ชีวิตดีสังคมดี

ภาคธุรกิจถกร่างกฎหมายจัดการ บรรจุภัณฑ์ อย่างยั่งยืน เรียกคืนเพื่อรีไซเคิล

ภาคธุรกิจถกร่างกฎหมายจัดการ บรรจุภัณฑ์ อย่างยั่งยืน เรียกคืนเพื่อรีไซเคิล

15 ส.ค. 2566

สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาระดมความเห็นผู้ประกอบการแบรนด์สินค้า เพื่อเตรียมตัวพัฒนาระบบเรียกคืนสู่การรีไซเคิล หรือ EPR ที่อยู่ในกระบวนการยกร่างกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2570

 

สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดสัมมนา "ผู้ประกอบการแบรนด์สินค้ากับการเตรียมตัวสู่ EPR" ภายในงาน Propak Asia 2023 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเตรียมความพร้อมของผู้ผลิต ผู้ประกอบการในการนำหลักการ EPR (Extended Producer Responsibility) มาสู่การปฏิบัติทั้งภาคสมัครใจ และรองรับกฎหมาย EPR ซึ่งเป็นระบบเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเพื่อนำไปรีไซเคิล
 

 

นายธงชัย ศิริธร รองประธานสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) เปิดเผยว่า EPR คือ หลักการขยายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตให้ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลให้ถูกต้องตามหลักการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

การาสัมมนาผู้ประกอบการแบรนด์สินค้ากับการเตรียมตัวสู่ EPR ภายในงาน Propak Asia 2023

 

การจัดสัมมนาครั้งนี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้เปิดรับฟังมุมมองของภาคเอกชนต่อเนื้อหาร่างกฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาระบบเรียกคืนสู่การรีไซเคิล เพื่อทำความเข้าใจและเตรียมรับมือล่วงหน้า โดยเฉพาะความเข้าใจรายละเอียดข้อกฎหมายและสิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย

 

 

น.ส.พรรรัตน์ เพชรภักดี รองผู้อำนวยการใหญ่และรักษาการผู้อำนวยการ TIPMSE กล่าวว่า EPR เป็นเครื่องมือเชิงนโยบายที่มุ่งส่งเสริมการจัดระบบเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเพื่อนำไปรีไซเคิลสอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยที่ผ่านมา TIPMSE เป็นองค์กรหลักของภาคเอกชนได้เริ่มนำร่องทำโครงการ EPR ภาคสมัครใจภายใต้โครงการ PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน

 

 

โครงการ  PackBack ดำเนินการขึ้นใน 3 พื้นที่ของ จ.ชลบุรี ได้แก่ เทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึง และเทศบาลตำบลเกาะสีชัง เนื่องจากมีความหลากหลายของพื้นที่ทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีศูนย์รวบรวมบรรจุภัณฑ์ และมีความเป็นทั้งเมืองและชนบท ซึ่งได้เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนในห่วงโซ่ได้มีส่วนร่วม ทั้งภาคชุมชน ซาเล้ง ร้านรับซื้อของเก่า ผู้จัดเก็บรวบรวมรายกลางและรายใหญ่ เพื่อพัฒนาต้นแบบ EPR ของประเทศไทย รวมถึงถอดบทเรียน และนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประกอบการจัดทำร่างกฎหมาย โดยจะมีการขยายผลไปใช้ในพื้นที่อื่นต่อไป

 

 

ด้าน ผศ. ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อประเทศไทยปลอดขยะ (CEWT) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ร่างกฎหมายการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนตามหลักการ EPR หรือที่จะเรียกว่า ร่าง พ.ร.บ.จัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนฉบับนี้ จะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2568 จากนั้นจะนำเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภา และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณปี 2570 

 

 

นายเลิศฤทธิ์ เลิศวัฒนวัลลี บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีนโยบายสนับสนุนการจัดการขยะและบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วอย่างชัดเจน ดังนั้นการนำหลักการ EPR มาใช้ในภาคบังคับนับเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันทั้งซัพพลายเออร์  และ เจ้าของแบรนด์ ซึ่งแบรนด์ต่างๆ พร้อมให้การสนับสนุน ในขณะเดียวกันจะต้องให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจเรื่องรีไซเคิลให้มากขึ้นด้วย  

 

 

นายอรชัย อัจฉรานุกูล ผู้บริหาร บริษัท อายิโน๊ะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การมีกฎหมายฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของไทย โดยจะเป็นโอกาสทั้งในการประกอบธุรกิจและการสร้างอาชีพใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่มีความพร้อมจะร่วมมืออยู่แล้ว ขณะนี้ยังมีเวลาปรับตัวและเตรียมตัวก่อนกฎหมายฉบับนี้จะประกาศใช้ แต่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) อาจได้รับผลกระทบบ้าง ดังนั้นภาครัฐควรสนับสนุนเพื่อให้เตรียมความพร้อมก่อนกฎหมายใช้บังคับ