ชีวิตดีสังคมดี

สยบปล่อยร้าง 'คลองโอ่งอ่าง' เร่งฟื้นฟูอนาคตเดินเชื่อมฝั่งธนฯจรดข้าวสาร

สยบปล่อยร้าง 'คลองโอ่งอ่าง' เร่งฟื้นฟูอนาคตเดินเชื่อมฝั่งธนฯจรดข้าวสาร

12 มี.ค. 2567

สยบปล่อย 'คลองโอ่งอ่าง' ทิ้งร้างดับฝันเวนิสตะวันออก เปิดแผนฟื้นฟูอนาคตพัฒนาให้เดินเชื่อมได้ตั้งแต่ฝั่งธนบุรีจรดถนนข้าวสาร

"คลองโอ่งอ่าง" อีกหนึ่งคลองในกรุงเทพมหานครที่ถูกปรับปรุงภูมิทัศน์ให้กลายเป็น  Landmark ของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2558  ในช่วงเวลานั้นกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ตั้งเป้าว่าจะปั้น "คลองโอ่งอ่าง" กลายเป็นเวนิสตะวันออก แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไปนานเกือบ 10 ปีคลองโอ่งอ่าง ที่เคยมีการเนรมิตรใหม่ภายใต้งบประมาณ  325 ในปี 2558 กลับเป็นคลองร้างที่ถูกปล่อยให้มีการนำเอารถเข้ามาจอด สองฝั่งคลองกลายเป็นที่ตั้งของแผงค้า 

 

 

คลองโอ่งอ่าง

 

 

โดยดราม่าการปล่อย "คลองโอ่งอ่าง" ร้าง เริ่มต้นจากที่เพจ 'ฟุตบาทไทยสไตล์' ได้แชร์ภาพรถยนต์หลายคัน จอดบนทางเดินริมคลองโอ่งอ่าง พร้อมกับวิจารณ์ว่า พื้นเพิ่งปูใหม่ไม่ถึง 5 เดือน กลายเป็นที่จอดรถไปแล้ว กทม. ปล่อยให้ "คลองโอ่งอ่าง" หมดคุณค่า Landmark ของกรุงเทพฯ ทำให้ กทม.ต้องออกมาชี้แจงถึงแผนการพัฒนาคลองโอ่งอ่าง และแนวทางการเร่งพัฒนาให้กลับมาเป็นจุด Landmark ของกรุงเทพฯ อีกครั้ง 

 

 

คลองโอ่งอ่าง

ก่อนจะเข้าสู่แผนขับเคลื่อนพัฒนา "คลองโอ่งอ่าง" ย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 กทม.ในยุค พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กทม.ได้แก้ปัญหาการรุกล้ำตามแนวทางของประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 11 มกราคม 2502 โดยแจ้งให้ทุกแผงค้ารื้อย้ายแผงค้าภายใน 15 วัน  โดยเป็นการปฏิวัติพัฒนาริมคลองครั้งใหญ่นับตั้งแต่ปี 2526 ที่กทม.ได้เปิดสัมปทานให้เอกเข้ามาการค้านานกว่า 10 ปี และเริ่มมีการทำรั้วเหล็กปิดทับคลองโอ่งอ่าง และเรียกบริเวณนั้นว่า ตลาดสะพานเหล็ก แม้ว่าจะหมดระยะเวลาการให้สัมปทานแต่ก็ไม่ได้มีการคืนพื้นที่แต่อย่างใด 

 

คลองโอ่งอ่าง

 

 

 

แต่ในช่วง คสช. เข้ามาบริหารประเทศการพัฒนา "คลองโอ่งอ่าง" เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว และในทุกๆ ปี คลองโอ่งอ่างจะถูกเนรมิตรให้กลายเป็นสถานที่จัดงานประจำปี โดยเฉพาะประเพณีลอยกระทง แต่ในช่วงโควิด-19 ระบาด  "คลองโอ่งอ่าง" กลับถูกปล่อยทิ้งร้างอีกครั้งคลอที่เคยเชื่อว่าจะกลายเป็นเวนิสตละวันออก กลับเป็นได้เพียงแค่ที่จอดรถและจุดวางแผงค้าเท่านั้น 

