ชีวิตดีสังคมดี

เส้นทางกว่า 60 ปี จากท่าเรือคลองเตย สู่ชุมชนแออัดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

เส้นทางกว่า 60 ปี จากท่าเรือคลองเตย สู่ชุมชนแออัดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

06 ก.ค. 2566

ความพยายาม "รื้อคลองเตย" เริ่มมาตั้งแต่ก่อสร้างท่าเรือคลองเตยแล้วเสร็จ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่สำเร็จ หากนับเวลาก็ไม่ต่ำ 50-60 ปี คนที่อาศัยอยู่ที่นี่เป็นคนมีรายได้น้อย อพยพมาจากต่างจังหวัด เหตุใดปัญหาจึงยืดเยื้อ จุดเริ่มต้นเกิดจากอะไร สรุปครบจบที่นี่

เด็กในชุมชนคลองเตย

 

 

 

อีก 10 ปีข้างหน้าภาพเหล่านี้อาจไม่ได้เห็นในชุมชนคลองเตย เพราะตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฉบับแรกของประเทศไทย พื้นที่ท่าเรือกรุงเทพฯ หรือท่าเรือคลองเตยจะถูกยกระดับให้เป็นท่าเรือทันสมัย สะดวก รวดเร็ว มีศักยภาพรองรับธุรกิจพาณิชยนาวี ส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในชื่อ "สมาร์ท คอมมูนิตี้" จึงเป็นที่มาของการ "รื้อคลองเตย"

ชุมชนคลองเตย

 

 

 

60 ปีให้หลัง ทางการมีความพยายามขอคืนพื้นที่มานับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ สุดท้ายรัฐฯ ล่าถอย แต่ไม่สุด เข้าๆ ออกๆ เพราะต้องตามแผน กระทั้งปี 62 กระทรวงคมนาคมประกาศอัดงบประมาณ 7,500 ล้านบาทย้ายชุมชนคลองเตย 13,000 ครัวเรือนออกจากพื้นที่ แต่จนแล้วจนเหล่าก็ไม่สามารถย้ายได้ 

การขอคืนพื้นที่ "ชุมชนคลองเตย" เริ่มมาตั้งแต่ปี 2510 ต้นๆ หลังจากแรงงานทางภาคอีสานอพยพเข้ามารับจ้างฐานทัพสหรัฐอเมริกาที่ท่าเรือคลองเตย รวมถึงแรงงานรับจ้างก่อสร้างท่าเรือแห่งนี้ แต่เมื่อฐานทัพสหรัฐฯ ย้ายกลับ ท่าเรือแล้วเสร็จ แรงงานไม่ยอมกลับบ้าน ชุมชนขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ รวม 31 ชุมชน 13,000 ครัวเรือน บนพื้นที่ 197 ไร่

 

 

 

คุณยายรัศมี สกุลโฟน วัย 76 ปี อดีตประธานชุมชนพัฒนาใหม่ คลองเตย

 

 


"คุณยายรัศมี สกุลโฟน" วัย 76 ปี คือ 1 ในผู้อาศัยในชุมชนคลองเตยมาตั้งแต่ปี 2520 ตอนนั้นเป็นแม่ค้าขายผักดองในตลาดคลองเตย ราวๆ ปี 2540 ทางการเริ่มเข้าพื้นที่มาขอ "รื้อคลองเตย" เรื่อยๆ แต่ยังไม่มีความชัดเจนอะไร เธอก็อยู่มาปกติ ระหว่างนั้นก็มีคนเริ่มย้ายออกไปบ้าง ลูกหลานคนรุ่นใหม่ออกไปใช้ชีวิตข้างนอกบ้าง ส่วนใหญ่จะเหลือแต่ผู้ใหญ่ และคนแก่ 

 

 

 

โมเดลห้องชุดขนาด 33 ตารางวา

 

 


