'บัตรประชาชนใบเดียว' รักษาได้ทั่วไทย เช็ก 27 จังหวัด ใช้ได้ ล่าสุด
กระทรวงสาธารณสุข อัปเดต จังหวัด ใช้ 'บัตรประชาชนใบเดียว' รักษาได้ทั่วไทย นำร่อง 4 เขต 27 จังหวัด ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว
“บัตรประชาชนใบเดียว” รักษาฟรี ทุกที่ นับเป็นหนึ่งในการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ บัตรทอง นโยบายหลักด้านสาธารณสุขของรัฐบาลใหม่ ที่ได้มีการนำร่องใช้แล้ว ในเขตสุขภาพที่ 8 จำนวน 7 จังหวัด ที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้ทุกโรค ทุกที่ มาแล้วร่วม 2 ปี ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข ได้เพิ่มการนำร่องใช้ “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทั่วไทย” เพิ่มอีก 4 เขต 27 จังหวัด
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า “บัตรประชาชนใบเดียว” ที่จะนำร่องในเขตสุขภาพที่ 1 เขต 4 เขต 9 และเขต 12 รับเฉพาะโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะบริหารจัดการในสังกัด สธ.ให้เป็นไปตาม Quick Win 100 วัน 13 ประเด็น จากนั้น เป้าหมายต่อไป มีคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นเลขานุการ จะดำเนินการกรณีเชื่อมต่อข้อมูลต่างๆ จากต่างกระทรวงมาเป็นหนึ่งเดียวกัน เชื่อมโยงข้อมูล ซึ่งจะอยู่บนคลาวด์
บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทั่วไทย เริ่มเมื่อไร
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จริงๆ โรงพยาบาลทุกแห่งในเขตสุขภาพนำร่อง มีความพร้อมอยู่แล้ว ในการให้บริการ แต่กำหนดว่า ภายใน 100 วัน จะเชื่อมโยงข้อมูลได้หมด โดยประชาชนสามารถไปรักษาข้ามโรงพยาบาลได้ โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว ซึ่งคาดว่า ทั้ง 4 เขตสุขภาพนำร่อง จะเริ่มใช้ครบทั้งหมดภายใน 100 วัน เป็นของขวัญปีใหม่ 2567
4 เขตสุขภาพ 27 จังหวัด นำร่องใช้ บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่
- เขตสุขภาพที่ 1 ครอบคลุม 8 จังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน
- เขตสุขภาพที่ 4 ครอบคลุม 8จังหวัด สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี
- เขตสุขภาพที่ 9 ครอบคลุม 4จังหวัด นครราชสีมา ชุยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์
- เขตสุขภาพที่ 12 ครอบคลุม7 จังหวัด พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
ส่วนเขตสุขภาพที่ 8 ประกอบด้วย 7 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ ได้มีการนำร่องใช้จริงมาแล้ว 2 ปี
เงื่อนไข “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทั่วไทย”
“บัตรประชาชนใบเดียว” รักษาทุกโรค ทุกที่ คนไข้ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลอื่น ที่เป็นโรงพยาบาลนอกสิทธิ ไม่ต้องมีใบส่งตัว และไม่เรียกเก็บเงินจากคนไข้ เรียกว่าระบบ 2 ม. หรือ 2 ไม่ จากช่วงแรกเริ่มจากมะเร็ง ขยับมาเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน และใช้กับทุกโรค เพราะบางครั้งคนไข้ไปทำงานอยู่ที่อื่น ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของโรงพยาบาลที่ระบุไว้ตามสิทธิ ซึ่งสิทธิ 30 บาท ก็ควรจะเหมือนสิทธิข้าราชการที่ไปรักษาที่ไหนก็ได้ทั่วไทย เพียงแต่สิทธิข้าราชการข้อมูลยังไม่มีการเชื่อมกันทำให้ประชาชนสิทธิบัตรทอง ถือบัตรประชาชนใบเดียว เดินทางข้ามจังหวัดในเขตได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