กางคู่มือนโยบายสร้าง 'ครอบครัว' คุณภาพแก้ปัญหาเกิดต่ำ หญิงไทยท้องไม่พร้อม
กางคู่มือนโยบายสร้าง 'ครอบครัว' ที่มีคุณภาพ แก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำ และป้องกันผู้หญิงไทยท้องไม่พร้อม แนะสภาพแวดล้อมต้องเอื้อ นโยบายทางการเงินต้องดี
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับบริษัท ออร์กานอน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทยาและเวชภัณฑ์เพื่อสุขภาพของผู้หญิง, Jhpiego องค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านสุขภาพระดับโลกภายใต้มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์, ซีแอนด์เอ็ม อินเตอร์เนชันแนล (C&M International) และคณะทำงานด้านสุขภาพ (Health Working Group) ภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ได้เผยแพร่คู่มือทางเลือกด้านนโยบาย “APEC Smart Families Menu of Policy Options for Demographic Resilience” เพื่อชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มด้านประชากรที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอัตราการเกิดต่ำและการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเป็นความกังวลที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โครงการครอบครัวคุณภาพของเอเปค (APEC Smart Families) เปิดตัวครั้งแรกในการประชุม 2022 APEC Health Week Policy Dialogue สำหรับคู่มือทางเลือกด้านนโยบาย (Menu of Policy Options) ซึ่งเป็นคำแนะนำที่จะช่วยให้ประเทศต่างๆ สามารถสร้างสภาพแวดล้อมแบบองค์รวมที่เอื้อต่อการตัดสินใจด้านอนามัยเจริญพันธุ์และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ดร.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศสมาชิกเอเปค 17 ประเทศจาก 21 ประเทศกำลังประสบปัญหาอัตราการเกิดลดลง ซึ่งหลายประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอัตราเจริญพันธุ์ทดแทน ส่วนประเทศอื่นๆ ประสบกับปัญหาอัตราการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในระดับสูงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหลายประเทศก็ประสบกับทั้งสองปัญหา ประเทศไทยเองก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มเอเปคที่ต้องเผชิญกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมจากปัญหาประชากรสูงอายุ อัตราเจริญพันธุ์ของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับทดแทนมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538 ในขณะที่ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นหญิง ยังคงเป็นเรื่องที่ผู้กำหนดนโยบายให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีพันธกิจในการหาแนวทางที่ดีที่สุดในการสนับสนุนผู้หญิงในด้านอนามัยเจริญพันธุ์ และกรมอนามัยในฐานะผู้ดูแลโครงการด้านนโยบายครอบครัวคุณภาพ
ด้านมร.คุง คาเรล เคราท์บ๊อช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออร์กานอน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ออร์กานอนในฐานะพันธมิตรภาคเอกชนชั้นนำที่เข้าร่วมโครงการนโยบายครอบครัวคุณภาพตั้งแต่การเปิดตัวในปี 2565 ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่คู่มือทางเลือกด้านนโยบาย APEC Smart Families: Menu of Policy Options for Demographic Resilience ได้รับการสนับสนุนและได้รับการเผยแพร่คู่มือทางเลือกด้านนโยบาย (Menu of Policy Options)เราหวังว่าคู่มือนี้จะเป็นประโยชน์ในการช่วยค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม สำหรับผู้กำหนดนโยบายของทุกประเทศในเอเปค
คู่มือทางเลือกด้านนโยบายฉบับนี้ นำเสนอทางเลือกด้านนโยบายที่ครอบคลุมทั้งการวางแผนครอบครัวและการวางแผนด้านการเจริญพันธุ์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1.นโยบายด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และความรู้ด้านสุขภาพ จะเน้นไปที่นโยบายในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้มีทางเลือกและการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์ โดยมุ่งเน้นการแก้ไขอุปสรรคที่จำกัดการเข้าถึงการบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และข้อมูลต่างๆ
2.นโยบายด้านแรงงานและเศรษฐกิจจะเน้นไปที่นโยบายในการแก้ไขอุปสรรคและการส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างนโยบายที่สนับสนุนด้านแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงาน ผ่านการวางแผนครอบครัวและ/หรือการวางแผนด้านการเจริญพันธุ์
3.นโยบายด้านกลไกการจัดการทุนและการเงิน ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การจัดการอุปสรรคและการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการจัดการเงินทุนและการเงินสำหรับการบริการด้านการวางแผนครอบครัว การวางแผนด้านการเจริญพันธุ์ และบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์อื่นๆ