ชีวิตดีสังคมดี

'คนไข้ล้นโรงพยาบาล' งานหนักต้นเหตุ 'หมอลาออก' ซบ รพ.เอกชน

'คนไข้ล้นโรงพยาบาล' งานหนักต้นเหตุ 'หมอลาออก' ซบ รพ.เอกชน

14 มิ.ย. 2566

นโยบาย และโครงสร้างของรัฐไม่เอื้อให้บริการทางการแพทย์มีประสิทธิภาพ และมี ระบบสวัสดิการถ้วนหน้า อย่างที่ควรจะเป็น ทำให้ คนไข้ล้นโรงพยาบาล และเป็นหนึ่งในสาเหตุทำให้ 'หมอลาออก' รวมทั้ง บัตรทอง ก็มีปัญหา เกิดความเหลื่อมล้ำของระบบสุขภาพ ฟาก รพ.เอกชน ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

 

มุมมองและข้อเสนอแนะจาก ศ. นพ.ประเวศ วะสี สะท้อนไว้น่าสนใจว่า ภาระหนักเกินตัวเหมือนฝันร้ายที่ฝังใจในชีวิตของแพทย์คือ การเป็น “แพทย์เวร 24 ชั่วโมง” แล้วยังต้องไปราวน์วอร์ด (Round ward) หรือการตรวจเยี่ยมผู้ป่วยในห้องพักผู้ป่วย (วอร์ด) ของแพทย์และพยาบาล ซึ่งจะทำเป็นกิจวัตรประจำวันต่อเนื่องโดยไม่ได้พัก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ หมอลาออก ไปซบ รพ.เอกชน และเป็นหนึ่งปัญหาของ ระบบสวัสดิการถ้วนหน้า
 

บรรยากาศคนไข้รอการรักษาในโรงพยาบาล

 

 

เมื่อนานมาแล้วที่ศิริราช อาจารย์หมออวย เกตุสิงห์ เชิญ อาจารย์พร รัตนสุวรรณ ซึ่งเรียกกันว่า “พรวิญญาณ” เพราะนั่งสมาธิแล้วเห็นวิญญาณต่างๆ นำลูกศิษย์มานั่งสมาธิแล้วถามว่าเห็นอะไรบ้าง ลูกศิษย์บอกว่าเห็นวิญญาณคนไข้ที่ตายไปยั้วเยี้ยไปหมด และเห็น “วิญญาณแพทย์ที่ตายไปแล้วกำลังอยู่เวร” พอถึงตอนนี้พวกแพทย์ที่กำลังมุงดูแตกฮือเลย อุทานว่า “นึกว่าเป็นเวรแต่ชาตินี้ ตายไปแล้วยังต้องอยู่เวรอีก!!”


เวลาตรวจคนไข้ที่โอพีดีหรือผู้ป่วยนอก คนไข้ยั้วเยี้ยไปหมด ต้องตรวจแต่ละคนอย่างเร่งรีบ รวบรัด เลยเที่ยงไปแล้วก็ยังไม่หมด ทั้งเหนื่อยทั้งหิว จึงเป็นเหตุให้ หมอลาออก สำหรับสาเหตุโดยรวมของระบบสุขภาพก็คือ 

 

คนไข้รับบริการฉีดวัคซีน

 

1. การมีหลักประกันสุขภาพหรือ บัตรทอง ทำให้จำนวนคนไข้ที่หลั่งไหลมาโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นหลายล้านคน เมื่อก่อนไม่กล้ามาเพราะไม่มีเงิน อีกส่วนหนึ่งคิดว่าไหนๆ ก็ฟรีไม่ต้องเสียเงิน ไปตรวจเสียหน่อยก็ดี เดี๋ยวจะขาดทุน ซึ่งกระทบต่อ ระบบสวัสดิการถ้วนหน้า


2. คนไข้ส่วนใหญ่ที่มาจากโรงพยาบาล คือ เป็นหวัด เจ็บคอ ปวดหัว ปวดท้อง แต่ต้องมาไกล รอนาน บริการรีบร้อน คุณภาพจะดีได้อย่างไร เลยไปกระทบคุณภาพของบริการผู้ป่วยที่จำเป็นจริงๆ ที่จะต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล และยังทำให้ คนไข้ล้นโรงพยาบาล


