จัดระเบียบ 'สายสื่อสาร' ถนนเจริญกรุง จัดทำแผนผัง ลงทะเบียนกันพาดสายมั่ว
จัดระเบียบ 'สายสื่อสาร' ถนนเจริญกรุง ทำระบบแผนผัง ลงทะเบียนข้อมูลสายสื่อสารป้องกันพาดสายมั่ว คิวต่อไปจัดการถนนสุขุมวิท
ภายหลังจากที่กรุงเทพมหานคร ผับโครงการนำ "สารสื่อสาร" ลงดินไป เนื่องจากคิดคำนวณแล้วไม่คุ้มค่า แต่เห็นว่าควรจะหันมาจัดระเบียบมากกว่า ล่าสุด
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังร่วมโครงการจัดระเบียบสายสื่อสาร บริเวณหน้าห้างสรรพิสินค้าโรบินสัน บางรัก ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก ว่า การเอา "สายสื่อสาร" ลงดินเป็นเรื่องที่มีค่าใช้จ่ายสูงทั้งในแง่ของการลงทุนและกระบวนการต่าง ๆ
โดยมี 2 รูปแบบ คือ การไฟฟ้านครหลวงหักเสาแล้วก็เอาสายไฟฟ้าลงดินแต่การทำแบบนั้นต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งที่เห็นสายรกรุงรังนั้นไม่ใช่สายไฟฟ้าแต่เป็นสายสื่อสาร โดยการไฟฟ้านครหลวงมีแผนนำสายไฟฟ้าลงดินกว่า 230 กิโลเมตร จากระยะทางทั้งกรุงเทพฯ มากกว่า 2,000 กิโลเมตร
"สายสื่อสาร" ก็จะตามลงไปด้วย อีกส่วนคือการตัดสายสื่อสารให้เป็นระเบียบ ซึ่งจะดำเนินการให้เร็วที่สุด โดยใช้งบประมาณต่ำกว่าและทำได้เร็วกว่ามาก วันนี้จึงเริ่มกระบวนการที่ทำตรงนี้ก่อน ซึ่งก็จะทำให้เมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ต้องใช้งบประมาณและระยะเวลา เนื่องจากการทำงานไม่ใช่ว่ากทม.จะนำกรรไกรมาตัดได้เลยเนื่องจากเรื่องของสายสื่อสารอยู่ในการควบคุมของ กสทช. เสาไฟฟ้าเป็นของการไฟฟ้านครหลวง และตัวสายสื่อสารก็เป็นของผู้ประกอบการ Operator ต่าง ๆ
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ต่อไปคงต้องเร่งดำเนินการให้เร็วขึ้น ซึ่งในปีแรกอาจจะช้าในเรื่องของการประสานงาน ก็ต้องขอบคุณทางกสทช. และ ผู้ประกอบการ Operator ต่าง ๆ รวมถึงการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA ซึ่งมีการประชุมประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้จะเห็นความคืบหน้าอย่างมาก และจะเพิ่มเส้นทางให้มากขึ้น เราและจะเห็นเมืองเป็นระเบียบมากขึ้น โดยในปี 2566 MEA มีแผนบูรณาการจัดระเบียบสายสื่อสารเป็นระยะทางทั้งสิ้น 450 กิโลเมตร รับผิดชอบในการติดตั้งคอน "สายสื่อสาร" เพื่อใช้สำหรับการยึดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ควบคุมให้ติดตั้งสายสื่อสารตามมาตรฐาน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าของ MEA รวมถึงจะมีการบันทึกข้อมูลของสายสื่อสาร และแผนผังเส้นทางที่ติดตั้งสายสื่อสารในแผนที่ภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) เพื่อบริหารจัดการในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ได้รับความร่วมมือจากการไฟฟ้านครหลวง ในการลงทะเบียนสายสื่อสารใหม่ให้เป็นระเบียบก่อนที่จะพาดสายสู่เสาไฟฟ้า ซึ่งทำให้ทราบว่าสายดังกล่าวเป็นของผู้ประกอบการรายใด ที่ผ่านมามีการพาดสายสื่อสารโดยไม่ได้ขออนุญาตหรือเป็นสายเถื่อน แต่คราวนี้จะชัดเจนขึ้นและทำให้บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น เฉพาะถนนเจริญกรุงคาดว่าจะตัดสายสื่อสารหมดประมาณ 4 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ต่อจากนั้นจะดำเนินการต่อที่ศาลาแดง ถนนคอนแวนต์ ซอยพิพัฒน์ แถบย่านนี้ ส่วนต่อไปคือถนนสุขุมวิทซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วที่ซอย 13 เดือนหน้า(ก.ค.66) จะดำเนินการที่ซอย 11, 15, 17, 19 และซอย 36 อีกด้วย