ตรวจยีนก่อน 'รักษามะเร็ง' ให้ยาตรงโรค-พันธุกรรม โอกาสรอดชีวิตนานขึ้น
ทั่วโลกป่วยโรคมะเร็ง 19 ล้านคน เสียชีวิตประมาณ 9.6 ล้านคน ยารักษาแต่ละชนิดอาจไม่สัมพันธ์กับยีนผู้ป่วยแต่ละประเทศ แพทย์ไทยทั้งรัฐ-เอกชน ร่วมญี่ปุ่น วิจัยยีน หรือรหัสพันธุกรรมของคนไทยกับยาตอบสนองการรักษา เพื่อการรักษาที่ดีขึ้น ผู้ป่วยมีชีวิตยาวนานกว่าเดิม
อัตราการเสียชีวิตจาก "มะเร็ง" ในไทยค่อนข้างสูง สาเหตุมาจากยา "รักษามะเร็ง" แต่ละชนิดอาจไม่สัมพันธ์กับยีนผู้ป่วย เพื่อให้การรักษาดีขึ้น ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวมากขึ้น "กรมการแพทย์" ร่วมลงนาม "ศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งชาติญี่ปุ่น" ศึกษารหัสพันธุกรรมคนไทยตอบสนองยามะเร็งอย่างไร เป็นการศึกษาครั้งแรก ร่วมกันทั้งเครือข่ายแพทย์ไทยรัฐและเอกชน กับญี่ปุ่น พร้อมตั้งคณะกรรมการฯพิจารณาหารือจำนวนกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยมะเร็งในอนาคต
การศึกษาวิจัยนี้เป็นการนำยีน หรือ "รหัสพันธุกรรม" ของคนไทยกับยา "รักษามะเร็ง" ว่า มีความสัมพันธ์ร่วมกันหรือไม่ ผู้ป่วยที่เข้าร่วมวิจัยจะได้รับการดูแลจากนักวิจัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งทั้ง 2 ประเทศ
จำนวนตัวอย่างผู้ป่วยเบื้องต้นมาจาก "สถาบันมะเร็งแห่งชาติ" และความร่วมมือจากโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ ทั้งรามาธิบดี จุฬาลงกรณ์ ศิริราชในนามเครือข่ายกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ UHosNet และยังร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชน
โดยจะมีการหารือและคำนวณตัวอย่างผู้ป่วยที่จะทำการศึกษาก่อนว่า จะใช้เท่าไหร่ และจะรวบรวมจากจุดต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างการกระจายที่ถูกต้อง แต่ยังไม่ได้กำหนดจำนวนผู้ป่วย กลุ่มไหน มะเร็งชนิดใด ต้องศึกษาก่อนว่า แต่ละโครงการ เช่น ยาตัวนี้ เหมาะกับการ "รักษามะเร็ง" โรคนี้ในกลุ่มอายุเท่าไหร่ หรือผู้ป่วยมะเร็งระยะเท่าไหร่
คำถามคือ ทำไมไทยจึงได้ร่วมมือกับญี่ปุ่น "พญ.นภา ศิริวิวัฒนากุล" ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ตอบว่า สถานการณ์ "มะเร็ง" ในไทยและญี่ปุ่นค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดยไทยภาพรวมทั้งหญิงและชาย คือ มะเร็งตับ หรือมะเร็งท่อน้ำดี รองลงมามะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ และมะเร็งปากมดลูก
"เหตุผลที่ต้องมาทำการวิจัยร่วมกันก็เพื่อให้เห็นว่ายีนแต่ละคนเป็นอย่างไร ตอบสนองต่อยาหรือไม่ เพราะคนแต่ละภูมิภาคไม่เหมือนกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ทราบว่า ยาตัวนี้คนไข้ในเอเชียตอบสนองได้ดีหรือไม่อย่างไร ซึ่งปัจจุบันแนวโน้มการ "รักษามะเร็ง" จะมาทางการศึกษายีนของแต่ละคน เรียกว่าต้องลงระดับรหัสพันธุกรรมของคน เพื่อให้การรักษาดีขึ้น คนไข้มีอายุยืนยาวมากขึ้น" "พญ.นภา" ระบุ
"พญ.นภา" หวังว่า หลังเสร็จการศึกษาวิจัยจะทำให้คนไทยได้รับยาที่เป็นประโยชน์ มีคุณภาพ แต่ราคาต่ำลง โดยแผนระยะสั้น 3 เดือนจะเห็นโครงการวิจัยยาบางตัวที่ทางญี่ปุ่นจะนำเข้ามาใช้ในคนไทย ซึ่งจะเป็นยาที่ศึกษาทางจิโนมิกส์เป็นหลัก แต่รายละเอียดจะต้องหารือกันผ่านคณะกรรมการเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินความร่วมมือตามบันทึกความเข้าใจฯ ก่อน
อย่างไรก็ดี สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ คือ "กรมการแพทย์" และ "ศูนย์มะเร็งแห่งชาติญี่ปุ่น" จะร่วมกันหาแหล่งทุนสำหรับสนับสนุนการดำเนินโครงการวิจัยระหว่างประเทศ
"ศูนย์มะเร็งแห่งชาติ" จะสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพให้แก่สถาบันทางการแพทย์ของไทยจากการร่วมกันดำเนินโครงการวิจัยทางคลินิกระหว่างประเทศและการดำเนินโครงการ DCTs
"กรมการแพทย์" จะจัดตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการดำเนินความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ รวมถึงพัฒนาเครือข่ายสถาบันวิจัยทางคลินิกในประเทศไทย และการทำงานวิจัยระหว่างประเทศร่วมกัน