คณะแพทยศาสตร์ศิริราช ผนึกพันธมิตร MOU ป้องกันและรักษา 'โรคธาลัสซีเมีย'
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ลงนาม MOU ในโครงการพัฒนาการป้องกันและรักษา 'โรคธาลัสซีเมีย' เพื่อนำไปสู่การรักษาโรคแบบเซลล์ และยีนบำบัดให้เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย
ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภายใต้ MOU นี้ตลอดระยะเวลา 3 ปี ทั้ง 4 หน่วยงานจะร่วมกันพัฒนาศึกษาหาวิธีป้องกันและรักษาโรคธาลัสซีเมีย โดยเปรียบเทียบวิธีการทดสอบประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ และประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ระหว่างเทคโนโลยี Next Generation Sequencing (NGS) กับเทคนิคดั้งเดิม คือ Gap-PCR เพื่อนำไปสู่การรักษาโรคแบบเซลล์และยีนบำบัดให้เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย
โครงการความร่วมือที่ MOU กันในครั้งนี้เป็นโครงการนำร่องสู่การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรคธาลัสซีเมีย เพื่อให้คนไทยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ และช่วยลดการสูญเสียงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยลงได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ในประเทศไทยพบผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียประมาณร้อยละ 30-40 ของประชากร หรือประมาณ 18-24 ล้านคน มีผู้ป่วยโดยรวมประมาณ 6 แสนคนในแต่ละปี และมีเด็กเกิดใหม่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียประมาณ 12,125 ราย ส่งผลให้รัฐบาลสูญเสียงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยปีละไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท (ที่มา: https://www.hfocus.org/content/2016/03/11861)
การลงนาม MOU ครั้งนี้มี ศ.นพ. อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ กรรมการบริษัท แบงคอก จีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) นาย Sujie Cao กรรมการบริษัท BGI Health (HK) และ ดร.Chao LIU ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Hemogen Hongkong Alpha Technology Limited (HGI) ณ ห้องประชุมคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช
สำหรับโรคธาลัสซีเมียเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือยีน ที่ทำให้กระบวนการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงมีหน้าที่นำพาออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ เปราะบางและแตกง่าย จึงทำให้เกิดภาวะโลหิตจางตั้งแต่กำเนิดและเป็นเรื้อรังไปตลอดชีวิต
ที่สำคัญคือโรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ มีความรุนแรงแตกต่างกันขึ้นกับความผิดปกติของพันธุกรรมตั้งแต่เป็นพาหะซึ่งไม่มีอาการแสดง ชนิดที่มีความรุนแรงน้อยจนถึงปานกลางที่มีอาการซีดเล็กน้อย ไปจนถึงชนิดรุนแรงที่อาจเสียชีวิตขณะอยู่ในครรภ์หรือต้องได้รับเลือดทุกเดือน
ในปี 2537 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดทำแนวทางในการควบคุมโรคที่เกิดจากความผิดปกติของฮีโมโกลบิน รวมถึงโรคธาลัสซีเมีย ทำให้ประเทศไทยเกิดโครงการป้องกันและควบคุมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์ โดยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการป้องกันและควบคุมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2537 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม ภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาทั้งทางตรงและทางอ้อม ของผู้ป่วยด้วยโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงแต่ละรายจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตลอดอายุขัยประมาณ 1.26 ล้านบาทถึง 6.68 ล้านบาท