ชีวิตดีสังคมดี

'เบี้ยผู้สูงอายุ' ฝันร้ายบั้นปลายชีวิต วิบากกรรมคนจนต้องรอพิสูจน์ความจน

'เบี้ยผู้สูงอายุ' ฝันร้ายบั้นปลายชีวิต วิบากกรรมคนจนต้องรอพิสูจน์ความจน

17 ส.ค. 2566

บทสรุป 'เบี้ยผู้สูงอายุ' ฝันร้ายบั้นปลายชีวิต กับเกณฑ์ใหม่หาก (อ) ยากจนก็ต้องพิสูจน์ความจน คนไทยอาจได้เห็นภาพคุ้นตาคนแก่ยืนตากแดดรอยืนยันตัวตนเหมือนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

กลายเป็นประเด็นที่สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมไทยอย่างมาก และเรียกได้ว่าเป็นข่าวร้ายของคนแก่ในประเทศไทย หลังจากที่กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 โดยมีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ใหม่สำหรับ ผู้สูงอายุ หรือ คนแก่ ที่จะได้รับเงิน "เบี้ยผู้สูงอายุ" 600 บาทขึ้นไป   โดยประกาศใหม่ระบุว่า ผู้สูงอายุที่จะได้รับ "เบี้ยผู้สูงอายุ" จะต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามที่กฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด หากจะพูดให้คนทั่วไปเข้าใจง่ายคือ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปจะต้องพิสูจน์ความจนก่อนจึงจะได้รับเงิน 

 

 

 

 

ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดกระแสต่อต้าน วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกับการปรับเกณฑ์ใหม่ "เบี้ยผู้สูงอายุ" มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแวดวงสังคม นักวิชาการ โดยหลายคนเห็นว่าการจ่ายสวัสดิการแบบถ้วนหน้า เป็นเรื่องที่รัฐจะต้องทำ และไม่ควรให้คนแก่ต้องมาพิสูจน์ความจน  นักวิชาการบางคนบอกว่าการจ่ายสวัสดิการแบบสังคมสงเคราะห์เป็นเรื่องที่ประเทศไทยชอบทำ เพราะสามารถสร้างบุญคุณและอำนาจให้กับคนที่มอบสิทธิให้แก่พวกเขาได้  แม้จะมีหลายส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการปรับเกณฑ์ "เบี้ยผู้สูงอายุ" ครั้งล่าสุด แต่ก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลรักษาการที่ออกประกาศมาในช่วงสูญญากาศจะถอยไม่ได้แล้ว ท้ายที่สุดหากคนแก่อยากได้เงิน 600 บาท/เดือนก็คงต้องเข้าคิวพิสูจน์ความจนกันเหมือนๆ ที่ผ่านมา  ส่วนจุดเริ่มต้นการปรับเกณฑ์ใหม่ "เบี้ยผู้สูงอายุ" เป็นมาอย่างไร คมชัดลึก สรุปให้ดังนี้

  • ประกาศกระทรวงมหาดไทยเกณฑ์ใหม่ "เบี้ยผู้สูงอายุ" (อ) ยากจนต้องพิสูจน์

12 ส.ค. 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 โดยมีสาระสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้สูงอายุที่จะได้รับ "เบี้ยผู้สูงอายุ" ต่อไปนี้คนแก่ที่จะได้รับ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ มีสัญญาไทย อายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานรัฐ ไม่ได้รับเงินบำนาญ หรือเบี้ยยังชีพตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ไม่เป็นผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ ยกเว้นผู้ที่ได้รับเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพอื่นๆ  หรือ สรุปคือ หากเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้น จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ว่าจนจริงถึงจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ  

 

 

 

  • นักวิชาการสวนกลับแผนปล้นเงินคนแก่ ของรัฐทุนนิยมและรัฐราชการ 

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเฉพาะทาง รัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก Sustarum Thammaboosadee ว่า แผนปล้นเงินคนแก่ ของรัฐทุนนิยมและรัฐราชการ อาศัยช่วงวันหยุด รัฐราชการจึงงัดแผนที่เตรียมมา คือการ ตัดระบบเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า อันส่งผลให้ ผู้สูงอายุกว่า 6 ล้านคนจะถูกตัดออกการรับสิทธิ์ เพียงเพราะมีบ้าน มีรถ มีที่ดิน หรือมีลูกหลาน-มีแนวโน้มจะใช้เกณฑ์เดียวกับ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่งให้คนกลับสู่วังวนยากจน คือความเห็นของทั้ง กระทรวง พม. สอดรับกับกระทรวงการคลัง กับการไม่มองว่าชีวิตคนสำคัญกว่าตัวเลข เบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้าพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถช่วยคนแก่ที่จนที่สุดได้ดีกว่าระบบสงเคราะห์ งบประมาณที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ประมาณ 80,000 ล้านบาท หรือ 2%ของงบรายจ่ายประจำปีเท่านั้น ตอนนี้นอกจากเราจะไม่ได้บำนาญถ้วนหน้า 3,000 เบี้ย 600 ก็ยังไม่ได้ต่อไปต้องต่อแถวประจานความจนเหมือนหลายสิบปีก่อน

