ชีวิตดีสังคมดี

ดีเดย์ 1 ม.ค. 67  พนักงาน 'ขสมก.' รักษาพยาบาลเบิกจ่ายตรงกับ 'สปสช.' ได้

ดีเดย์ 1 ม.ค. 67 พนักงาน 'ขสมก.' รักษาพยาบาลเบิกจ่ายตรงกับ 'สปสช.' ได้

21 ต.ค. 2566

'ขสมก.' ดูแลสวัสดิการพนักงาน ขสมก. ให้ 'สปสช.' ทำหน้าที่บริหารจัดการธุรกรรมเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เบิกจ่ายตรง เพิ่มการเข้าถึงการรักษา ลดภาระสำรองจ่าย เริ่ม 1 ม.ค. 2567 นี้

นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พร้อมตัวแทนผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ขสมก. เข้าพบ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อขอบคุณ 'สปสช.' ในการทำหน้าที่บริหารจัดการธุรกรรมเบิกจ่าย (Clearing House) ค่ารักษาพยาบาลของพนักงาน 'ขสมก.' พร้อมขอคำแนะนำแนวทางการดำเนินงานการบริหารจัดการหลักประกันสุขภาพ

 

 

นายกิตติกานต์ กล่าวว่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มีหนังสือถึง สปสช. ลงวันที่ 12 ก.ย. 2566 แจ้งว่า ขสมก. ได้เห็นชอบให้ สปสช. บริการระบบเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับผู้มีสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของ ขสมก. โดย สปสช. ทำหน้าที่บริหารจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายและสรุปค่าใช้จ่ายส่งให้ ขสมก. จ่ายเงินสถานพยาบาล รวมถึงการตรวจสอบการเบิกจ่าย (Audit) นอกจากนี้ให้สถานพยาบาลที่พนักงาน ขสมก. เข้ารับบริการเบิกจ่ายตรงผ่านการบริหารจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายของ สปสช. ที่ช่วยให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น
 

 

จากข้อมูลผู้มีสิทธิรับสวัสดิการรักษาพยาบาล ขสมก. ณ วันที่ 14 ก.ย. 2566 ขสมก. มีผู้มีสิทธิรับสวัสดิการรักษาพยาบาล ขสมก. รวมทั้งสิ้น 47,873 คน โดยในจำนวนนี้ เป็นพนักงาน ขสมก. จำนวน 11,889 คน คู่สมรสจำนวน  5,724 คน บิดามารดาจำนวน 18,185 คน และบุตรจำนวน 12,075 คน ขณะที่ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลที่ผ่านมา (1 ต.ค. 2564 – 31 ธ.ค. 2565) มีจำนวนรวม 240.91 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 5,030 บาทต่อคนต่อปี 
 

 

"ขสมก. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มุ่งมั่นงานบริการด้านขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ 5 จังหวัดปริมณฑล เพื่อให้เป็นรถเมล์ของทุกคนตามวิสัยทัศน์ขององค์กร ดังนั้นการบริการจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้นั้นจำเป็นต้องดูแลสวัสดิการพนักงานเพื่อให้มีขวัญกำลังใจในการทำงานได้อย่างเต็มที ซึ่งการให้ สปสช. เข้ามาทำหน้าที่ Clearing House เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตรง จะช่วยลดภาระให้กับพนักงาน ทั้งในเรื่องเงินสำรองจ่าย และการทำเรื่องเบิกจ่ายเองในภายหลัง ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 ม.ค. 2567 นี้" ผู้อำนวยการขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าว

 

 

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า 'สปสช.' มีความยินดีในการทำหน้าที่นี้ให้กับ 'ขสมก.' เนื่องจากเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 มี.ค. 2556 ที่มอบให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามมาตรา 18 (14) แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในการควบคุมดูแลสำนักงานฯ ให้ปฏิบัติหน้าที่อื่น ได้แก่ การทำหน้าที่หน่วยงานกลางจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายและระบบข้อมูลบริการสาธารณสุข (National Clearing House) ตามนโยบายการบูรณาการและเพิ่มประสิทธิภาพระบบประกันสุขภาพของรัฐบาล เพื่อบริหารการเรียกเก็บค่าบริการสาธารณสุข (Claim center) ของสถานพยาบาลต่างๆ ที่ให้บริการผู้มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล ข้าราชการและบุคคลในครอบครัวและผู้ประกันตน รวมทั้งข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่สมัครใจ โดยอาศัยอานาจ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ มาตรา 26 (14)

 

 

ทั้งนี้ภายหลังจากที่ บอร์ด สปสช. ได้รับทราบการให้ สปสช. ทำหน้าที่บริหารจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายและระบบข้อมูลบริการสาธารณสุขในการรับและประมวลผลข้อมูลการเบิกจ่ายรักษาพยาบาลฯ ของผู้มีสิทธิรักษาพยาบาล ขสมก. ทาง สปสช. ได้มีการดำเนินการจัดทำแผนดำเนินการ รวมทั้งการจัดทำระบบฐานทะเบียนบุคคลต่างๆ เพื่อรองรับ และในวันที่ 1 ม.ค. 2567 ระบบทั้งหมดจะเริ่มดำเนินการได้ ซึ่งการเบิกจ่ายจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์สิทธิสวัสดิการข้าราชการ และข้อบังคับของ ขสมก. 

 

 

นอกจากด้านการรักษาพยาบาลแล้ว สปสช. จะประสานกับ ขสมก. เพื่อดูแลพนักงาน ขสมก. ให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ที่เป็นของคนไทยทุกคนทุกสิทธิ ซึ่งพนักงานขับรถ หรือพนักงานประจำรถ อาจไม่เคยรับการตรวจสุขภาพร่างกาย หรือคัดกรองโรค เช่น เบาหวน ความดัน มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ค้นหาความเสี่ยงโรคเบื้องต้นและเข้าสู่การรักษา ที่เป็นการเพิ่มการดูแลให้กับพนักงาน ขสมก. ได้