 

 

คลองโอ่งอ่าง

 

 

เพื่อสยบดราม่าปล่อย "คลองโอ่งอ่าง" ทิ้งร้าง กทม. ได้เปิดแผนขับเคลื่อนพัฒนาฟื้นฟูถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง ได้มีมาตรการในการส่งเสริมฟื้นฟูการท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยวางแผนไว้ 3 ระยะ คือ

ระยะสั้น : ภายใน 2 เดือน เริ่มต้นเปิดตัวดึงอัตลักษณ์ของสะพานเหล็กในการจัดเทศกาลและกิจกรรม ในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้

ระยะกลาง : ภายใน 4 เดือน ใช้การประเมินและปรับรูปแบบกิจกรรมหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมระยะสั้น พร้อมประชุมร่วมกับแกนนำและผู้ค้าถึงแนวทางการต่อยอดถนนคนเดินให้ยั่งยืน เช่น การทดลองจัดกิจกรรมสั้นๆ ช่วงสุดสัปดาห์ โดยให้แกนนำขับเคลื่อนทั้งหมด และสำนักงานเขตเป็นที่ปรึกษา 

ระยะยาว : ภายใน 6-8 เดือน ทดลองเปิดโอกาสให้แกนนำบริหารจัดการด้วยตนเอง เมื่อครบ 8 เดือน จะประเมินครั้งสุดท้าย ก่อนถอดบทเรียน และขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไป 

 

คลองโอ่งอ่าง

 

ที่ผ่านมาได้กำชับผู้รับเหมาแล้ว รวมถึงสำนักการโยธาจะรับช่วงต่อในการปรับปรุงทางเดินเท้าให้สวยงาม ซึ่งงานส่วนต่อขยายเฟสนี้จะทำให้คลองโอ่งอ่างเดิมเดินเชื่อมไปยังคลองบางลำพูทางทิศเหนือได้ เชื่อมย่านสะพานหัน พาหุรัด ไปถึงสามยอด ประตูผี บางลำพูเข้าด้วยกัน เป็นเส้นทางที่จะทำให้สามารถเดินเชื่อมย่านกันได้ต่อเนื่อง เกิดเป็นย่านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว นอกจากนี้ หากเสร็จสิ้นสมบูรณ์ทั้งหมด เส้นทางคลองโอ่งอ่างจะเป็นเส้นทางเดินเชื่อมมาจากฝั่งธนบุรี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และไปจบที่ถนนข้าวสารได้

 

 

คลองโอ่งอ่าง

 

ส่วนของสำนักการระบายน้ำ ได้มีการพัฒนาคลองรอบกรุงหรือ "คลองโอ่งอ่าง" โดยการก่อสร้างเขื่อนและปรับภูมิทัศน์ริมคลอง พร้อมก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียคลองโอ่งอ่าง ช่วงที่ 1 จากบริเวณสะพานดำรงสถิต บริเวณถนนเจริญกรุงถึงแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งใต้บริเวณสะพานพระปกฯ ความยาวคลองประมาณ 750 เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2562  และก่อสร้างเขื่อนค.ส.ล. พร้อมทางเดินคลองโอ่งอ่าง ช่วงที่ 2 จากสะพานผ่านฟ้าลีลาศถึงสะพานดำรงสถิตบริเวณถนนเจริญกรุง ความยาวคลองประมาณ 1,000 เมตร ได้รับงบประมาณกทม.ปี 2563 ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จประมาณเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2567  

 

คลองโอ่งอ่าง

 

สำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองรอบกรุงหรือ คลองโอ่งอ่าง สำนักการระบายน้ำกำลังดำเนินการถ่ายเทและหมุนเวียนน้ำในคลองที่น้ำเริ่มเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น ขณะเดียวกันก็มีการจัดเจ้าหน้าที่เข้าจัดเก็บขยะและวัชพืชภายในคลองอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งตรวจสอบท่อระบายน้ำและท่อรวบรวมน้ำเสีย และดำเนินการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำเพื่อให้น้ำระบายน้ำได้สะดวกอยู่เสมอ