ชีวิตดีสังคมดี

เครือข่ายลดบริโภคเค็มจัด 'งานนิทรรศการครบรอบ 10 ปีเครือข่ายลดบริโภคเค็ม

เครือข่ายลดบริโภคเค็มจัด 'งานนิทรรศการครบรอบ 10 ปีเครือข่ายลดบริโภคเค็ม

24 พ.ย. 2566

เครือข่ายลดบริโภคเค็ม เตรียมจัดงาน“งานนิทรรศการครบรอบ 10 ปีเครือข่ายลดบริโภคเค็ม” ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องภายใต้คำขวัญ "เค็มน้อย อร่อยได้"

เครือข่ายลดบริโภคเค็ม โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เตรียมจัดงาน "งานนิทรรศการครบรอบ 10 ปีเครือข่ายลดบริโภคเค็ม" ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องภายใต้คำขวัญ "เค็มน้อย อร่อยได้" จะจัดในวันที่ 4-6 ธ.ค. 2566  เวลา 10.30-16.30 น. ณ  Zone Eden ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
 

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็มเปิดเผยว่า "การจัดงานนิทรรศการครบรอบ 10 ปีเครือข่ายลดบริโภคเค็ม" ที่จะมีขึ้นในวันที่ 4-6 ธ.ค. 2566 นั้นถือเป็นการแสดงผลงานการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 1 ทศวรรษและความร่วมมือในการดำเนินงานลดการบริโภคเกลือและโซเดียมที่ผ่านมาเพื่อกระตุ้นเตือนและรณรงค์เรื่องการลดบริโภคเค็มให้ประชาชนเกิดความตระหนักและเข้าถึงประโยชน์ของการลดบริโภคเค็ม (โซเดียม) ส่งเสริมให้มีความรู้ความเข้าใจถึงผลกระทบจากการได้รับเกลือและโซเดียมปริมาณสูง รวมทั้งสามารถมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของเครือข่ายให้มาก ยิ่งขึ้นและร่วมกันสนับสนุนการลดความเค็มในอาหารทั้งจากฝ่ายภาครัฐและเอกชนเพื่อเพิ่มการรับรู้การตื่นตัวของผู้ประกอบอาหาร ประชาสัมพันธ์ และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ลดโซเดียม
 

 

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ

 

โดยการขับเคลื่อนเพื่อรณรงค์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย นั้นเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ก่อนการมียุทธศาสตร์ชาติ โดยได้จัดตั้ง "เครือข่ายลดบริโภคเค็ม" ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีบทบาทในการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานในสังกัด  องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และภาคีเครือข่ายที่สำคัญ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมวิชาชีพต่างๆ ภายใต้ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โดยมีที่ตั้งสำนักงานที่สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานจากภาคส่วนต่างๆ การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม การวิจัย และการรณรงค์สื่อสารเตือนภัยผ่านช่องทางต่างๆ รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายร่วมดำเนินงาน


รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย นั้น สืบเนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงของโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เพิ่มขึ้นจากการได้รับเกลือและโซเดียมในปริมาณสูง สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 พ.ศ. 2557 ได้มีมติให้นำเป้าหมายการควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับนานาชาติ  9 เป้าหมาย ที่จะลดการตายก่อนวัยอันควร ปัจจัยเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยง และโรคไม่ติดต่อลง ภายใน พ.ศ. 2568 ให้เป็นเป้าหมายในการดำเนินงานของประเทศ และในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8 พ.ศ. 2558 โดยการเสนอร่างของทางเครือข่ายลดเค็ม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลและกระทรวงสาธารณสุข สมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีมติรับรองนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เป็นเป้าหมายสำคัญอีกครั้ง ซึ่งนำไปสู่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมกันภายใต้ความร่วมมือจากภาคีต่างๆ  และแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้เริ่มประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2559 มีเป้าหมายการลดเกลือในระดับประเทศ ร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2568 เป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับ WHO

 

เครือข่ายลดบริโภคเค็มจัด งานนิทรรศการครบรอบ 10 ปีเครือข่ายลดบริโภคเค็ม

 


