กางแผน 'บีอาร์ที' เส้นทาง brt สายสาทร-ราชพฤกษ์ เริ่มวิ่ง ก.ค. 67
กางแผน รถเมล์ 'บีอาร์ที' เส้นทาง brt สายสาทร-ราชพฤกษ์ หลัง 'บีทีเอส' ชนะประมูลเดินรถ เริ่มวิ่ง ก.ค. 2567 สัญญา 5 ปี
รถเมล์ “บีอาร์ที” (BRT) รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ เป็นอีกหนึ่งการคมนาคม ที่ตอบโจทย์คนกรุง ด้วยบริการที่รวดเร็ว ประหยัดเวลา สะดวกสบาย และปลอดภัยสูง ใกล้เคียงรถไฟฟ้า แต่แตกต่างกันเพียงแค่ รถ BRT จะวิ่งบนทางเฉพาะ แยกจากรถอื่นๆ และล่าสุด บีทีเอส ก็ชนะประมูลเดินรถ บีอาร์ที สาทร-ราชพฤกษ์...แต่ก่อนเริ่มวิ่งในเดือน ก.ค. 2567 คมชัดลึก พาไปทำความรู้จัก “รถบีอาร์ทีคืออะไร” และ “เส้นทาง brt สายสาทร-ราชพฤกษ์” มีจุดไหนบ้าง
รถบีอาร์ทีคืออะไร
รถ “บีอาร์ที” คือรถโดยสารด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit) หรือ BRT เป็นระบบขนส่งมวลชนทางถนนรูปแบบหนึ่ง ที่กรุงเทพมหานครมุ่งมั่นเร่งรัดพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยมูลค่าการลงทุนที่ต่ำกว่า และก่ออสร้างได้รวดเร็วกว่ารถไฟฟ้า แต่มีความสะดวกสบาย แม้ใช้พื้นผิวถนนด้วยทางวิ่งเฉพาะ และเดินทางได้รวดเร็วด้วยระบบขนส่งอัจฉริยะ เพื่อให้เป็นระบบรองที่สามารถเชื่อต่อเข้าสู่ระบบหลัก ทำใหการเดินทางของ คนกรุง ครอบคลุมและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้รายงานความคืบหน้าการประกวดราคาจ้างโครงการพัฒนาระบบการเดินรถด่วนพิเศษ (BRT) สายสาทร -ราชพฤกษ์ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) งบประมาณ 478,932,000 บาท สัญญาจ้าง 5 ปี มีเอกชนซื้อซองข้อเสนอจำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอสซี) และ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด กำหนดยื่นข้อเสนอวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ปรากฎว่า บีทีเอสซี เสนอราคาต่ำสุด วงเงิน 465 ล้านบาท บริษัท ไทย สมายล์ วงเงิน 488 ล้านบาท
ส่วนขั้นตอนต่อไปคณะกรรมการฯ จะดำเนินการตรวจสอบเอกสารถูกต้องตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดหรือไม่ คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน หากไม่มีปัญหาจึงจะลงนามสัญญาจ้างทันที เพราะต้องให้เวลาเอกชนจัดหารถใหม่ เป็นรถโดยสารปรับอากาศขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) ไม่น้อยกว่า 23 คัน ภายในเวลา 6 เดือน เพื่อให้ทันเปิดให้บริการเดือน ก.ค. 2567 ซึ่งปัจจุบันรรถเมล์ บีอาร์ที สายสาทร-ราชพฤกษ์ มีรถโดยสารให้บริการ จำนวน 25 คัน ให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น.
ไทม์ไลน์ รถ บีอาร์ที สาทร-ราชพฤกษ์
- กทม.ว่าจ้าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ปีละ 200 ล้านบาท
- เริ่มเดินรถตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. 2550
- ต่อมาเมื่อสิ้นสุดสัญญา ได้มอบหมายให้ บริษัท เคที เป็นผู้ดำเนินการโครงการฯ เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. 2560-31 ส.ค. 2566 รวม 6 ปี 95 วัน
- บริษัท เคที ได้ให้สิทธิ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอสซี) เป็นผู้เดินรถ ระยะเวลาสัญญา 6 ปี เริ่มวันที่ 1 ก.ย. 2560-31 ส.ค. 2566
- สัญญาจ้างเดินรถจะหมดวันที่ 31 ส.ค.2566
- 2 ก.พ. 2567 บีทีเอส ชนะประมูล วงเงิน 465 ล้านบาท สัญญาจ้าง 5 ปี คาด เริ่มเดินรถ ก.ค. 2567
เส้นทาง brt สายสาทร-ราชพฤกษ์
เส้นทาง BRT มีระยะทาง 15.9 กิโลเมตร จำนวน 12 สถานี
- สาทร
- อาคารสงเคราะห์
- เทคนิคกรุงเทพ
- ถนนจันทน์
- พระราม 3
- วัดด่าน
- วัดปริวาส
- วัดดอกไม้
- สะพานพระราม 9
- เจริญราษฎร์
- สะพานพระราม 3
- ราชพฤกษ์
สำหรับเส้นทางเดินรถบีอาร์ที ล่าสุด จะมีการยืดหยุ่นมากขึ้น จะวิ่งในเส้นทางบีอาร์ทีปัจจุบัน และออกไปรับส่งผู้โดยสารที่ป้ายหยุดรถประจำทางได้ด้วย ซึ่งตัวรถบีอาร์ที รุ่นใหม่จะมีประตูขึ้นลงได้ทั้งสองฝั่ง สามารถรับส่งผู้โดยสารที่สถานีบีอาร์ที โดยใช้ประตูฝั่งขวาด้านคนขับ หากเข้าจอดที่ป้ายหยุดรถประจำทางสามารถใช้ประตูด้านซ้ายขึ้นลงได้อีกด้วย
นอกจากนี้จะมีการยืดเส้นทางถึงต้นถนนสาทร ตัดถนนพระราม 4 เพื่อรับส่งผู้โดยสารจากอาคาร สำนักงาน ขนาดใหญ่ตั้งอยู่หลายแห่ง อย่างไรก็ตามจะไม่เน้นวิ่งระยะทางยาว แต่จะควบคุมความถี่ไม่ให้รถขาดระยะส่งผลกระทบต่อการให้บริการ
ทำไม BRT ไม่เก็บเงิน
สืบเนื่องจากค่าดำเนินการในการจัดเก็บค่าโดยสารค่อนข้างสูง อาจจะต้องเก็บค่าโดยสารที่สูง จึงให้ขึ้นฟรี ส่วนหนึ่งเป็นการช่วยบรรเทาเรื่องปัญหาจราจร และเป็นการช่วยเหลือประชาชนด้วย
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย, บีทีเอส