สรุป 'GDP' ไทยไตรมาส4 โต 1.4% ปี 2565 ขยายตัว 2.6% ร่วงจากที่คาดการณ์ไว้
สรุป 'GDP' ไตรมาส4 เศรษฐกิจไทยโต 1.4% ตลอดปี 2565 ขยายตัว 2.6% ร่วงจากที่คาดการณ์ไว้ ตั้งเป้าปี 2566 ขยายตัว 3.2 %
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 และ ทั้งปี 2565 และแนวโน้มปี 2566 โดยภาพรวม "GDP" ตลอดทั้งปี 2565 เป็นดังนี้ เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 1.4 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ลดลงจากไตรมาสที่ 3 2565 ร้อยละ 1.5 รวมทั้งปี 2565 เศรษฐกิจไทย ขยายตัวร้อยละ 2.6 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 1.5 แต่พบว่าตัวเลขต่ำลงจากการคาดการณ์เอาไว้ในช่วงต้นปี 2565
สำหรับภาพรวมที่ทำให้ "GDP" ในปี 2565 เร่งตัวดีขึ้นจากปี 2564 ซึ่งมีผลมาจากภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มมีการฟื้นตัวมากยิ่งขึ้นหลังจากการระบาดของโควิด-19 การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐและเอกชนมีการขยายตัวเพิ่มมากกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา กว่าร้อยละ 6.3 และร้อยละ 5.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.6 และร้อยละ 3.0 ในปี 2564
ด้านการส่งออกบริการ กลับมาขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 65.7 ขณะที่การส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 1.3 ชะลอตัวส่วนการลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 4.9
ด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารกลับมาขยายตัวร้อยละ 39.3 สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 สาขาการขายส่งและการขายปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1
สาขาเกษตรกรรมการป่าไม้ และการประมงขยายตัวร้อยละ 2.5 ขณะที่สาขาการผลิตสินค้ำอุตสาหกรรมตัวร้อยละ 0.4 ชะลอลงจากปี 2564 สาขาการก่อสร้างลดลงร้อยละ 2.7 รวมทั้งปี 2565
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ "GDP" อยู่ที่ 17.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 16.2 ล้านล้านบาท ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ต่อหัวของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 248,635.3 บามต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นจา 231,986.1 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2564 สำหรับเสถียรภาพทาง เศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 6.1
เป็นที่น่าจับตากันต่อไปสำหรับการคาดการณ์เศรษฐไทยในปี 2566 โดยนายดนุชา กล่าวต่อว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่า "GDP" จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 –3.7 (ค่ากลางของการประมาณอยู่ที่ร้อยละ 3.2) ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญมาจาก 1.การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว 2.ขยำยตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ 3.การขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน 4.การขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคการเกษตร โดยคาดว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 3.2 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 2.1 และร้อยละ 2.7 และมูลค่าการส่งออกสินค้าจะลดลงร้อยละ 1.6 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 –3.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.5 ของ "GDP"
แนวทางการบริหารต่อจากนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในการบริหารจัดการ นโยบายเศรษฐกิจ โดยในปี 2566 จะต้องให้ความสำคัญกับ 8 เรื่องต่อไปนี้
1.การดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย ทั้งหนี้สินในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)
2.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตร
ที่จะออกสู่ตลาด
3. การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าโดยการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เนื่องจากการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดี
4. การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว เตรียมความพร้อมให้ ภาคการท่องเที่ยวรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
5.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2563 - 2565 ให้เกิดการลงทุนจริง
6.ขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐควบคู่ไปกับการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังเพื่อรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนในระยะปานกลางและเพิ่มศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
7.การติดตาม เฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก
8.การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