ทะเลสีเขียวบางแสน ปลาตายครั้งใหญ่สุด ภัยคุมคามรุนแรงที่เราทำอะไรได้บ้าง?
แพลงก์ตอนบลูม หรือทะเลสีเขียว บางแสนชลบุรี ปลาตายครั้งใหญ่สุด กลายเป็นภัยคุกคามรุนแรงของชายฝั่งแถบนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลตั้งคำถาม "เราทำอะไรได้บ้าง" ถึงเวลายกระดับการรับมือ
"ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์" ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศทางทะเลแถวหน้าของประเทศไทย (ดร.ธรณ์) ออกมาอธิบายเหตุการณ์แพลงก์ตอนบลูม (ทะเลสีเขียว) วันที่ 10 ก.ย. 2566 ว่า ทะเลสีเขียวทำให้ปลาตายครั้งใหญ่ที่บางแสน โดยใช้ผลสำรวจล่าสุดของคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปลานานาชนิดตายจากแพลงก์ตอนบลูม เรื่องนี้คงเป็นที่ทราบกันแล้ว
ทะเลสีเขียว เกิดนอกชายฝั่ง มวลน้ำที่เต็มไปด้วยแพลงก์ตอนพืชเคลื่อนที่ไปตามคลื่นลม ลมฤดูนี้พัดเข้าฝั่งบางแสนศรีราชา แต่จะมีจังหวะลมแรง/ลมนิ่ง ยังเกี่ยงข้องกับกระแสน้ำชายฝั่งที่ขึ้นกับน้ำขึ้น/น้ำลง
"ดร.ธรณ์" อธิบายภาพด้านบนนี้ว่า มันคือ ชายฝั่งวอนนภา/บางแสน จุดที่มีน้ำเขียวปลาตายเมื่อ 2-3 วันก่อน จะเห็นว่าริ้วน้ำถูกพัดไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเป๊ะๆ ตามตำรา
"ดร.ธรณ์" เล่าต่อว่า หาดบางแสนถึงวอนนภา ยื่นออกมาจากชายฝั่ง จึงกลายเป็นเขตรับมวลน้ำเขียวจากทะเล รวมถึงปลาตายที่ลอยมาตามกระแสน้ำ/คลื่นลม
มวลน้ำทะเลสีเขียวยังไหลเข้าสู่แพเพาะเลี้ยงริมชายฝั่ง หากอยู่ขอบนอกก็เจอเยอะหน่อย
ทะเลสีเขียวไม่เป็นพิษ แต่เมื่อมีเยอะมากๆ จะทำให้แสงส่องลงไปในน้ำได้น้อยมาก แพลงก์ตอนพืชในน้ำชั้นล่างจึงตายพร้อมกัน เกิดการย่อยสลายที่ใช้ออกซิเจน ทำให้ออกซิเจนในมวลน้ำชั้นกลาง/ใกล้พื้นทะเลลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว
ออกซิเจนในน้ำจะต่ำลง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ บางหนถึงขั้นไม่รอดปัจจัยว่า น้ำเขียวเข้าที่ไหน จึงเกี่ยวข้องกับทิศทางของน้ำ (คลื่นลม/กระแสน้ำ/น้ำขึ้นน้ำลง) และลักษณะชายฝั่ง หากลมเปลี่ยนทิศนิดเดียว หรือกระแสน้ำชายฝั่งเปลี่ยนแปลง จุดน้ำเขียวปลาตายก็อาจเขยิบไป
แต่ช่วงนี้ยังไงก็วนเวียนอยู่แถว บางแสน/บางพระ/ศรีราชา เมื่อลมเบาลง มวลน้ำเขียวก็อาจไม่ลอยเข้าไป อีกทั้งแพลงก์ตอนไม่ได้บลูมต่อเนื่อง จะมาเป็นช่วงๆ จึงมีเวลาให้ชายฝั่งพักหายใจบ้าง
ตอนนี้ความถี่ในการบลูมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เวลาพักเบรคจึงมีน้อยลง วันนี้พรุ่งนี้ลมแถวนั้นก็เริ่มแรงขึ้น ทิศทางคล้ายเดิม ชายฝั่งอาจเจอน้ำทะเลสีเขียวระลอกใหม่
"ดร.ธรณ์" เล่าต่อว่า สถานการณ์ทะเลสีเขียวเป็นเช่นนี้ไปจนถึงสิ้นเดือน ต.ค. จากนั้นจะถึงช่วงบางแสนน้ำใส พักปิดเทอมกันยาวๆ จนถึงหน้าฝนปีหน้า แล้วเราทำอะไรได้บ้างล่ะ?
ทะเลสีเขียวที่ถี่ขึ้น กลายเป็นภัยคุกคามรุนแรงของชายฝั่งแถบนี้ หากคิดจะสู้ เราต้องยกระดับการรับมือ
ภาพที่นำมาให้ดู คือ หนึ่งการทดลองการยกระดับของคณะประมง ใช้เทคโนโลยีและการสำรวจร่วมกันหลายรูปแบบ เพื่อเข้าใจและเตือนภัยล่วงหน้า แต่จะไปต่อได้แค่ไหน ก็ต้องรอดูความจริงจังในการสนับสนุนช่วยกันของทุกฝ่าย เหมือนกับที่เคยบอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า