3. รพ.เอกชน เพิ่มจำนวนขึ้นมาก ดึงแพทย์และพยาบาลออกไปจากโรงพยาบาลของรัฐจำนวนมาก ทำให้คนที่เหลือต้องรับภาระหนักเพิ่มขึ้น ซึ่ง รพ.เอกชน มีแรงจูงใจสูงกว่า สภาพการทำงานก็ดีว่า งานไม่หนักเท่า ค่าตอบแทนสูงกว่า ใครจะไม่อยากไป


4. Medical Hub คนต่างชาติก็นิยมมารักษาที่ รพ.เอกชน ในประเทศไทย นำรายได้และชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย ใครๆ ก็เชียร์ Medical Hub แต่ผลข้างเคียงที่สำคัญก็คือ ดึงบุคคลออกไปจากโรงพยาบาลของรัฐ กระทบบริการต่อคนจน เพิ่มความเหลื่อมล้ำ แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร


5. ค่าบริการ รพ.เอกชน สูงมาก เพราะผู้ป่วยมีฐานะที่จะจ่ายได้ แต่มีผลกระทบหลายอย่าง เช่น 1) ผู้มีฐานะก็หาทางไปสูบมาจากคนอื่น เพิ่มความเหลื่อมล้ำของระบบสุขภาพ 2) บางคนหมดเนื้อหมดตัว เพราะป่วยเรื้อรัง ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายเป็นล้านๆ 3) ใช้เทคโนโลยีราคาแพงอย่างไม่คุ้มค่า เทคโนโลยีทางการแพทย์ราคาแพง ชิ้นหนึ่งๆ หลายร้อยบาทก็มี แต่ก็ต้องแข่งกันมีสิ่งที่ดีที่สุด และหาเงินมาถอนทุน ทำให้สั่งตรวจโดยไม่จำเป็น ทำให้ผู้ป่วยต้องจ่ายมากเกินควร และเงินไหลออกจากประเทศไปสู่บริษัทผู้ผลิตในต่างระเทศ


6. เป็นการเคลื่อนย้ายเงินจากคนส่วนใหญ่ไปสู่คนส่วนน้อย คือ แพทย์และโรงพยาบาลเอกชนและเจ้าของเทคโนโลยีการแพทย์ราคาแพง เพิ่มความเหลื่อมล้ำของระบบสุขภาพ ให้สูงขึ้นอีก อันเป็นราคาที่ประเทศต้องจ่ายมากเหลือหลาย

 

จะแก้ปัญหาความซับซ้อนนี้อย่างไร

 

1. โรงพยาบาลของรัฐบริหารอย่างเอกชนเพื่อประชาชน กระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลประมาณ 1,000 แห่ง คือ โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอ และโรงพยาบาลในส่วนกลาง เมื่อเปลี่ยนเป็นการบริหารแบบเอกชน ก็เท่ากับมี รพ.เอกชน เพิ่มขึ้น 1,000 แห่ง และอยู่ในฐานะจะแข่งขันได้ดีกว่าโรงพยาบาลที่เอกชนเป็นเจ้าของ เพราะต้นทุนถูกกว่า ทำให้ไม่ต้องคิดค่าบริการสูงเกินควร จะเป็นบรรทัดฐานให้ รพ.เอกชน ลดราคาบริการลง


เคยทดสอบมาแล้วที่ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) จ.สมุทรสาคร เมื่อการบริหารคล่องตัวแบบเอกชนปรากฏว่ามีแพทย์เพิ่ม ที่ลาออกจาก รพ.เอกชน ก็มี สภาพการทำงานดีขึ้น สามารถให้บริการได้อย่างดี ประชาชนในอำเภอบ้านแพ้วเกือบไม่ต้องไปรับบริการที่อื่นเลย พอใจโรงพยาบาลของเขามาก มาร่วมบริหารโรงพยาบาล หาทรัพยากรมาเพิ่มให้ ฐานะการเงินดี สามารถจัดรถพยาบาลเคลื่อนที่ไปผ่าตัดต้อกระจกฟรีให้ประชาชนทั่วประเทศ สามารถไปซื้อโรงพยาบาลพร้อมมิตรที่บางกะปิมาดำเนินการแบบโรงพยาบาลของรัฐ ที่บริหารแบบเอกชนเพื่อประชาชน ไม่ใช่เอากำไรไปให้ผู้ถือหุ้น


