหางาน" ได้ออกประกาศขอความร่วมมือและทำสัญญากับสถานประกอบการและนายจ้าง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ "สูงวัย" มีงานปลอดภัยและไม่กระทบต่อสุขภาพ โดยจ่ายค่าตอบแทนอย่างน้อยชั่วโมงละ 45 บาท ทำงานไม่เกินวันละ 7 ชั่วโมง ไม่เกินสัปดาห์ละ 6 วัน
"สูงวัย" แบบไหนที่นายจ้างต้องการ "น.ส.บุณยวีร์" บอกว่า คุณสมบัติเบื้องต้นของ "สูงวัย" เป็นที่ต้องการของนายจ้างสถานประกอบการ ได้แก่ มีสุขภาพร่างกายและจิตใจสมบูรณ์แข็งแรงสามารถปฏิบัติงานได้ มีอัธยาศัยดี สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้
"ภาคเอกชนส่วนใหญ่เป็นองค์กรที่มุ่งหวังแสวงหาผลกำไร จำเป็นต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าเป็นหลัก การจ้างงาน "สูงวัย" จึงมีอุปสรรคเรื่องความเชื่อมั่นในศักยภาพของแรงงาน "สูงวัย" ซึ่งส่งผลต่ออัตราการจ้างงาน และยังมีข้อจำกัดเรื่องหน้างานที่ไม่เหมาะกับ "สูงวัย" เช่น งานขนส่งระยะไกล งานที่ต้องอยู่กับสารเคมีอันตราย งานที่ต้องใช้เครื่องจักรอันตราย งานที่ทำเป็นกะ หรืองานที่ต้องยืนเป็นเวลานาน แต่เราก็มีแอปหางาน ชื่อ "ไทยมีงานทำ" ให้ผู้สูงอายุหางานทำได้เลย" "น.ส.บุณยวีร์" กล่าว
ดังนั้น "สูงวัย" ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม ด้วยการรักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจให้สมบูรณ์แข็งแรงสามารถปฏิบัติงานได้ ติดตามข้อมูลข่าวสาร สถานการณ์โลกปัจจุบัน และเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน
เพื่อขับเคลื่อนสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดอย่างมีประสิทธิภาพ "น.ส.บุณยวีร์" บอกว่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรมีนโยบายเพิ่มและเสริมทักษะตลอดช่วงอายุ ขยายการจ้างงานผู้สูงอายุ เพิ่มแรงจูงใจให้นายจ้างออกแบบงานให้มีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะผู้หญิง ที่ต้องแบกรับภาระการดูแลลูกหลานหรือเด็กเล็กในบ้าน
ส่วนระดับนโยบาย ต้องมีการส่งเสริมการจ้างงานคน "สูงวัย" เป็นภารกิจของกรมการจัดหางาน ได้มีการบูรณาการการทำงานกับกรมสรรพากรในการออกมาตรการลดหย่อนภาษี 2 เท่า เพื่อจูงใจผู้ประกอบการ
บูรณาการกับสถาบันวิทยาลัยชุมชนเพื่อให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุที่ต้องการพัฒนาทักษะการทำงาน รวมถึงบูรณาการกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในการจัดหาที่พักให้แก่ผู้สูงอายุที่หางานและไม่มีที่อยู่อาศัย ให้กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ แก่ผู้สูงอายุที่ต้องการประกอบอาชีพส่วนตัว เพื่อการเตรียมความพร้อมรับสังคม "สูงวัย" ระดับสุดยอด