ไข้เลือดออกเพิ่มสูง เสียชีวิตแล้ว 19 ติดเชื้อสะสม 20,000 กว่าราย
ไข้เลือดออกเพิ่มสูง เตือนประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หากมีไข้ ไม่มีอาการทางเดินหายใจ ตรวจโควิดไม่พบเชื้อ ให้สงสัย "ไข้เลือดออก" และรีบไปพบแพทย์
สถานการณ์ "ไข้เลือดออก" ปีนี้พบ ผู้ป่วยสูงขึ้นข้อมูลล่าสุด 1 ม.ค. - 14 มิ.ย. 2566 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 21,457 ราย สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 3.3 เท่า กลุ่มอายุ 5-14 ปี มีอัตราป่วยสูงถึงร้อยละ 96.63 และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 19 ราย
"นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์" ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาเตือนประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หากมีไข้ ไม่มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ น้ำมูก และตรวจ ATK ไม่พบเชื้อโควิด 19 ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นโรค "ไข้เลือดออก" และรีบไปพบแพทย์ตรวจวินิจฉัยแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันการเสียชีวิต
- อาการ "ไข้เลือดออก" ในเด็ก
ส่วนเด็กๆ ที่ยังไม่สามารถบอกอาการของตนเองได้ ผู้ปกครองต้องสังเกตอาการใกล้ชิด หากรับประทานยาลดไข้ 2 วันแล้วไม่ดีขึ้น ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นโรคไข้เลือดออก และให้รีบไปพบแพทย์
- อาการ "ไข้เลือดออก" ในผู้ใหญ่
โรค "ไข้เลือดออก" ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ร่วมกับอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดกระบอกตา บางรายอาจมีปวดท้อง อาเจียน มีจุดแดงเล็กๆ ตามแขน ขา ลําตัว มีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดออกตามไรฟัน หรือประจำเดือนมากผิดปกติ
ดังนั้น ในช่วงนี้หากป่วยมีไข้สูง แต่ไม่มีอาการระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น ไอ หรือน้ำมูก และตรวจ ATK ไม่พบเชื้อโควิด 19 โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว มีภาวะอ้วน และผู้สูงอายุ ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นโรค "ไข้เลือดออก" ห้ามรับประทานยาลดไข้กลุ่มเอ็นเสด อย่างแอสไพริน ไอบูโพรเฟน และรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคให้ชัดเจน ช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิต
ทั้งนี้ ขอให้ช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อมทั้งที่บ้านและโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้มีเศษขยะ เช่น กล่องโฟม พลาสติกเหลือใช้ ที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อป้องกันอันตรายจากโรค "ไข้เลือดออก"