Thymee ชนะเลิศไอเดียปัง ช่วยเด็กไทยก้าวผ่าน 'ภัยคุกคามทางเพศออนไลน์'
Thymee คว้ารางวัลชนะเลิศจากโครงการ Young safe Internet Leader Hybrid Camp สุดยอดไอเดียเพื่อนช่วยเพื่อน เปิดช่องเด็กเยาวชนร่วมก้าวผ่าน 'ภัยคุกคามทางเพศออนไลน์'
กว่า 80% ที่เด็กๆ ทั่วโลกเคยตกเป็นเหยื่อการโดนคุกคามทางเพศ โดยที่หลายครั้งเรื่องราวเหล่านี้ถูกปล่อยผ่าน โดยที่ไม่ได้รับการป้องกันหรือแก้ไขใดๆ กระทั่งนำมาสู่ความสูญเสีย เด็กหลายคนพยายามจะหนีปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย บางคนทนอยู่กับการโดนคุกคามทางเพศ จนนำมาซึ่งปัญหาด้านสุขภาพจิต และหลายคนยังคงตกเป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศซ้ำๆ ทั้งแบบตัวต่อตัว และการคุกคามทางเพศออนไลน์
จากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นจุดเริ่มต้นและแรงผลักดันให้เยาวชนผู้ที่กำลังตกเป็นเป้าการคุกคามทางเพศออนไลน์ ลุกขึ้นมานำเสนอแนวคิด เพื่อขับเคลื่อนและช่วยเหลือเพื่อนของพวกเขาผ่านโครงการ Young safe Internet Hybrid ปีที่ 5 โดยในปีนี้ ทรู-ดีแทค ได้มีการจัดค่ายสำหรับทำกิจกรรม “The Public Service Hackathon : ให้สื่อลามกเด็กจบที่รุ่นเรา” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องเด็กๆ เยาวชนให้รอดปลอดภัยจากการโดนคุกคามทางเพศผ่านออนไลน์
หนึ่งในแนวคิดหรือไอเดียที่ผ่านกระบวนการคิด สังเคราะห์ และออกแบบจากปัญหาของเพื่อนๆ ที่น่าสนใจและเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถนำไปต่อยอดสำหรับใช้งานได้จริง ซึ่งต้องบอกก่อนว่า เป็นไอเดียที่มาจากเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนั่นเอง
พวกเขามีความตั้งใจที่อยากจะลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันเหตุ เพราะเด็กๆ มองว่าปัญหาภัยคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องไกลตัวพวกเขาอีกต่อไป เนื่องจากในแต่ละวันเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งเหตุคุกคามจำนวนหลายเคส
น้องๆ เจ้าของไอเดีย Thymee ได้เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นที่เข้าร่วมโครงการกับ Dtac และที่มาที่ไปของ Thymee ไว้อย่างน่าสนใจ โดย ณัชชา เงาประเสริฐวงศ์ ตัวแทนของทีม เล่าว่า เห็นความสำคัญของปัญหาคุกคามทางเพศออนไลน์ว่าเป็นภัยเงียบที่ใกล้ตัวมาก และที่ผ่านมายังไม่เคยได้รับความสนใจมากพอ อีกทั้งปัจจุบันนี้เด็กหรือเยาวชนเล่นโซเชียลมีเดียวันละหลายชั่วโมง
“ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ เหตุการณ์คุกคามทางเพศอาจจะเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเมื่อ และยังเป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่มองว่าไกลตัว แต่จริงๆ แล้วมันเกิดกับเราได้ตลอดเวลา และที่ผ่านมาก็มีคนตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก” ณัชชา เล่า
แพลตฟอร์มที่คิดขึ้นนี้ เธออธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นคอมมูนิตี้ที่ทุกคนสามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนเรื่องราว ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ หรือกรณีถูกคุกคามทางเพศออนไลน์ โดยมีเป้าหมายต้องการที่จะสร้างการตระหนักรู้ (Awareness) ให้คนพูดถึงปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศบนโลกออนไลน์ หรือการถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยตรงได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ทำให้คนให้ความสำคัญ ไม่ปล่อยผ่านเรื่องดังกล่าว
“เพราะที่ผ่านมามีคนเผชิญปัญหาถูกคุกคามทางเพศออนไลน์ และการคุกคามทางเพศโดยตรงจำนวนมาก แต่ไม่มีใครกล้าที่จะออกมาพูด เพราะเรื่องที่ถูกละเมิดทางเพศนั้นไม่ใช่ประเด็นที่หยิบยกมาพูดกันในวงสนทนาทั่วไปได้ง่ายๆ อีกทั้งกระบวนแจ้งความมีความยุ่งยากมากๆ ทำให้เหยื่อเลือกที่จะปล่อยผ่านไป หรือเก็บเงียบไว้คนเดียว เพราะความไม่กล้า” ณัชชาสะท้อนภาพของปัญหา
แพลตฟอร์ม Thymee พี่พวกเธอคิดค้นขึ้นนั้นจะมีกระบวนการให้คำปรึกษา ซึ่งจะแบ่งเป็น “ลูกไก่” ที่เปรียบเสมือนคนที่ถูกคุกคาม สามารถเข้ามาปรึกษาและได้รับการเยียวยา หลังได้รับการเยียวยาก็สามารถอัป สกิล (Upskill: การพัฒนาทักษะ) เป็น “แม่ไก่” ได้ คนที่เข้ามาใช้งานแอปพลิเคชันจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ
หลังจากนั้นก็จะสามารถอัปสกิลเป็นคนที่ให้คำปรึกษาคนอื่นๆ ได้ โดยผู้ที่เข้ามาใช้งานแพลตฟอร์ม Thymee นั้นสามารถเข้ามาได้ทุกบริบท ไม่ว่าจะเป็นคนที่เคยถูกล่วงละเมิด และก้าวข้ามจุดนั้นมาได้ หรือจะเป็นนักจิตวิทยาที่จะเข้ามาคอยทำหน้าที่รับฟังปัญหาก็ได้เช่นกัน โดยแพลตฟอร์มจะเน้นการสร้างเครือข่าย เพื่อเยียวยาจิตใจ ช่วยเหลือเหยื่อจนถึงที่สุด จนกว่าจะข้ามผ่านเรื่องนี้ไปได้
“เราเข้าใจปัญหา มองเห็น เพราะอยู่ในช่วงวัยเดียวกัน เราอยากให้ไอเดียการออกแบบบริการสาธารณะครั้งนี้ถูกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพัฒนาต่อยอด เพื่อช่วยเหลือเหยื่อที่กำลังตกอยู่ในภาวะถูกคุกคามแต่หาทางออกไม่ได้ และหากมีคนสนใจและอยากเอาแอปไปใช้งานได้จริงๆ ทางพวกเราก็พร้อมที่จะให้ร่วมมือในการพัฒนาต่อยอดเพื่อให้นำไปสู่การใช้งานได้จริงต่อไป”
แพลตฟอร์ม Thymee มีสโลแกนที่น่าสนใจคือ Let us be your friend หรือหมายความว่า “ให้พวกเราอยู่เป็นเพื่อนคุณ” ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากกิจกรรม The Public Service Hackathon โดยทีมเยาวชนสร้างสรรค์ไอเดียดีๆ เพื่อเพื่อนๆ กลุ่มนี้ ประกอบด้วย ธนรัฐ เข็มทอง, ณัชชา เงาประเสริฐวงศ์ ณฐภัทร สมุทรผ่อง และ สุภิชญาณ์ ปรีสงค์ จากโรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร