'กองทุนสื่อ' เตรียมปรับเกณฑ์ยื่นขอทุนผลิตสื่อ เอื้อทุกคนเข้าถึงมากขึ้น
ผู้จัดการกองทุนสื่อ เตรียมปรับเปลี่ยนเกณฑ์การยื่นขอทุนผลิตสื่อ เพื่อเอื้อต่อคนตัวเล็กตัวน้อยสามารถเข้าถึงการรับสนับสนุนทุนได้มากขึ้น พร้อมเดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดรับการพัฒนา 'สื่อปลอดภัย' และ 'สื่อสร้างสรรค์'
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า "กองทุนสื่อ" มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม "การรู้เท่าทันสื่อ" และ "การเฝ้าระวังสื่อ" เพื่อให้ผู้บริโภคข่าวสาร โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน "ปลอดภัย" จากข่าวสารที่ไม่สร้างสรรค์ และการผลิตสื่อที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม
ทว่าเป็นโจทย์ที่ไม่ง่าย เพราะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสารยุคดิจิทัล ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อโดยเฉพาะนักสื่อสารมวลชนต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ ทั้งในแง่แฟลตฟอร์มการนำเสนอ การผลิตเนื้อหาให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่พฤติกรรมบริโภคสื่อเปลี่ยนไป ทั้งการแข่งขันการนำเสนอข่าวสารที่เน้นความไว ขณะเดียวกันก็ถูกทวงถามถึงความรับผิดชอบในการทำหน้าที่ เนื่องจากในปัจจุบันมีข่าวปลอมหรือการผลิต "เฟคนิวส์" ออกสู่สาธารณะจำนวนมาก
ในฐานะกองทุนสื่อ มีบทบาทเป็นแหล่งทุนสนับสนุนการ "การรู้เท่าทันสื่อ" และส่งเสริมให้มี "สื่อปลอดภัย" และ "สร้างสรรค์" จึงต้องทำงานหนักมากขึ้น ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดร.ธนกร ศรีสุขใส ในฐานะผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ยอมรับว่า กองทุนสื่อทำงานหนักก็จริง แต่ยังไม่บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้
ช่วงปีสุดท้ายตามวาระการดำรงตำแหน่ง "ดร.ธนกร" ตั้งใจจะขับเคลื่อน "กองทุนสื่อ" ในระยะเวลาที่เหลืออยู่ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ให้มี TMF Academy Center ซึ่งอยู่ระหว่างการว่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสม, ต้องการได้สำนักงานใหม่ที่มีความพร้อมและตอบสนองการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เช่น สตูดิโอและอุปกรณ์ที่ทันสมัย หรือกรณียังไม่สามารถดำเนินการได้ก็อาจจำเป็นต้องร่วมมือกับองค์กรที่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ และอื่นๆ
ที่ผ่านมากองทุนสื่อได้มีการลงนามความร่วมมือหรือ MOU กับหน่วยงานต่างๆ ในประเทศและต่างประเทศ อาทิ การผลิตภาพยนตร์ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจ ฉะนั้นจะต้องต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อกองทุนสื่อมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขระเบียบหรือหาช่องทางให้กองทุนสื่อสามารถต่อยอดความร่วมมือต่างๆ ในการหารายได้ด้วย
เป็นต้นว่า การนำผลงานกองทุนสื่อออกเผยแพร่ ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถหารายได้ได้ จึงเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งต่อการหารายได้ รวมทั้งการพิจารณาค่าตอบแทนของพนักงาน ซึ่งบางหน่วยงานที่เป็นองค์กรลักษณะเดียวกันสามารถจ่ายโบนัสได้
ประเด็นสำคัญคือ "กองทุนสื่อ" ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการให้ทุนที่จะเปิดโอกาสให้มีการเข้าถึงทุนได้มากขึ้น หรือมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะคนตัวเล็กคนตัวน้อยที่มีข้อจำกัดในการเขียนโครงการเพื่อยื่นขอทุน ซึ่งที่ผ่านมาใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน ต่อไปไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องยื่นแข่งขันเหมือนกันก็ได้
"คนกลุ่มเฉพาะบางกลุ่มเราต้องเดินไปหาเขา กติกาต้องแตกต่างกัน หรือให้เกิดความสร้างสรรค์ ฉะนั้นการขอทุนต้องยืดหยุ่นกว่านี้"
เป้าหมายการให้ทุนในปีต่อไป "ดร.ธนกร" ต้องการให้กองทุนสื่อมีการแยกประเภทและวิธีการขอทุนให้มีความสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากแต่คนที่ต้องการพัฒนาศักยภาพการสื่อสาร มีทักษะการเขียนโครงการเพื่อยื่นขอทุนที่แตกต่างกัน หรืออาจจะมีรูปแบบการขอทุนในหลายๆ รูปแบบ ขณะเดียวกันจะปรับระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นข้อจำกัด เนื่องจากแม้เป็นองค์การมหาชน แต่ยังต้องยึดตามระเบียบราชการมากจนเกินไป
ที่สำคัญมากกว่านั้นและมองว่าเป็นอุปสรรคก็คือแหล่งทุนที่มาจาก กสทช. หรือสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ยังมีความคลุมเครือในแง่จำนวนเม็ดเงินว่าควรเป็นเท่าไหร่ ที่ผ่านมากองทุนสื่อได้รับแค่ขั้นต่ำเท่านั้นคือ 500 ล้านบาท การได้งบฯ ก็ล่าช้า แต่ถูกทวงถามถึงประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่ง ดร.ธนกร เห็นว่า กสทช.ควรกำหนดจำนวนงบประมาณสนับสนุนที่ชัดเจน รวมถึงระยะเวลาการได้งบฯ ด้วย ขณะเดียวกันจะมีการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัด ทั้งฝ่ายบริหารโครงการ และฝ่ายอำนวยการด้วย
ย้อนไปดูผลงานที่ผ่านมา ปีที่แล้วกองทุนสื่อทำโขนภาพยนตร์เรื่อง HANUMAN White Monkey ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี นอกจากนั้นผลิตหนังเรื่องของหม่อง ทองดี ที่นำไปทำหนังเรื่อง A TIME TO FLY : บินล่าฝัน ที่กำลังหาโรงฉายอยู่ ฯลฯ นอกจากนั้นจะเปิดหลักสูตรระบบเปิด Massive Open Online Course (MOOC) เพื่อเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนได้ ซี่งที่ผ่านมาเปิดเรียนเกี่ยวกับการระบาดโควิด โดยมีคนมาเรียนกว่า 3 แสนคน
การทำหน้าที่ "ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์" ที่จะครบวาระในปีหน้านั้น (30 มิย. 2567) ดร.ธนกร ระบุว่า "จะต่อหรือไม่ต่อสัญญาขึ้นอยู่กับบอร์ดและผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้จัดการกองทุนฯเพราะสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ วาระละ 4 ปีถ้าผลงานดีบอร์ดก็ต่อให้ได้ โดยเห็นพ้องต้องกันทั้งสองฝ่าย รอ 3-4 เดือนสุดท้ายก่อนหมดวาระค่อยว่ากัน"