อนึ่ง โรงพยาบาลของรัฐที่บริหารแบบเอกชนยังสามารถทำงานเป็นเครือข่ายและร่วมใช้เทคโนโลยีราคาแพง ทำให้ประหยัดเงินที่สูญเสียไปให้ต่างประเทศโดยไม่คุ้มค่า เพราะไม่ต้องแข่งกันทำกำไรให้ผู้ถือหุ้น เพราะรัฐเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งจะช่วยเติมเต็ม ระบบสวัสดิการถ้วนหน้า


2. หน่วยพยาบาลในชุมชน 1 : 1,000 คือ ในชุมชนทั้งในชนบทและในเมือง ซึ่งรวมทั้งชุมชนแบบใหม่ๆ เช่น ชุมชนบ้านจัดสรรและชุมชนคอนโด ประมาณ 1,000 คน มีหน่วยพยาบาล 1 หน่วย มีกำลังบุคลากรหน่วยละ 3 คน คือ พยาบาล 1 คน ผู้ช่วยพยาบาล 2 คน


พยาบาลทั้ง 3 สามารถดูและคน 1,000 คน อย่างใกล้ชิดประดุจญาติ รู้จักกันเป็นส่วนตัวหมดทุกคน มีข้อมูลของทุกคนอยู่ในคอมพิวเตอร์ เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ส่งเสริมให้ทุกคนมีสุขภาพดี ป้องกันโรค และให้การรักษาโรคที่พบบ่อย รวมทั้งควบคุมโรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานได้ทุกคนทั่วประเทศ ลดภาระโรคแทรกซ้อนได้อย่างมหาศาล สามารถติดต่อปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลได้โดยระบบ Tele medicine ถ้าจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลก็จะจัดการติดต่อให้หรือพาไป และรับกลับมาดูแลต่อที่บ้าน รวมทั้งช่วยแนะนำการดูแลเด็กปฐมวัย และเยี่ยมผู้ชราถึงบ้าน


นี่แหละที่เรียกว่า บริการใกล้บ้าน ใกล้ใจ คนไทยทุกคนได้รับการบริการใกล้ชิดประดุจญาติ


ทำได้จริงและทำได้ทันที เพราะพยาบาลมีจำนวนมากกว่าบุคลากรประเภทอื่นทุกชนิดรวมกัน คือมีประมาณ 200,000 คน และมีสถาบันการผลิต 100 แห่ง สามารถผลิตเพิ่มได้อีก ผู้ช่วยพยาบาลใช้เวลาเรียน 1 ปี สามารถผลิตได้มากและมีประโยชน์มาก ผลคือ

 

 

  • คนไทยทุกคนได้รับบริการที่มีคุณภาพสูงใกล้บ้าน ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล
  • โรงพยาบาลลดภาระแออัดยัดเยียด สามารถให้บริการที่มีคุณภาพสูงนี้
  • สามารถควบคุมโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงได้ทั้งประเทศ ลดภาระโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ โรคไตวาย และโรคหลอดเลือดในสมอง
  • ผู้สูงอายุได้รับบริการที่ดีที่ใกล้บ้าน หรือถึงที่บ้าน ทั้งประเทศ
  • ค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพโดยรวมจะลดลงอย่างมหาศาล ในขณะที่บริการสุขภาพทั่วถึง เป็นธรรม และคุณภาพสูงขึ้น แบบที่เรียกว่า “Good health at low cost”


ฉะนั้น สปสช. จึงควรจัดระบบการเงินสนับสนุนหน่วยพยาบาลในชุมชน ให้พยาบาล และผู้ช่วยพยาบาลได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่าอัตราเงินเดือนทางราชการ Happy ending ด้วยกันทุกฝ่าย


3. สนับสนุนให้ รพ.เอกชน ที่มีกำลังและคุณภาพสูง เป็นโรงเรียนแพทย์ และวิทยาลัยพยาบาล


เรื่องนี้ยังไม่แน่นอนและกินเวลา...ที่แน่นอนและทำได้ทันทีคือ 2 วิธีแรก