ชีวิตดีสังคมดี

'กรมบังคับคดี' วอน 'ลูกหนี้' 'กยศ.' ติดต่อด่วน

'กรมบังคับคดี' วอน 'ลูกหนี้' 'กยศ.' ติดต่อด่วน

30 ต.ค. 2566

ขอความร่วมมือติดต่อ 'กรมบังคับคดี' เพื่อประโยชน์ของ 'ลูกหนี้' 'กยศ.' กฎหมายใหม่ ดอกลดฮวบ แต่ต้องแสดงตนรักษาสิทธิ์

การแถลงข่าวของกระทรวงยุติธรรมเรื่องการแก้หนี้ กยศ.โดยตัวแทนจาก กรมบังคับคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย และ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างบังคับคดี กว่า 4.6 หมื่นราย ติดต่อกรมบังคับ
คดี เพื่อยินยอมหยุดบังคับคดี ก่อนดำเนินการการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ตามกฎหมายกยศ.ที่ยังอยู่ระหว่างรอการกำหนดหลักเกณฑ์

กฎหมาย กยศ.ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ 20 มีนาคม 2566 แต่ยังไม่มีสภาพบังคับใช้สมบูรณ์แบบ เนื่องจากคณะกรรมการกยศ.ยังพิจารณาระเบียบไม่แล้วเสร็จ ยอดหนี้เก่ากับหนี้ใหม่ แตกต่างกันมาก มีผลทำให้กรมบังคับคดีต้องคำนวณยอดหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ อยู่ระหว่างหลักเกณฑ์จากกยศ. คดีทั้งหมดกว่า 3.7 แสนคดี  อยู่ระหว่างยึดอายัดกว่าสี่หมื่นคดี ต้องงดการบังคับคดีทั้งหมดไว้ก่อน รวมถึงการขายทอดตลาดด้วย  เช่นเดียวกับการอายัดบัญชี บังคับจ่าย

 

กฎหมายฉบับใหม่ลดภาระดอกเบี้ยรวมเบี้ยปรับแล้ว เหลือไม่เกินปีละ 1.5 % อีกทั้งยังตัดยอดเงินต้น ก่อนค่าปรับและดอกเบี้ย ทำให้ลูกหนี้ได้รับประโยชน์  แต่ปัญหาปัจจุบัน คือ ลูกหนี้กว่า 4.6 หมื่นรายที่อยู่ระหว่างบังคับคดี ไม่ยอมติดต่อเข้ามาให้ความยินยอมการหยุดบังคับคดี  ซึ่งทำให้เสียโอกาส

 

หากลูกหนี้ ไม่ยินยอมให้หยุดบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายแพ่ง เงื่อนไขการงดบังคับคดี จะไม่สามารถทำได้เพราะเป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทำให้ผู้ค้ำประกันไม่หลุดภาระค้ำประกัน แต่เมื่อยินยอมแล้ว จะได้สิทธิ์การงดการบังคับคดีตลอดไปจนกว่า กยศ.จะจัดทำเงื่อนไข คำนวณหนี้ใหม่แล้ว

 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้หนี้ กยศ. เป็นหนี้เสียสูงถึง 60 % เพราะเงื่อนไขเดิมระยะเวลากู้ 15 ปี ต้องจ่ายปีแรก1.5 % - 13 %.ในปีสุดท้าย แถมยังมีเบี้ยปรับ 18 % ต่อปี ยกตัวอย่างลูกหนี้รายหนึ่ง กู้ 3.5 แสนบาท ต้องจ่ายหนี้รวมดอกเบี้ยถึงหนึ่งล้านบาท อีกทั้งลำดับการตัดชำระหนี้ ต้องจ่ายเบี้ยปรับก่อน ทำให้เงินต้นไม่ลด ลูกหนี้ออกจากวังวนหนี้ไม่ได้ และยังมีปัญหจบแล้วไม่มีงานที่ทำให้เกิดหนี้เสีย

 

ขณะที่คดีที่ใกล้หมดระยะเวลาบังคับคดีอีกกว่าพันคดี กรมบังคับคดีต้องดำเนินกาตามกฎหมายไปก่อน เช่นเดียวกับกรณีที่ชำระเกินจากการคำนวณหนี้ใหม่ ของกยศ. จะได้รับคืนหรือไม่ ยังไม่มีคำตอบในขณะนี้ เพราะต้องไปหารือกันก่อน เนื่องกฎหมายกำหนดว่า เงินที่ใช้ชำระหนี้ ไม่สามารถเรียกคืนได้