'สวทช.' จัดประชุมวิชาการประจำปี ‘NAC2024’
สวทช. หรือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดประชุมวิชาการประจำปี ‘NAC2024’ ชูงานวิจัย BCG Implementation พลิกโฉมประเทศ
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ 'สวทช.' , ดร.สุธี ผู้เจริญชนะชัย รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ดร. สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) พร้อมด้วยทีมนักวิจัย สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ร่วมงานแถลงข่าวการจัดการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 19 (19th NSTDA Annual Conference: NAC2024) ภายใต้แนวคิด สานพลัง สร้างงานวิจัย พลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วย BCG Implementation ระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม 2567 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
โดย ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สวทช. เป็นขุมพลังหลักของประเทศ ในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนา ระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรม ให้เข้มแข็ง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยความเชี่ยวชาญและความสามารถของ สวทช. ที่จะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ผ่านแผนงาน BCG Implementation
" งานประชุมวิชาการประจำปี 'สวทช.' (NSTDA Annual Conference: NAC) ในปีนี้ จึงได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด สานพลัง สร้างงานวิจัย พลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วย BCG Implementation
สำหรับวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) และผลงานวิจัยพัฒนาที่ 'สวทช.' ดำเนินการวิจัยเองและที่ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร โดยได้เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนงาน BCG Implementation เพื่อตอบเป้าหมายหลักของแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ได้กำหนดไว้ใน 4 มิติ” ได้แก่ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม-เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ-เพิ่มการพึ่งพาตนเอง-สร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทยสู่ความยั่งยืน โดย สวทช. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดการประชุมและทอดพระเนตรนิทรรศการวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 น. โดยสามารถติดตามรับชมการถ่ายสดผ่านสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย NBT 2HD ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
ดร.สุธี ผู้เจริญชนะชัย รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า งาน NAC2024 ในปีนี้ จะมุ่งเน้นการนำเสนอศักยภาพด้าน วทน. ของ 'สวทช.' ผ่านผลงานวิจัยทั้งในรูปแบบการจัดประชุมสัมมนา และการจัดนิทรรศการโดยไฮไลต์ของนิทรรศการปีนี้ นอกจากนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย” ยังมีนิทรรศการความก้าวหน้าของงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากนักวิจัย สวทช. ทั้ง 5 ศูนย์วิจัยแห่งชาติ ที่ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ตลอดจนชุมชนและภาคประชาสังคมทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 57 ผลงาน ซึ่งมีทั้งผลงานวิจัยที่นำไปใช้จนเกิดประโยชน์ในวงกว้างเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม และผลงานวิจัยที่พร้อมส่งมอบให้กับภาคสังคมได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้
“ตัวอย่างผลงานวิจัยเด่น เช่น การพัฒนาวัคซีนสำหรับสัตว์เศรษฐกิจ โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เป็นต้นแบบวัคซีนป้องกันโรคระบาดในสุกรจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ท้องถิ่นของประเทศไทย มีความปลอดภัยสูงในสุกร สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้ดีกว่าวัคซีนรูปแบบอื่น ผ่านการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพเบื้องต้นร่วมกับกรมปศุสัตว์ในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ซึ่งมีศักยภาพการขยายขนาดเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้
ชุดตรวจคัดกรองติดตามโรคไตเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวานเชิงคุณภาพ (AL-Strip และ GO-SENSOR) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ซึ่งเป็นชุดตรวจแบบรวดเร็วทั้งแบบตรวจด้วยตนเองและตรวจในระดับห้องปฎิบัติการจำนวนมาก ใช้งานง่าย มีความแม่นยำ และมีราคาถูก ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการตรวจคัดกรองภาวะไตเสื่อมในระยะต้น รวมทั้งสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมสุขภาพเชิงป้องกันโรคไตเรื้อรังในคนไทย
