ชีวิตดีสังคมดี

เปิดงานวิจัยใช้ศิลปะ 'ลดความรุนแรงในโรงเรียน' โจทย์ใหญ่สังคมไทยต้องดูแล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดงานวิจัยใช้ศิลปะ 'ลดความรุนแรงในโรงเรียน' โจทย์ใหญ่ที่สังคมไทยต้องดู ห่วงเด็กไทยตกอยู่ในวังวนของความรุนแรง

การใช้ความรุนแรงในสถาบันการศึกษาหรือโรงเรียน นับเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญของสังคมไทย ได้จากการติดตามข้อมูลผลวิจัยของโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด (Child Watch) ที่ทำการสำรวจในกลุ่มเด็กเยาวชน 150,000 คนทั่วประเทศ พบว่าเด็กนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา และอาชีวศึกษาทั้งในระดับมัธยมศึกษา ปวช. และ ปวส. ตกอยู่ในวังวนของการใช้ความรุนแรง การใช้กำลังกันระหว่างเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ประมาณ 1 ใน 10 หรือประมาณ 700,000 คน จากจำนวนนักเรียนในระดับมัธยม ศึกษา ปวช. และ ปวส. ทั้งหมด และมีแนวโน้ม เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ภาพประกอบบทความเท่านั้น

ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเด็กและเยาวชนนั้น สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเด็กได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านั้นรวมทั้งการนำเสนอของสื่อต่างๆ ที่แสดงออกถึงความรุนแรงทั้งรูป ของภาพยนตร์ ข่าว โดยเฉพาะละครบางเรื่องที่มีฉากและคำพูดที่กระตุ้น และเป็นสิ่งเร้าที่อาจจะทำให้เด็กซึมซับความรุนแรงมากขึ้น 

 

 

จากปัญหาดังกล่าว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับสถาบันสอนภาษาอังกฤษ โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการศึกษาของศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้น จัดโครงการ  Teacher Conference ในหัวข้อ “Stop Violence in Schools” เยาวชนไทยห่างไกลความรุนแรง เพื่อ "ลดความรุนแรงในโรงเรียน"  รวมทั้งเยียวยาผู้ถูกกระทำและรับมือผู้กระทำความรุนแรง ผ่านงานวิจัยจากคณาจารย์จากคณะต่างๆ ของจุฬาฯ

  • ปัญหาการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนที่ไม่ควรมองข้าม

รศ.ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการวิจัย “สังคมไทยไร้ความรุนแรง” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวในหัวข้อ “แผนงานวิจัยท้าทายไทย : สังคมไทยไร้ความรุนแรง” โดยได้รับโจทย์ในการวิจัยหาแนวทางแก้ปัญหาความรุนแรงของสังคมไทย ศึกษาหาสาเหตุ ผลกระทบของความรุนแรง รวมถึงแนวทางต้นแบบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง  

 

รศ.ดร.สุมนทิพย์ จึงเน้นย้ำในเรื่องของการร่วมมือกันระหว่างองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม รวมถึงภาคประชาสังคม สื่อมวลชน ภาคเอกชน และสถาบันครอบครัวซึ่งมีความสำคัญลำดับต้นๆ และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงได้

 

“จากการศึกษาวิจัยในปีที่ 2 ได้ต่อยอดแผน Road Map สังคมไทยไร้ความรุนแรง ออกเป็น 5 ส่วนได้แก่ นโยบาย (Policy) ป้องกัน (Prevention) คุ้มครอง (Protection) ดำเนินคดี (Prosecution) และความเป็นหุ้นส่วน (Partnership) โดยแผนงานดังกล่าวได้มีการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งมอบองค์ความรู้ให้หน่วยงานต่างๆ นำไปต่อยอดในการดูแลและป้องกันการเกิดความรุนแรงอย่างเป็นรูปธรรม”

 

 

 

  • ความรุนแรงในโลกไซเบอร์

ถึงแม้จะออกจากนอกรั้วโรงเรียนไปแล้วแต่ความรุนแรงสามารถยังตามหลอกหลอนเหยื่อ ได้บนช่องทางแพลตฟอร์มบนโลกออนไลน์เช่นกัน นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาความรุนแรงรูปแบบหนึ่งที่สามารถนำพาความเจ็บปวดทางจิตใจและทางกายได้

 ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ โดยได้เผยถึงข้อมูลเกี่ยวกับเหยื่อความรุนแรงว่ามักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายถึงมหาวิทยาลัย ซึ่งในปี 2566 มีผู้พบความรุนแรงถึง 40% และมีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงถึง 30% ที่น่าสนใจคือยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ออกมาบอกว่าตนตกเป็นเหยื่อ โดยช่องทางหลักของการแสดงความรุนแรงมักเป็น Social Network  ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณในแพลตฟอร์มที่ไม่ต้องมีการเปิดเผยตัวตน เราไม่สามารถห้ามไม่ให้เด็กใช้โซเชียลได้เพราะข่าวสารข้อมูลที่มีประโยชน์ก็อยู่บนนั้นเช่นกัน แต่จะทำอย่างไรที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กใช้โซเชียลมีเดียได้อย่างมีคุณภาพ 

