แม่เลี้ยงเดี่ยว-เด็กหญิงวัย 10 ขวบป่วยมะเร็ง เขียนจดหมายถวายฎีกาถึงในหลวง
แม่เลี้ยงเดี่ยวและลูกสาววัย 10 ขวบ เขียนจดหมายถวายฎีกาถึงในหลวง สู้ชีวิตเลี้ยงลูกป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวนอนติดเตียง "จุติ" รมว.พม. เข้าพื้นที่ช่วยเหลือช่วย ปฏิบัติงานเป็นภารกิจสุดท้าย "เราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"
เช้าวันที่ 3 ก.ย. 2566 ที่ ต.นาชะอัง อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร หญิงวัย 35 ปี กำลังอ่านจดหมายที่เคยถวายฎีกาถึงพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว "ในหลวงรัชกาลที่ 10" เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ให้เหล่าข้าราชการนำโดย "จุติ ไกรฤกษ์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ที่เข้าพื้นที่ช่วยเหลือครอบครัวของเธอฟังด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและน้ำตาอาบสองแก้ม
เธอคนนี้คือ แม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีฐานะยากจน ไม่มีรายได้ เพราะลาออกจากงานมาดูแลลูกสาววัย 10 ขวบที่ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวตั้งแต่อายุ 6 ปี และติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ส่วนคนเป็นพ่อของลูกได้ทิ้งไป
เพราะความยากลำบาก เธอและลูกสาวจึงตัดสินใจ "เขียนจดหมายถึงในหลวง" คนละฉบับเพื่อถวายฎีกาขอความช่วยเหลือ
เนื้อความ "เขียนจดหมายถึงในหลวง" ฉบับของเด็กหญิงวัย 10 ขวบระบุบางช่วงว่า "ในหลวงเมตตาช่วยหนูด้วยนะคะ หนูอยากหาย หนูอยากไปเรียนหนังสือ หนูไม่มีเงินรักษา ถ้าหนูหาย หนูจะตั้งใจเรียนหนังสือ หนูอยากเป็นหมอ หนูจะเป็นหมอที่ดี ช่วยเหลือคนป่วยที่ไม่มีเงินรักษา เพราะหนูเข้าใจบางคนที่จน ไม่มีเงินรักษา เค้าทุกข์ทรมานมากเหมือนแม่และหนู ตอนนี้กินไม่ได้นอนไม่หลับ"
"จุติ" เล่าว่า ครอบครัวนี้ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง อาศัยในที่ดินคนอื่น ที่สำคัญลูกสาวเป็นเด็กขยันเรียน ก่อนป่วยติดเตียง ได้เข้าประกวดคัดลายมือจนได้รางวัลที่ 1 แต่เมื่อป่วย ทำให้ไปแข่งขันไม่ได้ มีเป้าหมายคือ การได้ถ้วยรางวัลประกวดคัดลายมือของในหลวงรัชกาลที่ 10
"วันนี้เป็นการลงพื้นที่ปฎิบัติภารกิจครั้งสุดท้ายในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในฐานะรัฐมนตรี ได้มาเยี่ยมให้กำลังใจและช่วยเหลือครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ประสบปัญหาความยากลำบาก คุณแม่ได้อ่านจดหมายถวายฎีกาถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอความช่วยเหลือ" "จุติ" ระบุ
"จุติ" บอกอีกว่า วันนี้แม่เลี้ยงเดี่ยวมีกำลังใจสู้เต็มที่ และจะต้องมีอาชีพที่ยั่งยืน เป็นการช่วยเหลือจากครอบครัววิกฤตมาสู่ระบบพึ่งพิง พอเพียง ยั่งยืน และจะเป็นหนึ่งในกรณีศึกษา พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวใจสู้ แล้วทุกภาคส่วนเข้ามาให้การสนับสนุน และมีศูนย์ช่วยเหลือสังคมประจำตำบลคอยขับเคลื่อนการให้ความช่วยเหลือ โดย "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"
เบื้องต้นได้มอบเครื่องซักผ้า เตารีด โต๊ะรีดผ้า สำหรับประกอบอาชีพ มอบเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือครอบครัว และมอบเงินเพื่อซื้ออาหารเสริมบำรุงสุขภาพเด็กให้แข็งแรงมากขึ้น
"จุติ" เล่าทิ้งท้ายว่า แม่เลี้ยงเดี่ยวได้ "เขียนจดหมายถึงในหลวง" ถวายฎีกาเมื่อเดือน มี.ค. 2566 โดยที่ผ่านมา พม. พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การมอบเงินสงเคราะห์เด็ก เงินสงเคราะห์ครอบครัว และเงินกองทุนคุ้มครองเด็ก เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้วางแผนและให้ความช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้านและให้ครอบครัวสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเพียงพอและมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ที่อยู่อาศัย ชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ และการศึกษาของเด็ก