'เอลนีโญ' รุนแรงขึ้น เสี่ยงวิกฤต 'ภัยแล้ง' ภาคเกษตรอ่วม สินค้าราคาแพง?
'เอลนีโญ' เป็นปรากฎการณ์กระแสลม และกระแสน้ำอุ่นที่เกิดความแปรปรวนขณะเคลื่อนตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งผลให้เกิด 'ภัยแล้ง' ซึ่งมาจากเอลนีโญที่จะส่งผลกระทบต่อ 'ภาคเกษตร' อย่างหนัก และยาวนาน ในขณะที่ปรากฎการณ์ลานีญาจะส่งผลทำให้ฝนตกหนัก และเกิดน้ำท่วม
'ภัยแล้ง' ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ
เอลนีโญ (El Niño) จะเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยทุกๆ 2-7 ปี สาเหตุจากกระแสลมมีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางพัดจากฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปฟิซิกไปทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปฟิซิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังทวีปอเมริกาใต้แทน ด้วยปรากฎการณ์นี้เองส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลียฝนตกน้อย และเกิดภัยแล้ง แต่ในทางตรงกันข้ามจะทำให้บริเวณชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้กลับมีฝนตกหนักมากขึ้น\
'ภาคเกษตร' ได้รับความเสียหายหนัก
ภัยพิบัติจากความแปรปรวนที่ว่านี้จะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนที่ต้องพึ่งพาน้ำ ไม่ว่าน้ำกิน น้ำใช้ และน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศ ซึ่งภัยแล้งจะเป็นปัจจัยฉุดภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม อย่างไม่ต้องสงสัย ยิ่งแล้งนานยิ่งกระทบยาว ภาพที่จะเกิดก็คือปริมาณผลผลิตอาหารจะลดลง ราคาสินค้าเกษตรแพง และสินค้าอื่นๆ จะถีบตัวสูงขึ้น
สำหรับปรากฎการณ์ "ลานีญา (La Niña)" เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากกระแสลมพัดจากฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกมายังฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นทิศทางตรงกันข้ามกับปรากฎการณ์ "เอลนีโญ" นั่นเอง แต่กระแสลมมีความรุนแรงมากกว่าปกติ ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย มีระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และฝนตกหนักมากกว่าปกติ ในทางตรงข้ามก็เกิดภาวะแห้งแล้งหรือ ภัยแล้งตามแนวชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้
'เอลนีโญ' ส่อรุนแรงมากขึ้น
ปรากฏการณ์ลานีญาครั้งล่าสุด ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ย. ปี 2563 ได้ทำให้เกิดฝนตกหนักและอากาศหนาวเย็นในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกติดต่อกันนานผิดปกติถึง 3 ปี และได้สิ้นสุดลงแล้วอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม นักอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า จะเกิดสภาพภูมิอากาศแบบขั้วตรงข้ามตามติดมาในไม่ช้า นั่นก็คือปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่มีความรุนแรงกว่าในอดีต ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นอีกราว 0.2 องศาเซลเซียส (°C)
นี่คือความแตกต่างระหว่าง "เอลนีโญ" และ "ลานีญา" ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ "มนุษยชาติ" กำลังเผชิญจากวิกฤตโลกร้อน ซึ่งเอลนีโญเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โลกร้อนขึ้นจนเกินขีดจำกัด หรืออุณหภูมิอาจทะลุ 1.5°C จากที่นานาประเทศได้กำหนดไว้ ซึ่งในปัจจุบันโลกร้อนขึ้นกว่าระดับมาตรฐานในอดีตอยู่แล้วถึง 1.2°C
นักวิทยาศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กังวลว่า ผลพวงเอลนีโญจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมหนัก ภัยแล้ง ไฟป่า และเกิดภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง และตัวบ่งชี้ที่สำคัญก็คือจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะกระทบต่อเนื่องไปจนถึงปี 2572
เสี่ยง 'ขาดแคลนอาหาร' - 'สินค้าราคาแพง'
และในรอบนี้โอกาสจะเกิดเอลนีโญมีสูงเกิน 90% และลากยาวถึงเดือน มี.ค. 2567 สภาพอากาศมีแนวโน้มร้อนและแล้งกว่าปกติ ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค โดยสัญญาณนี้จะเริ่มชัดเจนตั้งแต่เดือน ต.ค. ปีนี้เป็นต้นไป ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจโลกจะได้รับความเสียหายยาวถึงปี 2572 โดยเฉพาะภาวะขาดแคลนอาหาร หรือสินค้าราคาแพง
'เอลนีโญ' ทำให้ภาคใต้ร้อน-แล้งกว่าปกติ
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร (Met Office) รวบรวมสถิติจากอดีตแล้วพบว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญมีแนวโน้มทำให้ประเทศไทยแล้งกว่าปกติช่วงเดือน มี.ค.-ก.ค. และร้อนกว่าปกติช่วงเดือน ต.ค.-มิ.ย. ขณะที่องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) ระบุว่า เอลนีโญมีแนวโน้มทำให้ภาคใต้ของไทยอากาศร้อน และแล้งกว่าปกติช่วงเดือน ธ.ค.-ก.พ. ขณะที่ภูมิภาคอื่นจะร้อนกว่าปกติช่วงเดือน ธ.ค.-ก.พ.
จากการคาดการณ์อุณหภูมิเฉลี่ยโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และผลพวงจากเอลนีโญที่ทวีความรุนแรงขึ้น และจะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน 12-18 เดือน ทุกประเทศในภูมิภาคนี้หนีไม่พ้นการเผชิญคลื่นความร้อน ภัยแล้ง และไฟป่า
สำหรับประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในรอบ 74 ปี ทำให้รายได้ต่อหัวลดลง 5.0-7.5% และในฐานะที่ไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรอันดับต้นๆ ของโลก จึงจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรุนแรง โดยเฉพาะภาคเกษตร ซึ่งภาครัฐอาจจะมีแผนการรับมือขั้นสุดเพื่อรับมือเอลนีโญ นั่นคือ หากน้ำฝนไม่พอก็อาจจะขอให้งดทำนาปรัง เพราะจะต้องกักเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุดเพื่อจะรองรับในฤดูแล้งปี 2568 ด้วย
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=3312&lang=TH
https://www.thaipbs.or.th/news/content/328430
https://www.bbc.com/thai/articles/ceq5897j232o
https://www.thansettakij.com/sustainable/zero-carbon/567979
https://www.thansettakij.com/sustainable/zero-carbon/567947
https://www.posttoday.com/general-news/695714?fbclid=IwAR2p7fmL-70T46uUsVaWpGs-w8BI2_aSqjImsR6j1fhXaGipq0prmkx2oEQ
https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/839798
https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/839508
https://www.bbc.com/news/science-environment-65839060?fbclid=IwAR1W89Ai4laOD2gDgTsSsa7aJr7EqA4k2D63dKSJf7DC1Z5g98-NoxosqHk