อึ้ง เด็กไทย 'ติดพนัน' ออนไลน์ 2.9 ล้านคน เล่นครั้งแรกก็ทำใจเต้นแรงจนติด
อึ้งเด็กไทย 'ติดพนัน' ออนไลน์พุ่ง 2.9 ล้านคน เป็นผู้เล่นหน้าใหม่สูงถึง 700,000 คน เล่นครั้งแรกทำให้ติดใจส่วนใหญ่เล่นจากมือถือ และมีโอกาสติดมากกว่าผู้ใหญ่ ร้องรัฐบาลเริ่มต้นสร้างภูมิกัน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จัดกิจกรรม No first time : พนันต้องไม่มีครั้งแรก เปิดผลสำรวจประสบการณ์เสี่ยงครั้งแรกที่ติดใจครั้งต่อไปที่อยากเลิกของเด็กเยาวชน ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่าพฤติกรรม "ติดพนัน" เป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ที่คล้ายกับการติดสารเสพติดสถานการณ์พนันในปัจจุบัน เล่นได้ง่าย สะดวก ทุกที่ทุกเวลา การพนันไม่ว่าจะเป็นรูปแบบออนไลน์ หรือออฟไลน์ ก็สามารถเสพติดได้ง่าย เมื่อเสพติดพนันก็ส่งผลกระทบต่อตนเอง และผู้อื่น ขาดเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เกิดความเครียดเสียสุขภาพจิต เสียการเรียน จึงควรสร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากการติดพนัน ซึ่งในกลุ่มเด็กมีความเสี่ยง "ติดพนัน" ได้ง่ายกว่าวัยอื่น แต่ก็สามารถรักษาได้ ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจ เพราะครอบครัวคือกำลังใจสำคัญที่จะช่วยเหลือ สนับสนุน ให้ก้าวข้ามการเสพติดพนันได้
นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ รักษาการ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า ผลสำรวจพฤติกรรมการเล่นพนันออนไลน์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุ 15-25 ปี จาก 19 จังหวัด ทั่วประเทศ จำนวน 5,010 ตัวอย่าง ระหว่างเดือน ม.ค. – ก.พ. 2566 ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า เล่นพนันออนไลน์กว่า 2.9 ล้านคน ในจำนวนนี้มีถึง 1.4 ล้านคน เสี่ยงเป็นนักพนันที่เป็นปัญหา และเป็นผู้เล่นหน้าใหม่สูงถึง 700,000 คน เล่นพนันผ่านช่องทางมือถือมากถึง 98.7% แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์พนันในเด็ก และเยาวชนส่งสัญญาณอันตราย โดยเฉพาะพนันออนไลน์ที่เด็กเยาวชนมีโอกาสเป็นผู้เสพติดพนันสูงกว่าผู้ใหญ่ การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อสร้างความตื่นตัว เน้นย้ำให้สังคมตระหนักว่าพนันเป็นสิ่งเสพติด ยิ่งเล่นยิ่งติด และต้องไม่มีครั้งแรกสำหรับพนัน
น.ส.วศิณี สนแสบ ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน กล่าวว่า วันที่ 1-10 ก.ย. ที่ผ่านมา เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนันร่วมกับเครือข่ายรณรงค์หยุดพนันได้ทำสำรวจเด็ก และเยาวชนไทย อายุระหว่าง 13-25 ปี จำนวน 1,200 คน ใน 17 จังหวัดจากทุกภาคของประเทศ เกี่ยวกับประสบการณ์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาต่อปัจจัยเสี่ยง อุบัติเหตุ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พนัน การสูบบุหรี่หรือสารเสพติด พบว่า 40% เคยมีประสบการณ์อย่างน้อยหนึ่งเรื่อง มากที่สุดคือ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 21.3% รองลงมาเป็นอุบัติเหตุ มีพฤติกรรมขับขี่โลดโผน 17.7% เล่นพนัน 15.3% สูบบุหรี่หรือใช้สารเสพติด 12.2% ซึ่งพนันเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้รู้สึกติดใจในครั้งแรก ๆ แต่ในครั้งต่อไปอยากจะเลิก เพราะเหตุผลเรื่องสุขภาพ ร่างกายทรุดโทรม พักผ่อนไม่เพียงพอ เครียด การเงินที่ไม่มีพอจับจ่ายใช้สอย ปัญหาด้านความสัมพันธ์ ทะเลาะกับคนใกล้ตัว และการถูกลงโทษทางวินัย รวมถึงการถูกข่มขู่และถูกทำร้ายร่างกาย
“เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน ขอเสนอแนวทางต่อรัฐบาลชุดใหม่ ให้จริงจังต่อการปกป้องเด็กและเยาวชนจากพนัน เริ่มต้นจากสลากกินแบ่งรัฐบาล ไม่ให้มีการจำหน่ายสลากฯ แก่เด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี 100% ให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนภูมิรู้สู้พนันแก่เด็ก เยาวชน และพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยการแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งที่แน่นอน อาจไม่เกิน 1-5 % จากกิจการพนันถูกกฎหมายที่รัฐกำกับดูแลอยู่ เช่น รายได้จากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล มาตั้งเป็นกองทุนส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างภูมิรู้สู้พนัน เพื่อพัฒนานวัตกรรม และการสร้างโอกาสการเรียนรู้ต่าง ๆ แก่เด็ก เยาวชน และครอบครัว สร้างสังคมปลอดภัยจากการพนัน” น.ส.วศิณี กล่าว