ส่งเด็กก่อความรุนแรงเข้าสถานพินิจ อาจไม่ใช่คำตอบที่ดี?
ยังเป็นข้อถกเถียงถึงพฤติกรรม "ความรุนแรงในเด็ก" และเยาวชน สรุปเพิ่มขึ้นหรือลดลง สื่อโซเชียลปรากฏเหตุการณ์เด็กและเยาวชนก่อความรุนแรงเกิดความเสียหายบ่อยครั้ง บางคนรับโทษคุมขังในสถานพินิจ แต่กลับออกมาก็กระทำซ้ำอีก ทว่าความจริงปรากฏเช่นไร ติดตามจากรายงาน
"โชติมา สุรฤทธิธรรม" ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม เปิดผลวิจัยสถิติ "เด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ระบุว่า "ความรุนแรงในเด็ก" และเยาวชน ปี 2565 ตัวเลขเพิ่มขึ้นจากปี 2564 แต่เพิ่มขึ้นแบบไม่มีนัยยะสำคัญ เพราะเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่ถ้าหากเปรียบเทียบระหว่างปี 2560 กับปี 2564 สถิติเด็กและเยาวชนก่อเหตุความรุนแรงลดลงค่อนข้างมาก
ในทุกๆ ปี ส่วนใหญ่ช่วงวัยที่เยอะที่สุดคือ ช่วง 16-17 ปี ประมาณ 40-50% ส่วนเด็กอายุ 15 ปีประมาณ 20% และเด็ก 10-11 ปีเป็นกลุ่มที่น้อยที่สุด และจากงานวิจัยที่ได้ศึกษา พบว่า โดยทั่วไป "ความรุนแรงในเด็ก" จะค่อยๆ ลดลงเองด้วยตามธรรมชาติของการพัฒนาการทางด้านสมองและประสบการณ์ของเด็กที่เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันเด็กก็จะมีพันธะผูกพันกับเป้าหมายในอนาคตที่ชัดเจนขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียนการทำงาน หรือกระทั่งการที่จะวางแผนการมีครอบครัว
"เส้นทางชีวิตแบบนี้มันก็ทำให้เด็กส่วนใหญ่เมื่อออกจากวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น พฤติกรรมเสียหายต่างๆ "ความรุนแรงในเด็ก" จะลดลงเรื่อยๆ อันนี้คือเป็นธรรมชาติหรือเป็นวงจร แต่ก็มีอยู่ประมาณ 5% ที่พฤติกรรมเสียไม่หายแม้เวลาจะผ่านไป" "โชติมา" ระบุ
ปัจจัยที่ทำให้เกิด "ความรุนแรงในเด็ก" และเยาวชน "ผศ.ดร. ณัฐสุดา เต้พันธ์" คณบดี และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปได้ 3 ข้อ ได้แก่ 1. หากเสียงของเขามีความหมายความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้น 2. เมื่อเขารู้สึกอัดอั้น ถูกบีบ ถูกกด ความรุนแรงจะมากขึ้น และ 3. ต้องสร้างพื้นที่ให้เขาได้แสดงออก ยกตัวอย่างกระบวนการทางการเมือง ต้องรับฟังคนทุกกลุ่ม เพราะเมื่อไรที่เขารู้สึกอัดอั้น แต่ทำอะไรไม่ได้ ความรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้นแน่นอน
"ผศ.ดร. ณัฐสุดา" กล่าวต่อว่า หากมองสถิติ "ความรุนแรงในเด็ก" และเยาวชนต่อผู้อื่นตัวเลขลดลง แต่หากมองความรุนแรงต่อตัวเอง ตัวเลขในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น และทั่วโลกก็เผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพจิตต่อตัวเองเพิ่มขึ้นเช่นกัน
คำถามก็คือว่า "ต้องทำอย่างไรจึงจะหยุด "ความรุนแรงในเด็ก" และเยาวชนได้" "ผศ.ดร. ณัฐสุดา" ตอบว่า ต้องดูแลตั้งแต่เด็ก เพราะเด็กเรียนรู้ตั้งแต่เกิด เขาสามารถตอบสนองต่อความโกรธได้ ซึ่งพฤติกรรมนี้ไม่ได้มีมาตั้งแต่เกิด มีงานวิจัยของจุฬาฯ ศึกษาความรุนแรงบนโลกไซเบอร์ปี 2566 กลุ่มตัวอย่าง 2,000 ตัวอย่าง ผลปรากฎ 40% เคยเห็นเหตุการณ์ 31% เคยกระทำเอง และ 28% เคยเป็นผู้ถูกกระทำ
