5 ข้อ ค้านเกณฑ์ใหม่ 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' หยุดด้อยค่าลดศักดิ์ศรีคนแก่
ยื่น 5 ข้อ คัดค้านเกณฑ์ใหม่ 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' จี้รัฐหยุดด้อยค่า ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นคน แต่ควรเติมเต็มรัฐสวัสดิการ บำนาญถ้วนหน้าให้ผู้สูงอายุ
หลังจากที่มีการประกาศ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 เกี่ยวกับการจ่ายเงิน "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" ไปเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา ล่าสุด เครือข่ายประชาชน ได้ออกแถลงการณ์ปกป้องสวัสดิการประชาชน คัดค้านการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยระบุว่า
ในยามที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว รัฐบาลประยุทธ์ ยังคงรักษาการณ์ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ กระทรวงมหาดไทยได้ออกหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2566 โดยเพิ่มคุณสมบัติ การเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ เป็นเงื่อนไขในการรับเบี้ยยังชีพทั้งที่นับกว่าทศวรรษตั้งแต่ปี 2552 สวัสดิการ "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" ได้ถูกปรับจากระบบสงเคราะห์คนยากไร้อนาถามาเป็นสิทธิสวัสดิการระบบถ้วนหน้า ขอเพียงให้ประชาชนมีอายุ 60 ปี และไม่ได้รับสวัสดิการหรือบำนาญอื่นใดจากรัฐในลักษณะเดียวกัน
จนเมื่อเข้าสู่การรัฐประหาร 2557 การบริหารประเทศภายใต้การนำของประยุทธ์ จันทร์โอชา การดำเนินนโยบายด้านสวัสดิการสังคม ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย กลับลิดรอนสิทธิสวัสดิการของประชาชน ลดทอนด้อยค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยการให้พิสูจน์ความยากจน แสดงถึงความไม่เชื่อมั่นในระบบสวัสดิการถ้วนหน้า อันเป็นการเคารพสิทธิเสมอกันของประชาชน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพลเมืองในประเทศนี้ยิ่งสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น รัฐควรต้องออกโรงมาปกป้องดูแลทรัพยากรมนุษย์ ผู้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศ ด้วยการเพิ่มสิทธิสวัสดิการ ยกระดับคุณภาพชีวิต ในฐานะพลเมือง ทรัพยากรบุคคลของประเทศ
ในนามของพลเมือง ที่ได้รับผลกระทบจากการออกระเบียบของกระทรวงมหาดไทย และหลักเกณฑ์ "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" ของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เราจะร่วมกันปกป้องสวัสดิการประชาชน และร่วมกันคัดค้านการตัด "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" โดยมีข้อเรียกร้องร่วมกันดังนี้
1. กระทรวงมหาดไทย ให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 แล้วกลับไปใช้ระเบียบเดิม ซึ่งคงสิทธิถ้วนหน้า โดยไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน และตัดสิทธิการรับสวัสดิการซ้ำซ้อนไว้แล้ว
2.คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ต้องออกมาปกป้องสิทธิของผู้สูงอายุทุกคน ไม่ให้ถูกลิดรอนต่ำลงไปกว่าที่เคยเป็น ด้วยการไม่สนองตอบต่อหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566
3.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องมีบทบาทสำคัญในการยกระดับการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นระบบบำนาญถ้วนหน้า ด้วยการออกเป็นกฎหมายรองรับ ไม่ใช่ใช้หลักนโยบายการจ่าย "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" ตามมติคณะรัฐมนตรี
4. กระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ของตัวเองในการศึกษาตัดงบรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เข้ารัฐ เพื่อเพิ่มรายได้มาเติมเต็มการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนแบบถ้วนหน้า เช่น การศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง ภาษีลาภลอย ภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้น เป็นต้น
5. รัฐบาลใหม่ ต้องผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเรื่องรัฐสวัสดิการเป็นสิทธิแบบถ้วนหน้าบรรจุในกฎหมายให้ชัดเจน