ด้านนางสาวนิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหาการบริโภคเกลือและโซเดียมนับเป็นประเด็นสำคัญในระดับนานาชาติ องค์การอนามัยโลกจึงได้กำหนดให้การลดเกลือโซเดียม เป็น 1 ใน 9 เป้าหมายระดับโลกในการควบคุมปัญหาโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ภายใน พ.ศ.2568 โดยกำหนดให้ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมลงร้อยละ 30 ภายใน พ.ศ. 2568

 

ซึ่งประเทศไทยโดยการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ใน พ.ศ.2557 ได้ทำการรับรองทั้ง 9 เป้าหมายดังกล่าวให้เป็นเป้าหมายในการดำเนินงานของประเทศไทยซึ่งถือเป็นความท้าทายของสังคมไทยในการจัดการปัญหา NCDs อย่างยิ่ง จากข้อมูลปี 2562 พบว่าคนไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ยอยู่ที่ 3,636 มิลลิกรัม/วัน สูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่แนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน และยังไม่บรรลุค่าเป้าหมายระดับโลกดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการลดภาระโรค จากอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรค NCDs สสส. เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จึงได้สานเสริมพลังความร่วมมือขับเคลื่อนรณรงค์เพื่อการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในในประชากรไทยอย่างจริงจังมาอย่างต่อเนื่อง 

 

นิรมล ราศรี

 


นางสาวนิรมล  กล่าวว่า ประเทศไทยโดยการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ.2558 รับรองมติเรื่องนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ทำให้เกิดการจัดทำ "ยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย ปี พ.ศ.2559-2568" โดยเสนอกลไกการดำเนินงานระดับชาติในการประสานงานและบูรณาการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ สนับสนุนการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานตามนโยบายลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย เพื่อลดภาระโรคจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs) และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และประเทศชาติ 


นอกจากนี้ สสส. เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม ร่วมมือกับ WHO Country Cooperation Strategy (CCS) กระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ยกระดับกลไกผลักดันการป้องกันโรค NCDs ผ่านการขับเคลื่อนเชิงนโยบายสาธารณะที่สำคัญ ได้แก่ การขอความร่วมมือภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจอาหาร ในการลดปริมาณเกลือในอาหาร หรือกำหนดมาตรฐานและออกกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับปริมาณเกลือและโซเดียมในอาหาร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐส่งเสริมผลิตภัณฑ์ลดเกลือ ผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ ผลักดันมาตรการภาษีโซเดียม และนโยบายโรงเรียน/โรงพยาบาลอาหารเพื่อสุขภาวะ ลดหวานมันเค็ม การรณรงค์ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อลดการบริโภคโซเดียมของสังคมไทย ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาของเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม โดยสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เกิดผลสำเร็จที่สำคัญ ได้แก่

 

  • ด้านการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม ได้แก่ การผลิตเครื่องตรวจสอบความเค็มในอาหาร (หรือ CHEM Meter) การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เกลือลดโซเดียมเพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการศึกษาปริมาณโซเดียมและโซเดียมคลอไรด์ในอาหารบาทวิถี (Street foods) ที่จำหน่ายในเขตกรุงเทพมหานคร 

 

  • การรณรงค์สื่อสารสาธารณะ "ลดเค็ม ลดโรค" นับเป็นแคมเปญที่ประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับจากประชาชนสูงที่สุดแคมเปญหนึ่งของ สสส. รวมทั้งการสื่อสารสร้างกระแสเพื่อทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักต่อโทษของการบริโภคเค็มเกินความจำเป็นของร่างกาย โดยการรณรงค์มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักการบริโภคเค็มในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดการรับรู้และยอมรับคำว่า "ลดเค็มครึ่งหนึ่ง" ในกลุ่มผู้บริโภคคนไทย 

 

เครือข่ายลดบริโภคเค็มจัด งานนิทรรศการครบรอบ 10 ปีเครือข่ายลดบริโภคเค็ม

 

  • การผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพื่อให้เกิดมาตรการหรือกลไกที่ช่วยลดการบริโภคเค็ม โดยร่วมกับคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ และคณะกรรมการอาหารและยา ในการออกฉลาก “สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ”เพื่อผลักดันให้ผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปค่อย ๆ ปรับลดปริมาณโซเดียมที่ใส่ลงไปในอาหาร ส่งผลให้ผู้ผลิตภัณฑ์อาหารทั่วไปและอาหารกึ่งสำเร็จรูปประเภทข้าวต้ม โจ๊ก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย ที่จำหน่ายในไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2561-2565 ปรับสูตรอาหารลดปริมาณโซเดียมลงร้อยละ 11.6 และมีสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.5 เป็นร้อยละ 21.1 ใน พ.ศ. 2565 รวมทั้งขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมอาหาร โดยการปรับลดโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปแบบภาคสมัครใจ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีจากการบริโภคเกลือและโซเดียมลดลงร้อยละ 30 ภายในปี 2568

 

  • การสนับสนุนให้ยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ โครงการชุมชนลดเค็ม , โครงการโรงพยาบาลเค็มน้อยอร่อย 3 ดี , การขยายผลนำใช้ CHEM Meter เพื่อใช้ในการรณรงค์และป้องกันโรค NCDs ในระดับชุมชนและ NCDs Clinic 

 

เครือข่ายลดบริโภคเค็มจัด งานนิทรรศการครบรอบ 10 ปีเครือข่ายลดบริโภคเค็ม

 


จากมาตรการ/นโยบายต่างๆ ที่ สสส. ร่วมกับ เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม รณรงค์ขับเคลื่อนมาตลอดระยะเวลา 10 ปี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการบริโภคโซเดียมของคนไทยเป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้น จากปี 2552 ซึ่งคนไทยบริโภคโซเดียมมากถึง 4,351.69 มิลลิกรัมต่อวัน ลดลงอยู่ที่ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน ในปี 2562 

 

เครือข่ายลดบริโภคเค็มจัด งานนิทรรศการครบรอบ 10 ปีเครือข่ายลดบริโภคเค็ม

 


ด้าน น.อ.หญิง พญ.วรวรรณ ชัยลิมปมนตรี เลขาธิการเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวถึง "การจัดงานนิทรรศการครบรอบ 10 ปีเครือข่ายลดบริโภคเค็ม" ว่าในส่วนของการจัดงานนิทรรศการครบรอบ 10 ปี เครือข่ายลดบริโภคเค็ม ภายใต้คำขวัญ "เค็มน้อย อร่อยได้" จะจัดในวันที่ 4-6 ธันวาคม 2566  เวลา 10.30-16.30 น. ณ  Zone Eden ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

 

โดยไฮไลน์ในงานนี้ ได้รับเกียรติอย่างยิ่งจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว, รศ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส., Dr. Jos Vandelaer ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยและผู้มีเกียรติ ผู้ทรงคุณวุฒิ อีกหลายท่าน มาร่วมเปิดงานในครั้งนี้

 

โดยกิจกรรมหลักๆ จะมีการจัดนิทรรศการ การจัดกิจกรรมบนเวทีประกวดเมนู "ส้มตำเค็มน้อย อร่อยได้" โดยดาราและ Influencer ที่มีชื่อเสียง, การเสวนาในหัวข้อที่มีสาระสำคัญ ในแต่ละช่วงแต่ละวัน อาทิ เช่น เรื่อง "โซเดียมเกินไป โรคภัยใกล้ตัว",  โซเดียมเพชฌฆาตร้าย ทำลายสุขภาพ, Healthy Family โดย คุณพีท ทองเจือและลูกสาว, หรือกิจกรรม Exercise Workshop : ออกกำลังถูกวิธี กินดีปลอดโรค โดย คุณแอน ทองประสมและโค้ช เชอรี่, ชมการสาธิตการปรุงอาหารเมนู เค็มน้อย อร่อยได้ และการแสดงดนตรีสด ในแต่ละช่วง อื่น ๆ อีกมากมาย 

 

 

น.อ.หญิง พญ.วรวรรณ ชัยลิมปมนตรี

 


การจัดงานในครั้งนี้ ขอเชิญประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในงานมีการเปิดบูธอาหารลดเค็มและอาหารเพื่อสุขภาพหลากหลายเมนู และเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงาน ได้ชิมและชม พร้อมรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพในหลากหลายเมนูพร้อมกับนักโภชนาการและพันธมิตรผู้ประกอบการร้านอาหารชื่อดังมาร่วมงานกันมากมาย