จนกระทั้ง กระทรวงคมนาคมออกได้ข้อสรุป 3 แนวทาง ให้เลือกได้ครอบครัวละ 1 แนวทาง คือ 1. ห้องชุดคล้ายคอนโดขนาด 33 ตารางวา ใกล้พื้นที่เดิม โดยอาจจะเก็บค่าเช่าในอัตราเดียวกับการเช่าพื้นที่ของกรมธนารักษ์ในสัญญาระยะยาว 30 ปี  2. ให้ที่ดิน 1 แปลง ขนาด 19.5 ตารางวา ย่านหนองจอก มีนบุรี มูลค่าแปลงละ 300,000 บาท และ 3. รับเงินก้อน กลับภูมิลำเนาเดิม ปรากฏว่า 50% ที่ต้องการห้องชุด 30% ต้องการที่ดิน และอีก 20% ต้องการเงินก้อน

 

 

 

หลังจากนั้น "การท่าเรือ" ได้ไปดำเนินการจัดสรรที่ดินย่านหนองจอก-มีนบุรี แบ่งล็อกพร้อมให้โฉนด แต่ไปๆ มาๆ ไม่มีใครไป ส่วนห้องชุดในโครงการขนาด 33 ตารางวา ประชาชนมองว่า ขนาดเล็กเกินไปสำหรับครอบครัวใหญ่ จึงยังไม่มีข้อสรุป

 

 

 

ต่อมา "การท่าเรือ" เคาะตัวเลขครอบครัวละ 550,000 บาท แต่ชุมชนปฏิเสธ และเสนอตัวเลขไปที่ 1 ล้านบาท 

 

 

 

วิถีชีวิตคนในชุมชนคลองเตย

 

 

 

คุณยายยืนยันว่า จะไม่ไปไหน เพราะไม่มีที่ไป อยู่ตัวคนเดียว ถ้าหากไล่จริงๆ ก็จะไปอยู่แยกไฟแดงถัดจากชุมชนไปไม่ไกล

 

 

 

ในขณะที่หลายคนรู้ชะตาว่า ต้องคืนพื้นที่แม้จะผูกพัน แต่ต้องแลกในราคาที่สมเหตุสมผล ทว่ามีส่วนหนึ่งที่แม้จะ "รื้อคลองเตย" ขอใช้ชีวิตที่คลองเตยจนกว่าจะเสียชีวิต เพราะไม่รู้จะไปที่ไหน

 

 

 

  สมาร์ท คอมมูนิตี้

 

 

 

ตามแผนพัฒนาต้องเข้าปรับโฉมตั้งแต่ปี 2563 กำหนดเสร็จปี 2573 แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครเคลื่อนไหว คนในชุมชนเองไม่ตื่นเต้นกับการต้องถูกรื้อ แต่ขอในราคาที่ออกไปแล้วต้องมีชีวิตรอด

 

 

 


และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาขยับประเด็นการย้ายทางเรือคลองเตยออกไปแหลมฉบัง โดยให้ความเห็นว่า แนวคิดย้ายท่าเรือออกไปแหลมฉบัง เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และการจราจร พรรคการเมืองสามารถนำนโยบายไปใช้หาเสียงได้ และเรื่องการย้ายท่าเรือคลองเตยออกไปไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีในแผนพัฒนาประเทศอยู่แล้วฝ

 

 

 

ด้านกระทรวงคมนาคมก็ออกมาบอกว่า ยังไม่มีแผนย้ายท่าเรือคลองเตย เพราะการย้ายออกไปกระทบประเทศด้านเศรษฐกิจ

 

 

 

ชุมชนพัฒนาใหม่ คลองเตย

 

 

 

บทสรุปแล้ว "รื้อคลองเตย" หรือไม่รื้อ แผนยุทธศาสตร์ชาติจะถูกรื้อ หรือเดินหน้าต่อ มิอาจทราบได้ เพราะช่วงนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ต้องติดตามกันต่อ