ผู้หญิงต้องรู้ 'โรคผู้หญิง' เป็นมากสุด มุ่งเป้าตรวจมะเร็งลดอัตราเสียชีวิต
ผู้หญิงต้องรู้ 'โรคผู้หญิง' เป็นมากที่สุด มุ่งเป้าหมายตรวจคัดกรองมะเร็งลดอัตราเสียงเสียชีวิต รพ.วิมุตบุกตลาดสุขภาพผู้หญิงเทรนด์มาแรงในอนาคต เผยหญิงมีอัตราการพบแพทย์มากกว่าชาย
จากข้อมูล The Economist Intelligence Unit องค์กรวิจัยในสหรัฐฯ คาดว่าในปี 2573 กำลังซื้อของผู้หญิงทั่วโลกจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดไปอยู่ที่ราวๆ 46 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากที่ในปี 2557 มีมูลค่าอยู่ที่ 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.0% โดยเทรนด์ SHEconomy ที่กำลังมาแรงมีปัจจัยหนุนจาก 3 ปัจจัยด้วยกันคือ ตลาดผู้หญิงในกลุ่ม Millennials ที่มีกำลังซื้อสูงและกล้าใช้จ่าย, บทบาทของผู้หญิงที่เด่นชัดขึ้นในตลาดแรงงาน ทำให้สามารถสร้างรายได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต อีกทั้งผู้หญิงมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจและกำหนดการจับจ่ายใช้สอยในครัวเรือน
สำหรับในประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดจากสำนักทะเบียนกลางยังชี้ว่า สัดส่วนประชากรในไทยมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายมากขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา โดยปี 2565 มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายราว 1.59 ล้านคน สำหรับภาพรวมจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลวิมุตนั้น ในปี 2566 จนถึงปัจจุบันพบว่ามีสัดส่วนผู้ใช้บริการเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายสูงถึงประมาณ 20% ส่วนใหญ่ยังคงเน้นไปที่การตรวจสุขภาพเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็น ศูนย์สูตินรีเวช และแผนกฉุกเฉิน ตามลำดับ
นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่า โรงพยาบาลวิมุตมีแนวคิดที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่ผู้หญิงทุกช่วงวัยผ่านแคมเปญ “The Power of Women” เพื่อร่วมขับเคลื่อนที่สุดแห่งพลังและศักยภาพในตัวผู้หญิง ให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตที่มีคุณค่าและพัฒนาตนเองในทุกมิติบนรากฐานของสุขภาพกายและใจที่สดใสแข็งแรง ผ่านทีมแพทย์สูตินรีแพทย์และแพทย์ผู้ชำนาญการในสาขาอื่น ๆ ที่มากด้วยประสบการณ์และความชำนาญในการรักษาทุกปัญหาสุขภาพ และตรวจ โรคผู้หญิง รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ช่วยให้ทีมแพทย์มอบการวินิจฉัยที่แม่นยำ ในบรรยากาศส่วนตัวเป็นกันเองและบริการที่ใส่ใจในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ อาทิ การฉีดวัคซีน HPV เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก, การดูแลความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ตลอดจนการมีบุตร รวมไปถึง การดูแลรักษาโรคที่ผู้หญิงสูงวัยต้องเผชิญ เช่น ปัญหาในเรื่องฮอร์โมน โรคกระดูกพรุน หรือมีปัญหาเรื่องทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจคัดกรองมะเร็งในผู้หญิง รวมถึงบริการอื่นๆ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ลดความเจ็บปวดในขั้นตอนการตรวจรักษา
ที่ผ่านมาเราพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้หญิงไทยคือมะเร็ง จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขปี 2565 พบว่า หญิงไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมมากที่สุด จำนวน 38,559 ราย รองลงมาคือ มะเร็งปากมดลูก จำนวน 12,956 ราย โดยโรคมะเร็งเต้านมนับเป็นภัยเงียบใกล้ตัว เนื่องจากในระยะแรกมักจะไม่แสดงอาการ ไม่เจ็บ ไม่ปวด เมื่อพบอาการผิดปกติมักอยู่ในระยะที่ก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้นและลุกลามไปทั่วแล้ว ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ซึ่งการคัดกรองและตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกจะช่วยให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากที่สุด ส่วนมะเร็งอันดับสองที่พบในหญิงไทยอย่างมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงวัย 30 -55 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิด Human Papillomavirus หรือเอชพีวี (HPV) ในระยะแรกจะไม่แสดงอาการผิดปกติหรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหรือตกขาวผิดปกติเรื้อรัง ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มและการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV เป็นวิธีการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกที่ดีที่สุด
