น่าวิตก 'ประชากร' ลดเหลือ 33 ล้านคน ครึ่งหนึ่งเป็น 'ผู้สูงอายุ'
ผู้เชียวชาญประเมิน 60 ปี ข้างหน้า ไทยเหลือ 'ประชากร' 33 ล้านคน ครึ่งหนึ่งเป็น 'ผู้สูงอายุ' สาธารณสุขดันเด็กเกิดใหม่เป็นวาระแห่งชาติ
สาเหตุสำคัญของการไม่มีลูก มาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่เอื้อต่อการมีลูก มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่มาจากปัญหาด้านสุขภาพ หากยังไม่มีมาตรการจูงใจให้ประชาชนตัดสินใจมีบุตร บนพื้นฐานของสิทธิส่วนบุคคล ก็จะไม่สามารถเพิ่มจำนวนการเกิดได้
ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์บอกว่าในอีก 60 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะลดลงเหลือ 33 ล้านคน ครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอาุย
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การลดลงของเด็กเกิดใหม่ในไทยอยู่ในขั้นวิกฤต จากเดิมมีเด็กเกิดไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน ในช่วงปี พ.ศ. 2506 - 2526 ลดลงเหลือ 485,085 คน ในปี พ.ศ. 2564 ในขณะที่มีจำนวนการตาย 550,042 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนการเกิดถึง 64,957 คน
การลดลงนี้สอดคล้องกับอัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate : TFR) ที่ลดต่ำกว่าระดับทดแทน (2.1) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 และปี พ.ศ.2565 อยู่ที่ 1.16 โดยเกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย มีอัตราเจริญพันธุ์รวมต่ำกว่าระดับทดแทน มีเพียงจังหวัดยะลาเท่านั้นที่มีค่า TFR เท่ากับ 2.27 ซึ่งสูงกว่าระดับทดแทน
โดยในปี 2566 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรเข้าสู่วัยแรงงาน (อายุ 20 - 24 ปี) ไม่สามารถชดเชยจำนวนประชากร ที่ออกจากวัยแรงงาน (60 - 64 ปี) ได้ และช่องว่างระหว่างจำนวนประชากรเข้าและออกจากวัยแรงงานจะกว้างมากขึ้น เสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงาน ภาวะพึ่งพิงต่อวัยทำงานสูงขึ้น มีงบประมาณในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น
ดร. เกื้อ วงศ์บุญสิน ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ กล่าวว่า ใน 60 ปีข้างหน้าจำนวนประชากรไทยจะลดลงจาก 66 ล้านคน เหลือเพียง 33 ล้านคน ในปี 2626 จำนวนประชากรวัยแรงงาน (ช่วงอายุ 15 ถึง 64 ปี) จะลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคน
จำนวนประชากรวัยเด็ก (ช่วงอายุ 0 ถึง 14) จะลดลงจาก 10 ล้านคน เหลือเพียง 1 ล้านคน สูงวัย (65+) เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน ไปเป็น 18 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ หากประชากรลดลงมากขนาดนี้ คนในวัยทำงานลดลงมากขนาดนี้ ภาครัฐก็จะไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