ชีวิตดีสังคมดี

ย้อนเส้นทาง 7 ปี "เรือคลองผดุงกรุงเกษม" ก่อนโดนพับเก็บ ไม่คุ้มค่า คนใช้น้อย

ย้อนเส้นทาง 7 ปี "เรือคลองผดุงกรุงเกษม" ก่อนโดนพับเก็บ ไม่คุ้มค่า คนใช้น้อย

05 ม.ค. 2566

ย้อนเส้นทาง 7 ปี "เรือคลองผดุงกรุงเกษม" ก่อนส่อแววโดนพับเก็บ เลิกวิ่งถาวร เพราะไม่คุ้มค่า คนใช้น้อย เปลืองภาษีประชาชน

"เรือคลองผดุงกรุงเกษม" และ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กลายเป็นชื่อที่ถูกพูดถึงอีกครั้ง  หลังจากที่วันที่ 3 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา นายชัชชาติ ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหาร กทม. ครั้งที่ 1/2566 เกี่ยวกับประเด็นการเดินเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle EV)ใน "คลองผดุงกรุงเกษม"  เพราะคิดคำนวณดูแล้วจะไม่คุ้มค่าแก่การทุ่มงบ เพราะคนใช้บริการน้อยมาก  

 

 

สำหรับ "เรือคลองผดุงกรุงเกษม" เกิดจากความคาดหวังของรัฐบาลสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ที่ต้องการปั้น คลองผดุงกรุงเกษม ให้กลายเป็น เวนิสตะวันออก  จึงได้มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุง พัฒนาริมฝั่ง คลองผดุงกรุงเกษม ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหลังจากที่ต้องการเป็นแค่คลองระบายน้ำมาแสนนาน 

  • ฟื้น "คลองผดุงกรุงเกษม" จากคล้องร้างสู่ เวนิสตะวันออก   

 

ในช่วงปี 2558 หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในปีที่ 2 หลังเกิดการรัฐประหารในปี 2557 ได้มีการสั่งการให้พัฒนา คลองผดุงกรุงเกษม และคลองอื่น ๆ  ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมกับให้พัฒนาระบบคมนาคมให้เกิดความเชื่อมโยงในการเดินทาง ทั้งระบบล้อ ราง เรือ แบบไร้รอยต่อ เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด รวมไปถึงการพัฒนาปรับภูมิทัศน์พื้นที่ริมคลอง ภายในเวลาไม่นานตลอดสองฝั่ง คลองผดุงกรุงเกษม ก็ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง  

  • จุดเริ่มต้น "เรือคลองผดุงกรุงเกษม" สนองนโยบายเชื่อมโยงคมนาคม ล้อ ราง เรือ  

 

หลังจากที่สองฝั่งคลองกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เพียงไม่นานกรุงเทพมหานครในยุค พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมาหนครในขณะนั้น ได้เริ่มทดลองเดินเรือใน คลองผดุงกรุงเกษม ครั้งแรกเมื่อปี 2559 โดยเริ่มจากท่าเรือหัวลำโพง ไปจนถึงท่าเรือเทเวศน์ ในช่วงแรกมีการนำเรือโดยสารไฟฟ้าจำนวน 12 ที่นั่งมาให้บริการจำนวน 4 ลำ ก่อนจะเพิ่มเป็น 7 ลำ

 

ภาพประกอบจากกรุงเทพธนาคม

 

  • ส่อแววพับโครงการ "เรือคลองผดุงกรุงเกษม" สิ้นเปลือง คนใช้งานน้อย  

 

หลังจากที่ "เรือคลองผดุงกรุงเกษม" เปิดให้บริการมานานกว่า 7 ปี อาจจะถึงคราวต้องพับโครงการถาวร หลังจากที่เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 ที่ผ่าน นายชัชชาติ ระบุว่า  อาจจะต้องมีการพิจารณาว่าจะทำโครงการต่อหรือไม่ หรือ หากทำต่อจะมีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด เพราะที่ผ่านมาการเดิน "เรือคลองผดุงกรุงเกษม" มีประชาชนใช้งานน้อยมาก 14,000 คนต่อเดือน แต่กทม. ยังต้องจ่ายค่าเดินเรือประมาณ 2.4 ล้านบาทต่อเดือน เฉลี่ยค่าโดยสารอยู่ประมาณ 171 บาทต่อคน หากจะทำต่อจะต้องศึกษาความคุ้มทุน เพราะเงินที่นำมาจ่ายนั้นเป็นเงินภาษีของประชาชน ซึ่งหากยกเลิกไปจะอาจจะนำเงินไปบริหารจัดการส่วนอื่นทดแทน  เช่น Shuttle Bus หรือทำเรื่องท่องเที่ยว จะต้องมีการหารือแนวทางต่อไป 

 

ภาพประกอบจากกรุงเทพธนาคม


สำหรับเส้นทางเดินเรือโดยสาร คลองผดุงกรุงเกษม ปัจจุบัน ครอบคลุม 4 พื้นที่เขต ได้แก่ เขตพระนคร เขตดุสิต เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตปทุมวัน ประกอบด้วยท่าเรือ 11 ท่า ได้แก่ 1. ท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง 2. ท่าเรือหัวลำโพง 3. ท่าเรือนพวงศ์ 4. ท่าเรือยศเส 5. ท่าเรือกระทรวงพลังงาน 6. ท่าเรือแยกหลานหลวง 7. ท่าเรือนครสวรรค์ 8. ท่าเรือราชดำเนินนอก 9. ท่าเรือประชาธิปไตย 10. ท่าเรือเทเวศร์ และ 11. ท่าเรือตลาดเทวราช