“ครูเป็นเสมือนปราการแรกของเด็กที่สามารถรับฟังอย่างเข้าใจ  โรงเรียนสามารถเสริมเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียนสามารถพูดหรือระบายได้ จากงานวิจัยพบว่าคนที่ตกเป็นเหยื่อ Cyberbullying มีความสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตาย การป้องกันในเบื้องต้นจึงมีความสำคัญ ช่วยป้องกันปัญหาใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้”  ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าว

 

  • กลไกทางกฎหมายเมื่อมีเหตุความรุนแรง

กลไกทางกฎหมายเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นในโรงเรียนต้องเริ่มตั้งแต่กฎหมายแม่บท ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายที่ครอบคลุมและคุ้มครองเด็กได้ดีพอสมควร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือกฎหมายลำดับรองและแนวทางปฏิบัติจริงที่เกิดขึ้นในการบังคับใช้กฎหมายยังไม่ค่อยสมบูรณ์

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เล่าถึงสิ่งที่จะต้องแก้ไขก็คือ ในโรงเรียนควรมีกลไกที่คุ้มครองผู้ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง นักเรียนกับครู หรือกระทั่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากบุคคลภายนอกที่เข้ามากระทำกับครูหรือนักเรียน ซึ่งจะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นครู แพทย์ ตำรวจ รวมถึงกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งหากมีการบูรณาการร่วมกันก็จะช่วยคุ้มครองป้องกันความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนได้

 

 “การรู้จักเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกันในโรงเรียนเป็นพื้นฐานที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงในโรงเรียน  ความรุนแรงเกิดขึ้นจากการขาดความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงควรเริ่มต้นจากการป้องกันและสร้างเสริมความเข้าใจในส่วนนี้ จากนั้นต้องมีมาตรการรองรับหากเกิดเหตุความรุนแรงว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ทั้งในส่วนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการดูแลและบำบัดอย่างใร ในขณะเดียวกันก็ต้องรับมือป้องกันผู้ที่ก่อความรุนแรงไม่ให้ไปก่อเหตุความรุนแรงในอนาคต สิ่งที่อยากจะฝากไว้คือว่าเราไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยการใช้ความรุนแรงได้ไม่ว่าในทางใด” ผศ.ดร.ปารีณา กล่าว

 

 

 

  • ศิลปะบำบัด กับการป้องกันและแก้ไขปัญหา "ลดความรุนแรงในโรงเรียน"

ข้อมูลงานวิจัยจ.ดร.บุษกร บิณฑสันต์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ ดร.นิศรา เจริญขจรกิจ อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า นำกระบวนการทางศิลปะบำบัดมาใช้จะช่วยลดปัญหาความรุนแรงได้

ศ.ดร.บุษกร กล่าวว่ากิจกรรมที่ เรียกว่า Expressive Art Emotional คือการใช้ศิลปะบำบัดโดยการวาดภาพ จะเน้นที่อารมณ์ (Emotion) ที่ถูกสะสมไว้ได้รับการปลดปล่อยผ่านงานศิลปะ ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมที่สะท้อนความเป็นตัวตนและการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึก การวาดภาพเป็นหนึ่งในกระบวนการคัดกรองผู้ที่จะสร้างความรุนแรงหรือผู้ที่ถูกกระทำ ผ่านออกมาเป็นภาพ ทำให้ทราบว่าใครอยู่ในเหตุการณ์ที่ค่อนข้างที่จะวิกฤต เพื่อส่งต่อตามกระบวนการต่างๆ ของโรงเรียนต่อไป

 

ภาพประกอบบทความเท่านั้น

 

 

 

  • 8 นโยบาย แนะการสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรงเริ่มต้นได้ที่โรงเรียน

จากปัญหาความรุนแรงในสังคมอาจไม่มีได้พบเพียงเฉพาะต่อวัยเด็ก แต่ยังสามารถพบเจอในสังคม ไม่ว่าจะต่อสตรี ผู้สูงอายุ และความรุนแรงระหว่างกลุ่ม ได้แก่ ความรุนแรงที่เกิดจากอาชญากรรม ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืน ความรุนแรงของเด็กและเยาวชน ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ซึ่งรศ.ดร.สุมนทิพย์ แนะถึงนโยบายการสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง โดยสามารถนำไปปรับใช้กับโรงเรียนได้ดังนี้

1. การส่งเสริมและเปลี่ยนแปลงค่านิยมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง

2. การพัฒนา สร้างความมั่นคง หรือ เสถียรภาพระหว่างเด็กและพ่อแม่ หรือ ผู้ที่เลี้ยงดูเด็ก

3. การพัฒนาทักษะในการใช้ชีวิตต่อเด็กและเยาวชน

4. การลดการใช้สุรา หรือ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

6. การควบคุมการนำเสนอของสื่อที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง

7. การจัดโปรแกรมในการดูแลและช่วยเหลือต่อเหยื่อของความรุนแรง

8. การลดความรุนแรงโดยการใช้หลักทางศาสนา

 

 

จากโครงการStop Violence in Schools เยาวชนไทยห่างไกลความรุนแรง ควรได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนไม่ว่าจะทางด้านนโยบาย จิตวิทยาในการรับมือ การสร้างพื้นที่ปลอดภัย การบังคับใช้ข้อกฏหมาย รวมถึงการรับมือและเยียวยาด้วยศิลปะบำบัด ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ความรู้ที่ควรนำมาบูรณาการร่วมกันเพื่อสร้างสังคมที่ดี ไร้ความรุนแรงสำหรับเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตอย่างมีความสุขในอนาคต

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