โดยพญ.พรรณลดา ฉันทศาสตร์รัศมี สูตินรีแพทย์ ศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่า "โรคผู้หญิง" ที่พบมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ คือ มะเร็ง และมะเร็งยังเป็นปัญหาด้านระบบสาธารณสุขอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด ในทุกๆปี ผู้หญิงจำนวนมากที่ตรวจพบและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทางนรีเวช ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งเต้านมที่พบบ่อยที่สุด มะเร็งปากมดลูกที่พบมากรองลงมา มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งมดลูก ซึ่งเป็นโรคที่สามารถรักษาได้หากตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรก ศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลวิมุต เชื่อมั่นว่าวิธีป้องกันการเกิดโรคที่ดีที่สุด คือการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจของผู้หญิงตั้งแต่วัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ ตลอดไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งไม่เพียงช่วยให้มีสุขภาพดีในระยะยาว แต่ยังช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ด้วย โดยวางแผนการดูแลสุขภาพตาม 3 ช่วงวัยหลัก คือ
1.วัยเด็กก่อนมีประจำเดือน แนะนำให้กินอาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอเสริมสร้างพัฒนาการให้เหมาะสมแต่ละช่วงวัย นอกจากนี้ยังแนะนำให้รับวัคซีนที่เด็กไทยควรได้รับตามคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะวัคซีน HPV เพื่อป้องกันมะเร็งที่เกิดจากเชื้อHPV เช่นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งในช่องปากและลำคอ ซึ่งฉีดได้ทั้งเด็กหญิงและชายตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
2.วัยเจริญพันธุ์ หรือวัยที่มีประจำเดือนแล้ว เมื่อถึงวันอันสมควรแนะนำให้ตรวจภายใน ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญควรสังเกตความผิดปกติในร่างกาย หากพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที
3.วัยหมดประจำเดือน วัยนี้ต้องตรวจสุขภาพทุกปี รวมถึงตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญควรสังเกตสัญญาณเตือนก่อนวัยทอง อาทิ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หงุดหงิดง่าย ร้อนวูบวาบ หมดอารมณ์ทางเพศ เป็นต้น เพื่อให้รู้เท่าทันตนเอง บอกเล่าให้คนใกล้ตัวเข้าใจ และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจไปด้วยกัน”
นอกจากโรคทางกายแล้ว สุขภาพใจก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของผู้หญิง กรมสุขภาพจิต เผยคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน และพบว่ายังมีคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าที่ไม่ได้มีการเก็บสถิติอีกประมาณ 5 เท่าของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอยู่ในสถิติ โดยในปัจจุบันผู้ป่วยซึมเศร้าในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทางองค์การอนามัยโลกชี้ว่าเพศหญิงมีแนวโน้มเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย 2 เท่า เนื่องจากเพศหญิงเป็นเพศที่มีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนมากกว่าเพศชาย ทั้งในช่วงที่มีประจำเดือน ช่วงตั้งครรภ์ ตลอดจนอาการซึมเศร้าหลังคลอด นอกจากนี้ผู้หญิงยังต้องเผชิญความคาดหวังจากสังคมและปัญหาในครอบครัว
พญ.เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวช ศูนย์สุขภาพใจ โรงพยาบาลวิมุต เผยว่า “สุขภาพใจก็ไม่ต่างกับสุขภาพกายที่ควรเริ่มต้นดูแลตั้งแต่วัยเด็กจนโต โดยมีเทคนิค 4 ล ให้ผู้หญิงทุกคนนำไปปฏิบัติง่ายดังนี้ ล แรก คือ เลิกคิดลบ คิดบวก พยายามมองด้านดี ๆ ของสิ่งต่าง ๆ ช่วยให้เรามีสติในการจัดการอุปสรรคและปัญหาได้ ล สอง คือ เลิกเปรียบเทียบกับคนรอบตัว เพราะทุกคนมีชีวิตแตกต่างกัน ความสุขและความทุกข์ของแต่ละคนยอมแตกต่างกันไปด้วย รวมถึงการมีสติในการใช้โซเชียลมีเดียที่อาจทำให้เรารู้สึกแย่กับตนเองโดยไม่รู้ตัว ล สาม คือ เลือกเพื่อนและคนรอบข้างที่ดีที่พร้อมรับฟัง ปัญหาบางเรื่อง เพียงได้มีคนรับฟังและให้กำลังใจ ก็จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ ล สี่ คือ เลือกสร้างความสุขให้ตัวเอง ด้วยกิจกรรมที่ชอบเพื่อให้ผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าและความเครียดในแต่ละวัน”