ด้าน "ธนะชัย สุนทรเวช" ผู้จัดการอาวุโสด้านการพัฒนาหุ้นส่วนทางสังคมและการมีส่วนร่วม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice (TIJ)) ให้คำตอบการลด "ความรุนแรงในเด็ก" และเยาวชน คล้ายๆ กันว่า การเลี้ยงดูจากครอบครัวคือปัจจัยที่สำคัญที่สุด เลี้ยงลูกเชิงบวก ใส่พลังบวกเข้าไปแทนให้คำชมหรือจูงใจในทางที่อยากจะทำ เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยได้
"ลูกชายผมวัยรุ่นเลยครับ 16 ปี ตอนนี้ผมก็ใช้วิธีนี้ ใช้การพูดคุยทำความเข้าใจมากกว่าที่จะโกรธจะตี หรือจะไปดุด่า ต้องเข้าใจฮอร์โมนเขาด้วย เขาอาจจะมีการต่อต้าน แต่เราพูดคุยให้เขารู้สึกว่าเราเป็นเพื่อน เรารับฟังมีอะไรก็บอก มันซักจูง แต่อาจจะไม่ได้บอกตรงๆ นะ ทำเส้นทางให้เขาเดินตามเรามันง่ายกว่า" "ธนะชัย" กล่าว
"ธนะชัย" บอกต่อว่า การลงโทษทางกฎหมาย จริงๆ แล้วมีทางออกจากกระบวนการยุติธรรมของคดีเด็กและเยาวชน เด็กหมายถึงคือคนที่อายุต่ำกว่า 15 ปี เยาวชนอายุ 15-18 ปี มีมาตราที่ช่วยเหลือคือ มาตรา 90 และมาตรา 132 ที่ฟื้นฟูให้เด็กแก้ไขข้อผิดพลาดแทนที่จะไปอยู่ในศูนย์ฝึก และอีกประการคือ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ คือ เยียวยาผู้เสียหายต่อผู้กระทำผิด ด้วยการให้เด็กรู้สึกผิดอย่างจริงใจ เป็นเด็กมีอะไรก็คุยกันได้ช่วยกันแก้ปัญหา ซึ่งจะช่วยลดเรื่องของการกระทำผิดซ้ำของตนเองด้วย
"ผมมองว่ามันจะดีขึ้น แทนที่จะรู้สึกว่ามีอะไรก็ลงโทษอย่างเดียว ลองปรับวิธีคิด หันมาพูดคุยทำความเข้าใจมันจะช่วยลด "ความรุนแรงในเด็ก" ได้เหมือนกันครับ" "ธนะชัย" กล่าวในที่สุด
"กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์" คือ เป็นกระบวนการที่ช่วยให้ผู้กระทำผิดและเหยื่อหรือผู้เสียหายได้มีปฏิสัมพันธ์กันผ่านคนกลาง (facilitator) เพื่อให้เกิดผลที่เป็นธรรมต่อคู่กรณีทั้งสองฝ่าย แน่นอนว่าการที่จะทำให้คู่กรณีมีความเห็นลงรอยกัน โดยไม่เอาชนะด้วยเพียงการจะส่งผู้กระทำผิดสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ จะทำสิ่งนั้นให้ "ง่าย" ขึ้น
เป้าหมายของ "กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์" คือ การทำให้คู่กรณีสามารถปรับความเข้าใจซึ่งกันและกันได้ ผู้กระทำผิดสำนึกผิด และยินยอมในการเข้ารับการช่วยเหลือฟื้นฟูพฤติกรรม พร้อมทั้งเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ผ่านคนกลางที่มีความรู้ความสามารถและทักษะในการทำหน้าที่เป็น facilitator ระหว่างคู่กรณี วิธีการเช่นนี้ยังเป็นวิธีการที่ช่วยบรรเทาความแตกแยกได้ในหน่วยสังคมขนาดเล็กอย่างครอบครัว โรงเรียน หมู่บ้าน และชุมชนด้วย ภายใต้การดูแลของ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice (TIJ))