นอกจากนี้ยังมี Thai School Lunch for BMA โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นระบบจัดสำรับอาหารเช้า-กลางวัน ในโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อติดตาม ประเมินคุณภาพ และการจัดการอาหารของโรงเรียนได้แบบ real-time ตอบโจทย์เรื่องของโภชนาการและ ค่าใช้จ่าย Lookie Waste: แอปพลิเคชันตรวจสอบปริมาณขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหาร โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ใช้ตรวจสอบปริมาณขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหารที่เกิดบริโภคในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลเพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภค และ EnPAT น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยาก โดยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) ร่วมกับพันธมิตรพัฒนาขึ้น มีคุณสมบัติเด่นที่มีจุดติดไฟสูงกว่า 300 องศาเซลเซียส สามารถป้องกันอัคคีภัยเมื่อเกิดเหตุการณ์หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด ช่วยสร้างความปลอดภัยสูงสุดให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอตัวอย่างความสำเร็จของบริษัทเอกชนภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (อวท.) เช่น บริษัท นาโน โค๊ตติ้ง เทค จำกัด ดีพเทคสตาร์ตอัปของไทยที่ได้รับสิทธิประโยชน์และสร้างโอกาสทางธุรกิจจากการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสมาชิกของ อวท. ทั้งการวางแผน บ่มเพาะและอบรมเพิ่มทักษะทางธุรกิจ และได้รับโอกาสจากการเชื่อมโยงแหล่งทุนทั้งในและต่างประเทศ จนล่าสุดได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในสตาร์ตอัปที่ Hong Kong Science Park มอบทุนไปขยายตลาดต่างประเทศ
สำหรับภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการที่มองหาโอกาสในการต่อยอดธุรกิจใหม่ ๆ ภายในงาน NAC2024 ได้เปิดบริการให้ผู้เข้าร่วมงานเข้ามาปรึกษาและขอคำแนะนำจากศูนย์ Connex ซึ่งเป็นศูนย์เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช. สู่ภาคธุรกิจในรูปแบบครบวงจรที่จะช่วย Connect ผู้ประกอบการธุรกิจได้เข้าถึงแหล่งความรู้ งานวิจัย รวมถึงแหล่งทุน และเป็นตัวกลางในการให้คำปรึกษาที่ตรงโจทย์โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และการต่อยอดเชิงพาณิชย์
ดร. สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) สวทช. กล่าวว่า อีกไฮไลต์ที่ได้รับความนิยมจากผู้เข้าร่วมงาน NAC ทุกๆ ปี คือ หัวข้อสัมมนาที่เข้ากับยุคสมัย ปัญหาโลกร้อน โลกรวน และเทรนด์งานวิจัยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น งาน NAC ปีนี้ มีหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจหลายหัวข้อที่นอกจากวิทยากรทั้งจากนักวิจัยจาก 5 ศูนย์แห่งชาติแล้ว ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรจากหน่วยงานพันธมิตรของ สวทช. ทั้งในและต่างประเทศ ที่ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ตรงที่จะมาร่วมแชร์ข้อมูล มากกว่า 40 หัวข้อ เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์จากการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม อาทิ
ด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มาตรการรองรับ CBAM ของอุตสาหกรรมไทยพร้อมมุ่งสู่การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน, โลกเปลี่ยน คนปรับ : พัฒนาคุณภาพน้ำชุมชนเพื่อคุณภาพชีวิต ด้วย วทน. และ ฝุ่น! : ปัญหาและการรับมือ หรือด้านสุขภาพการแพทย์ ได้แก่ เทคโนโลยี Digital Health เพื่อการยกระดับการให้บริการสาธารณสุข, จีโนมิกส์ประเทศไทย: การแพทย์จีโนมิกส์เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย Pharma NETwork ผสานพลังเพื่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยาไทย ทั้งนี้ ยังมีด้านสุขภาพและความงาม เช่น นวัตกรรมการผลิตสารสกัดสมุนไพรมูลค่าสูง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและความงาม เป็นต้น
สวทช. ขอเชิญทุกคนเตรียมพบกองทัพนวัตกรรม งานวิจัย และองค์ความรู้ด้าน วทน. มากมายที่รออยู่ในงานจัดการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 19 หรือ งาน NAC2024 วันที่ 28-30 มีนาคม 2567 เวลา 09.00-16.30 น. ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (ยกเว้นวันที่29 มีนาคม 2567 เปิดให้เข้าชม เวลา 13.00-16.30 น.) ผู้สนใจลงทะเบียนร่วมงานได้ฟรีที่ https://www.nstda.or.th/nac สอบถามเพิ่มเติมโทรศัพท์ 0 2564 8000