'ลูกจ้าง' เช็กสิทธิ 'ค่ารักษาพยาบาล' หลัง ครม. ให้ นายจ้าง ปรับเพิ่มเงิน
'ลูกจ้าง' เฮ ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวง ให้ 'นายจ้าง' ปรับเพิ่ม 'ค่ารักษาพยาบาล' เป็น 65,000 บาท เพื่อให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์
ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวง ปรับเพิ่มวงเงิน “ค่ารักษาพยาบาล” โดยให้ “นายจ้าง” จ่ายค่ารักษาพยาบาล 65,000 บาท สร้างความเป็นธรรม ช่วย “ลูกจ้าง” เข้าถึงสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งที่ประชุม เห็นชอบร่างกฎกระทรวง “ค่ารักษาพยาบาล” ที่ให้ “นายจ้าง” จ่าย (ฉบับที่..) พ.ศ...ปรับเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาล ตามกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาล ที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2563 จากเดิม 50,000 บาท เป็น 65,000 บาท
นอกจากนี้ ยังแก้เงื่อนไขลักษณะการบาดเจ็บรุนแรงของศีรษะ จากเดิมบาดเจ็บรุนแรงของศีรษะ และต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ เป็นบาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลง และช่วยให้ลูกจ้างเข้าถึงสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น ลดความเดือดร้อน และลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกจ้าง
ร่างกฎกระทรวงนี้ ยังครอบคลุมผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บ จนเกิดภาวะไม่รู้สึกตัว หรืออัมพาต ที่มีค่าใช้จ่ายสูง สามารถเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงข้อนี้ได้ เช่น อาการบาดเจ็บที่มีลักษณะ หรือการรักษา ดังต่อไปนี้
- การบาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะ จนไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวัน ตามปกติเกินกว่า 20 วัน
- กรณีศีรษะบาดเจ็บรุนแรง แต่อาจไม่ต้องผ่าตัดหรือไม่อาจผ่าตัดได้ เช่น กะโหลกศีรษะ แตกจนมีเลือดออกในช่องสมอง บางรายอาจผ่าตัดไม่ได้ หรือไม่ต้องผ่าตัด
- กรณีตกจากที่สูง มีเลือดคั่งในสมองแต่ไม่ต้องผ่าตัด นอนรักษาในห้องดูแล ผู้ป่วยหนัก (ICU) จำนวน 3 คืน มีเลือดออกในช่องท้อง และไม่ต้องผ่าตัด ซี่โครงหักหลายซี่ มีเลือดในช่องอกเล็กน้อย หายใจขัดเล็กน้อย ไม่ผ่าตัด
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน มีวิธีการรักษาการบาดเจ็บรุนแรงของศีรษะ ด้วยวิธีการอื่น ที่ไม่ใช่การผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ เช่น การเจาะกะโหลกศีรษะเพื่อระบายเลือด และน้ำในสมองออก หรือการรักษาด้วยยา อาจมีค่าใช้จ่ายสูงได้ หากต้องมีการสังเกตอาการ ในห้องดูแลผู้ป่วยหนัก (Intensive Care Units หรือ ICU) เป็นระยะเวลานาน ซึ่งวงเงินเดิมที่ 50,000 บาท อาจจะไม่เพียงพอ
ดังนั้น การปรับเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว เป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้าง ในการได้รับค่ารักษาพยาบาลตามความเหมาะสมแก่อันตราย หรือความเจ็บป่วย เป็นการบรรเทาความเดือดร้อน และลดภาระค่าใช้จ่ายของลูกจ้าง
โดยกระทรวงแรงงาน ได้ประมาณการผลกระทบต่อสถานะของกองทุนเงินทดแทนที่เพิ่มขึ้น รายจ่ายในส่วนของค่ารักษาพยาบาลระหว่างปี 2566-2567 ประมาณ 2,270 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม มติ ครม. ครั้งนี้ รัฐบาลช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ของผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะด้านค่ารักษาพยาบาล ถือเป็นของขวัญวันแม่ให้กับนายจ้าง ลูกจ้างทั่วประเทศด้วย