ชีวิตดีสังคมดี

ระบาดหนัก WHO ออกโรงเตือน 'บุหรี่ไฟฟ้า' เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชน

ระบาดหนัก WHO ออกโรงเตือน 'บุหรี่ไฟฟ้า' เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชน

18 ธ.ค. 2566

ระบาดหนัก WHO ออกโรงเตือน 'บุหรี่ไฟฟ้า' เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ แถลงมาตรการให้ทุกประเทศบังคับใช้กฎหมาย ห้ามแต่งรถชาติใหม่ๆ คุมความเข้มของนิโคติน

นพ.จอส ฟอนเดลาร์ (Dr.Jos Vandelar) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาการแถลงการณ์องค์การอนามัยโลก(WHO) เรื่อง "บุหรี่ไฟฟ้า" ภัยคุกคามต่อเด็กและเยาวชน ข้อเสนอมาตรการในการควบคุม "บุหรี่ไฟฟ้า" ว่า เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก ได้ออกแถลงการณ์ระบุถึงความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อปกป้องสุขภาพของเด็กและผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และลดอันตรายของ "บุหรี่ไฟฟ้า" ที่มีต่อสุขภาพของประชาชน ได้แก่ 1.ประเทศที่มีการห้ามการขายบุหรี่ไฟฟ้า ให้ดำเนินมาตรการห้ามการขายบุหรี่ไฟฟ้าและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด  โดยให้ติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างทันท่วงที 2.ประเทศที่อนุญาตให้มีการค้าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้า (การขาย การนำเข้า การจัดจำหน่าย และการผลิต) ควรกำหนดกฎระเบียบที่เข้มงวดเพื่อลดความน่าดึงดูดและอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อประชากร รวมถึงการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าแต่งรสชาติทั้งหมด จำกัดความเข้มข้นและคุณภาพของนิโคติน และบังคับใช้มาตรการภาษีอย่างเข้มงวด  

“องค์การอนามัยโลกสนับสนุนรัฐบาลไทยให้มีกฎหมายเรื่องการห้ามขาย "บุหรี่ไฟฟ้า" ต่อไป ขอให้รัฐบาลไทยบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อปกป้องคนรุ่นใหม่จากผลิตภัณฑ์ที่อันตรายเหล่านี้ เพราะบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสิ่งเสพติด อันตราย ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้สูบและผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กและเยาวชน” นพ.จอส กล่าว

 

 

นพ.จอส กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังออกคำเตือน ไม่แนะนำให้รัฐบาลทุกประเทศอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ ส่วนประเทศที่ดำเนินยุทธศาสตร์การเลิกบุหรี่โดยใช้บุหรี่ไฟฟ้าควรควบคุมเงื่อนไขในการเข้าถึง เพื่อให้มั่นใจว่ามีข้อบ่งชี้ทางคลินิกที่เหมาะสม และต้องควบคุมเป็นผลิตภัณฑ์โดยได้รับอนุญาตทางการค้าระบุเป็นยาเท่านั้น   

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์ "บุหรี่ไฟฟ้า" ในไทยน่าเป็นห่วงอย่างมาก เด็กและเยาวชนไทยสูบ "บุหรี่ไฟฟ้า" เพิ่มขึ้น จากผลการสำรวจพฤติกรรมสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย 61,688 คน เมื่อวันที่ 25 เม.ย.-6 มิ.ย. 2566 ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พบเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้า 9.1% ส่วนใหญ่ถูกเพื่อนชักชวนให้สูบ 92.2% สอดคล้องกับผลสำรวจเด็กและเยาวชนในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 39 แห่งทั่วประเทศ เมื่อเดือน พ.ค. 2566 พบ 95.4 % เคยสูบบุหรี่มวน และ 79.3% เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยเริ่มใช้บุหรี่มวนเป็นสารเสพติดชนิดแรก 80.7% ในจำนวนนี้พัฒนาไปสู่การใช้ยาเสพติดชนิดอื่น76% ทั้งนี้ เด็กนักเรียนส่วนใหญ่มีความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่า "บุหรี่ไฟฟ้า" ไม่อันตราย ไม่เสพติด ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะมีหลักฐานยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินเป็นสารเสพติดรุนแรง มีสารก่อมะเร็ง ส่งผลเสียต่ออวัยวะต่างๆ  ทั้งปอด หัวใจและหลอดเลือด ทำลายพัฒนาการของสมองเด็กและทารกในครรภ์ รวมถึงเป็นอันตรายต่อคนรอบข้างที่ไม่สูบด้วย

 

 

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น สสส. ได้เร่งดำเนินงานควบคุมยาสูบเพื่อสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ ผ่านยุทธศาสตร์ 4 ด้าน 1.พัฒนาระบบ/กลไกการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง เพื่อการป้องกันนักสูบหน้าใหม่และลดผู้สูบรายเดิม สนับสนุนการให้บริการเลิกบุหรี่ การรักษาการติดนิโคตินในหน่วยบริการสุขภาพ 2.พัฒนานโยบาย กฎหมายการควบคุมการบริโภคยาสูบ เช่น มาตรการควบคุมยาสูบในชุมชน การปกป้องการได้รับควันบุหรี่มือสองและมือสาม และการรณรงค์บ้าน ครอบครัวปลอดบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า 3.พัฒนาศักยภาพเครือข่ายดำเนินงานควบคุมยาสูบทั้งส่วนกลาง และภูมิภาค มุ่งเน้นการรู้เท่าทันธุรกิจยาสูบ การตลาดยาสูบรูปแบบใหม่ และพัฒนาให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ปลอดปัจจัยเสี่ยง 4.ส่งเสริมทักษะและความรอบรู้ทางสุขภาพด้านการควบคุมยาสูบที่เหมาะสมเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะทักษะการปฏิเสธบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน มาตรการทั้งหมดนี้ เพื่อสร้างสังคมปลอดบุหรี่ ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับอากาศสะอาดไร้ควันบุหรี่อย่างแท้จริง 

 

 

รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สาระสำคัญของแถลงการณ์องค์การอนามัยโลกระบุว่า ตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าเติบโตขึ้นมากตั้งแต่ ปี 2561 บุหรี่ไฟฟ้ามีมากถึง 550,000 รูปแบบ มีรสชาติที่ดึงดูดเด็กมากกว่า 16,000 รสชาติ โดยพอตแบบใช้แล้วทิ้งเป็นที่นิยมในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นเติบโตขึ้นถึง 116% บุหรี่ไฟฟ้ารูปแบบใหม่ออกแบบให้มีปริมาณนิโคตินสูง ราคาถูก เข้าถึงง่าย โดยเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 56-64% บอกว่า ตนเองติดบุหรี่ไฟฟ้าทั้งที่ "บุหรี่ไฟฟ้า" ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในการเลิกบุหรี่ และอาจนำไปสู่การติดนิโคตินอย่างต่อเนื่อง โดยบุหรี่ไฟฟ้ามักจะทำการตลาดผ่าน social media และ influencer ทำให้แพร่หลายในกลุ่มวัยรุ่น องค์การอนามัยโลกจึงได้ส่งสัญญาณให้ทุกประเทศเฝ้าระวังสถานการณ์การบริโภคบุหรี่ไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ มีมาตรการห้ามการโฆษณา ส่งเสริมการขายทุกรูปแบบ ทุกช่องทาง รวมทั้งออนไลน์