'ซื้อบ้านแล้วเจ้าของไม่ยอมย้ายออก' ทำอย่างไร กรมบังคับคดี มีทางออก
กรมบังคับคดี แนะทางออก ซื้อบ้านกรมบังคับคดี หรือ 'ซื้อบ้านแล้วเจ้าของไม่ยอมย้ายออก' ต้องทำอย่างไร ป้องกันคดีอาชญากรรม
“ซื้อบ้านแล้วเจ้าของไม่ยอมย้ายออก” กลายเป็นศึกนองเลือด หลังเกิดเหตุการณ์ หญิงซื้อบ้านจากกรมบังคับคดี แต่เจ้าของเดิมไม่ย้ายออกนานเป็นปี จนเกิดเหตุยิงกันเสียชีวิต หลังจากนั้น ทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าหากมีการซื้อบ้านจากกรมบังคับคดีแล้ว เจ้าของเดิม ไม่ยอมย้ายออก จะต้องทำอย่างไร
ซึ่งทางกรมบังคับคดี มีการแนะนำแนวทาง คือต้องร้องศาล เพื่อขอให้ศาลมีหมายบังคับคดี ขับไล่เจ้าของเดิม และคนในบ้านออกจากทรัพย์สินนั้น และเจ้าของเดิม ก็สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดี เจรจาไกล่เกลี่ยได้เช่นกัน
นางทัศนีย์ เปาอินทร์ อธิบดีกรมบังคับคดี ชี้แจงว่า กรณีซื้อบ้านกรมบังคับคดี โดยได้ชำระราคาค่าซื้อทรัพย์ และได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ ณ สำนักงานที่ดินแล้ว หากซื้อบ้านแล้วเจ้าของไม่ยอมย้ายออก ผู้ซื้อสามารถร้องขอต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีหมายบังคับคดี ขับไล่เจ้าของเดิม และบริวารออกจากทรัพย์ดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ แต่หากเจ้าของเดิมและบริวารยังไม่ย้ายออก ผู้ซื้อทรัพย์สามารถยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดี รายงานศาลขอให้ออกหมายจับเจ้าของเดิมและบริวาร ซึ่งเป็นขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
นอกจากนี้ หากผู้ซื้อทรัพย์ประสงค์ที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดี เชิญเจ้าของเดิมมาเจรจาหาทางออกร่วมกันก็สามารถทำได้ ในขณะเดียวกัน เจ้าของเดิมก็สามารถที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดี จัดเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้ซื้อทรัพย์ได้เช่นกัน ซึ่งวิธีดังกล่าว อาจนำไปสู่การระงับข้อพิพาทด้วยความสมานฉันท์ และเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายได้ โดยไม่ต้องดำเนินการบังคับคดีต่อไป
ข้อบังคับกฎหมายเมื่อ ซื้อบ้านแล้วเจ้าของไม่ยอมย้ายออก
“มาตรา 334 เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดี โอนอสังหาริมทรัพย์ที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ หากทรัพย์สินที่โอนนั้นมีลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบริวารอยู่อาศัย และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น
ผู้ซื้อชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้น ตั้งอยู่ในเขตศาลให้ออกหมายบังคับคดี เพื่อบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น โดยให้นำบทบัญญัติมาตรา 271 มาตรา 278 วรรคหนึ่ง มาตรา 351 มาตรา 352 มาตรา 353 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง มาตรา 354 มาตรา 361 มาตรา 362 มาตรา 363 และมาตรา 364 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ทั้งนี้ ให้ถือว่าผู้ซื้อเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารที่อยู่อาศัยในอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามบทบัญญัติดังกล่าว”
ดังนั้น ผู้ซื้อหรือเจ้าของคนใหม่ สามารถไปขอคำสั่งศาล ให้มีการบังคับคดีขับไล่ผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ในบ้านนั้นออกไปในระยะเวลาที่ศาลสั่งได้ ถ้าเป็นการซื้อบ้านต่อจากกรมบังคับคดี จะไม่เป็นคดีใหม่ สามารถขับไล่ได้ทันที แต่ถ้าเป็นการได้มาโดยคดีอื่นๆ อาจเสียเวลาเป็นปีๆ ดังนั้น คนที่น่าสงสารตัวจริงอาจเป็นเจ้าของบ้านใหม่นี้มากกว่าคนอื่น