 

 

  • ข้ออ้างต้องการเพิ่มสิทธิอื่นให้ผู้สูงอายุคนที่แก่ที่รวยแล้วไม่ควรได้ "เบี้ยผู้สูงอายุ"

หลังจากประกาศระเบียบการจ่ายเงิน "เบี้ยผู้สูงอายุ" ถูกเผยแพร่ออกไปกระแสสังคมถาโถมไปยังรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยอย่างหนัก จน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  (มท.1) ต้องออกมาชี้แจง โดยระบุว่า  ที่มาของการแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทย เกิดขึ้นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคำวินิจฉัย เรื่อง การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น ซึงในอดีตผู้ที่ได้รับสวัสดิการภาครัฐ เช่น บำเหน็จ บำนาญ จะไม่ได้รับ "เบี้ยผู้สูงอายุ" ซึ่งเป็นการขัดแย้งกับพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 และไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กระทรวงมหาดไทยจึงต้องปรับแก้ โดยเปิดกว้างให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ มีโอกาสได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติม

ส่วนระเบียบใหม่ที่ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพนั้น จะต้องรอคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนดหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ คนแก่ที่ได้รับ "เบี้ยผู้สูงอายุ" ยังคงได้รับตามเดิมยังไม่มีมีการเปลี่ยนแปลง 

 

 

  • เกณฑ์ใหม่ตัดคนแก่ออกจากระบบ "เบี้ยผู้สูงอายุ" ช่วยรัฐประหยัดงบประมาณ  

ก่อนที่จะมีการออกระเบียบการจ่ายเงิน "เบี้ยผู้สูงอายุ" รัฐบาลได้ออกมาประมาณการว่าในปี 2567 รัฐจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ประมาณ 90,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 40,000 ล้านบาทจากเดิมที่รัฐจัดสรรงบประมาณสำหรับจ่ายเงินเบี้ยคนชรา 11 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 50,000 ล้านบาท ดังนั้นการกำหนดเกณณฑ์ใหม่คัดเฉพาะคนที่จนจริง ๆ จะช่วยให้รัฐประหยัดงบประมาณในการจ่าย เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุราวๆ 30,000-40,000 ล้านบาท เพราะจะมีผู้สูงอายุที่ถูกตัดสิทธิไป 6 ล้านคน จากคนที่จะเข้าเกณฑ์ตามระเบียบใหม่เพียง 5 ล้านคน เท่านั้น

 

 

  • เปิด 5 จังหวัดที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในประเทศ 

ข้อมูลจาก กรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุว่า เริ่มตั้งแต่ปี 2566 ประเทศไทยจะมีคนไทยที่มีอายุถึง 60 ปี เพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคน และอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอีก 20 ล้านคน ซึ่งหมายถึงคนไทย 1 ใน 5 จะเป็นผู้สูงอายุ 
5 จังหวัดที่มีผู้สูงอายุมากที่สุด ได้แก่ 
1.กรุงเทพมหานคร มีผู้สูงอายุ 1,210,828 คน

2.จ.นคราชสีมา มีผู้สูงอายุ 511,969 คน

3.จ.เชียงใหม่ มีผู้สูงอายุ 394,279 คน

4.จ.ขอนแก่น มีผู้สูงอายุ 353,289 คน

5.จ.อุบลราชธานี มีผู้สูงอายุ 314,828 คน 

 

 

  • เทียบ 10 ประเทศจ่ายเงินสวัสดิการบำนาญให้คนแก่อยู่ได้แบบสบายๆ  

1.เนเธอร์แลนด์ 136,520 บาท 
2.ลักเซมเบิร์ก 128,111 บาท 
3.เดนมาร์ก  121,144 บาท 
4.ไอซ์แลนด์ 103,000 บาท
5.ออสเตรีย  100,900 บาท 
6.อิตาลี  78,439 บาท
7.สเปน 71,978 บาท 
8.ฝรั่งเศส 69,360 บาท
9.สวิตเซอร์แลนด์   67,500 บาท 
10.นอร์เวย์ 64,510 บาท 

 

 

 

สุดท้ายแล้วการปรับเกณฑ์ "เบี้ยผู้สูงอายุ" อาจะกลายเป็นฝันร้ายของผู้สูงอายุในประเทศไทย เพราะนอกจากจะไม่ได้เงินสำหรับใช้จ่ายในช่วงบั่นปลายชีวิตเพิ่มแล้ว ยังเสี่ยงถูกตัดสิทธิไม่ได้เงิน 600 บาท หรืออาจจะต้องไปยืนต่อแถวตากแดดเพื่อพิสูจน์ความจน กันคล้ายๆกับภาพชินตาที่เราเคยเห็นเมื่อ 5-6 ปีก่อนในช่วงที่รัฐบาลเริ่มโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ดังนั้นความหวังใหม่ของผู้สูงอายุ คงขึ้นอยู่กับการเข้ามาแก้โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลชุดใหม่